วันนี้ (9 กรกฎาคม 2568) แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพิมล วงศ์ศิริเดช เลขาธิการ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย คุณชนนวัฒน์ กปิลกาญจน์ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัย และป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก และ คุณทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมแถลงข่าวการปกป้องเด็กจาก "ของเล่นอันตราย" โดยมี ผู้บริหารและบุคลากรกรมอนามัย ร่วมงาน ณ อาคาร 8 ชั้น 2 DOH DATA CENTER กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีพบของเล่นเรียกว่า ตุ๊กตาโมนิ หรือของเล่นกดสิว มีลักษณะเป็นตุ๊กตายางรูปสัตว์ พร้อมกับกระบอกและเข็มฉีดยาของจริงที่ใช้ในทางการแพทย์ โดยใช้ฉีดลมหรือน้ำเข้าไปในตัวตุ๊กตา ทำให้เกิดเป็นตุ่มพองยื่นออกมาและกดบีบให้แตก ซึ่งที่ผ่านมามีวางจำหน่ายอย่างแพร่หลายทั้งในแหล่งร้านค้าขายส่ง และแพลตฟอร์มออนไลน์ นั้น กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมพัฒนาการเด็กสมวัย ผ่านการเล่นที่เหมาะสม และปลอดภัย ซึ่งของเล่นดังกล่าวจึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อเด็ก เพราะเข็มมีความแหลมคม ทำให้เกิดการบาดเจ็บ หากเป็นเข็มที่ใช้แล้ว อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ นอกจากนี้ การเล่นของเล่นที่เลียนแบบอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาจทำให้เด็กเข้าใจผิดและนำอุปกรณ์จริงมาเล่น ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เพื่อปกป้องเด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติ และกระตุ้นให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญในการเลือกของเล่นที่ปลอดภัย กรมอนามัยจึงแจ้งเตือนประชาชนถึงอันตราย และแนะนำให้ผู้ปกครอง รวมถึงบุคลากรในสถานศึกษาดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยขอให้ครอบครัว โรงเรียน และชุมชนส่งเสริมการเล่นที่เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการของเด็กอย่างปลอดภัย ภายใต้ 2 ข้อแนะนำ ดังนี้ 1) ความปลอดภัย ของเล่นสำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี ต้องมีขนาดใหญ่กว่า 3.2 เซ็นติเมตร หรือ ยาวกว่า 6 เซ็นติเมตร เพื่อป้องกันเด็กนำของเล่นเข้าปาก กลืนติดคอ หรือ ปิดกั้นทางเดินหายใจ ระวังเชือก สายรัด ที่อาจเป็นอันตราย สำหรับวัสดุที่ผลิตต้องปลอดภัย ไม่มีสารพิษ หรือ สีที่เป็นอันตราย ที่สำคัญ ต้องได้รับรองมาตรฐานการผลิตว่าปลอดภัยสำหรับเด็ก และ 2) ประโยชน์ที่เด็กควรได้รับ การเล่นผ่านของเล่นทุกชนิดจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการตามวัย เช่น เด็กอายุ 9 - 18 เดือน ควรเลือกอุปกรณ์ที่มีสี เสียง เพื่อส่งเสริมพัฒนาการการรับรู้ ของเล่นควรทำจากพลาสติก ผ้า ลูกบอล ยาง ตุ๊กตา หมอน หรือหนังสือเด็ก เด็กอายุ 2 ปี ขึ้นไป เป็นหนังสือนิทาน ที่มีรูปภาพ และคำอธิบายสั้น ๆ หรือของเล่นที่มีรูปทรงต่างๆ อายุ 5 ปี ขึ้นไป เด็กจะเริ่มจับดินสอ เพื่อวาดรูป ให้เพิ่มเติมกระดาษ สมุดวาดเขียน หรือแผ่นพยัญชนะ ซึ่งการเล่นที่ปลอดภัยควรมีพ่อ แม่ ผู้ปกครอง หรือคุณครูดูแลอย่างใกล้ชิด
"กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมกับราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัย และป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้ เพื่อสร้างเกราะป้องกันให้เด็กไทยจากสิ่งที่เป็นอันตราย โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สังคมไทยจะมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ ช่วยให้เด็กไทยเล่นอย่างปลอดภัยสร้างเด็กไทยมีพัฒนาการสมวัย เติบโตอย่างมีคุณภาพต่อไป" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว