'วิสูตร์ ยังพลขันธ์' ชูสัมมาชีพ แก้ภัยแล้ง ด้วย "ธนาคารน้ำใต้ดิน"

08 Mar 2023
จากความคิดแรก ไม่อยากเข้าอบรมหลักสูตร ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (Leadership for Change - LFC) แต่เมื่อได้มาทำความรู้จักกับหลักสูตร ทำให้วิสูตร์เปลี่ยนความคิดเขาได้เปิดโลกทัศน์ตัวเองสู่งานพัฒนา สร้างเครือข่ายร่วมพัฒนาชุมชน จนเกิดเป็นโครงการ "ธนาคารน้ำใต้ดิน" แก้ภัยแล้งในหลายพื้นที่ บนแนวทางสัมมาชีพ"วิสูตร์ ยังพลขันธ์" กรรมการสมาคมพลังงานทดแทนสู่ชุมชนแห่งประเทศไทย คือหนึ่งในผู้นำ - นำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นผลผลิตจากการอบรมหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (LFC) รุ่นที่ 8 หลักสูตรที่จัดโดยมูลนิธิสัมมาชีพเพื่อบ่มเพาะผู้นำการเปลี่ยนแปลงในสังคม และไปสร้างงาน ปฏิบัติการในพื้นที่ต่างๆ อดีตพนักงานกิจการเพื่อสังคม บมจ.ปตท. ผู้นี้เล่าว่า ช่วงแรกเขาไม่อยากเข้าร่วมอบรม แต่เมื่อได้เข้ามาอบรมหลักสูตรนี้จริงจังแล้ว ความคิดจึงเปลี่ยนไป "ตอนนั้นผมมองว่าเสียเวลาการทำงาน แต่พอผมลองปรับทัศนคติ มองว่าต้องได้ประโยชน์จากการอบรมหลักสูตรนี้ ประกอบกับได้มารู้จักคำว่า สัมมาชีพ รู้สึกคลิกกับความคิดตัวเองในแนวทางพัฒนาสังคม ที่ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนทั่วไป แม้แต่ธรรมชาติก็ต้องคำนึงถึงที่สำคัญต้องยึดตามความต้องการของคนในพื้นที่ พัฒนาตามศักยภาพพื้นที่ จึงจะเกิดความร่วมมือ ทำให้การแก้ปัญหาสำเร็จได้ ไม่ใช่เข้าไปช่วย แต่ชาวบ้านอยากได้หรือไม่ก็ไม่รู้ ถ้าเป็นแบบนี้จะเกิดความสูญเสีย"แนวทางที่ได้รับจากการอบรม ประกอบกับเครือข่ายเพื่อนๆ ที่เรียนในหลักสูตรเดียวกัน ทำให้วิสูตร์เป็นหัวขบวนงานพัฒนา นำความเชี่ยวชาญของตนเองและเครือข่ายมาร่วมกันผลักดันโครงการ "ธนาคารน้ำใต้ดิน" เก็บน้ำไว้ในดินเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในดิน แก้ปัญหาภัยแล้ง โดยเลือกทำในพื้นที่แห้งแล้งแห่งแรกคือ บ้านกระทม ต.นาบัว อ.เมือง จ.สุรินทร์โครงการธนาคารน้ำใต้ดินแก้ปัญหาภัยแล้งของเขา ใช้วิธีนำน้ำอาบ น้ำใช้ น้ำทิ้งที่มีกลิ่นเน่าเหม็น อัดลงดินแทนปล่อยทิ้ง โดยขุดหลุมลึกปากกว้าง จากนั้นนำเศษวัสดุ เช่น หิน ใส่ลงไปในหลุมที่ขุดไว้ เพื่อใช้เป็นตัวกรองน้ำทิ้งให้กลับมาสะอาดอีกครั้ง เมื่อน้ำทิ้งผ่านลงดินจะแผ่ความชื้นไปในดินโดยรอบ ทำให้ต้นไม้รอบข้างได้รับน้ำโดยไม่จำเป็นต้องรดน้ำ ทั้งไม่ทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย ไม่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงผลความเปลี่ยนแปลงก็คือ ผืนดินกลับมาปลูกพืชได้ดี และจากความสำเร็จดังกล่าวทำให้เขาและเครือข่ายนำโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ขยายผลไปยังหลายหมู่บ้าน และตำบลใกล้เคียงวิสูตร์บอกว่า ขณะนี้คนที่บ้านกระทมกว่า 200 หลังคาเรือน ทำธนาคารน้ำใต้ดินได้เอง แก้ปัญหาภัยแล้งได้เองแล้ว"เดิมที่นี่ช่วงเดือน ก.พ.-พ.ค. จะขาดแคลนน้ำใช้ เพราะน้ำแห้ง ขณะที่ช่วงที่มีน้ำก็ไม่เก็บน้ำ ไล่น้ำออกจากบ้าน ไม่ให้น้ำท่วมขัง ทำให้มีน้ำเติมน้ำลงในดินน้อย เหมือนคนมีเงินแล้วใช้เงินให้หมดในคืนเดียว วันรุ่งขึ้นก็ไม่เหลือเงินแล้ว เครือข่ายของพวกเราก็มาช่วยกันทำโครงการนี้"เมื่อดินชุ่มชื้น เพาะปลูกได้ คนที่ไปหากินต่างเมือง ต่างพื้นที่ ก็เริ่มกลับมาทำอาชีพที่บ้านตัวเอง มีคนมาท่องเที่ยว ช่วยสร้างอาชีพ (สัมมาชีพ) นี่คือการบูรณาการแก้ไขปัญหาสังคมแบบองค์รวม"ในชนบทพอลูกเรียนจบสูง พ่อแม่จะให้ลูกออกจากบ้าน เพราะที่บ้านไม่มีงาน ลูกคนไหนอยากกลับคืนถิ่นมาอยู่กับพ่อแม่ พ่อแม่ก็จะถูกกดดันจากเพื่อนบ้านว่า ลูกเรียนจบสูงแต่ไม่มีงานทำ ถึงต้องกลับมาอยู่บ้าน พ่อแม่ก็รับไม่ได้ ต้องไล่ลูกออกจากบ้าน หรือเวลาลูกไปทำงานที่อื่น ก็ต้องเอาลูกตัวเองมาให้กับพ่อแม่ดูแล สร้างปัญหาสังคม เป็นความเบียดเบียน ไม่ใช่สัมมาชีพ"
'วิสูตร์ ยังพลขันธ์' ชูสัมมาชีพ แก้ภัยแล้ง ด้วย "ธนาคารน้ำใต้ดิน"

ปัจจุบันชีวิตในวัยเกษียณของวิสูตร์ เขานำเงินที่ได้รับจากเกษียณมาซื้อที่ดิน 30-40 ไร่ ที่อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่แล้ง นอกจากปลูกป่าแล้ว เขายังทำเสมือน "โครงการต้นแบบ" ธนาคารน้ำใต้ดิน หวังพลิกฟื้นผืนดินที่นี่ให้กลับมาชุ่มชื้นจรรโลงใจเจ้าของที่ดินและผู้มาเยือน"ผมเอาเงินทิ้งลงดิน ไม่เฝ้าสมบัติ เอาเงินฝังดินให้ต้นไม้โต จะได้เก็บกักคาร์บอนปล่อยออกซิเจน มีป่าและน้ำอยู่ด้วยกัน ปลูกป่าที่บ้านนี่แหละ ถ้าเราไปปลูกป่าที่อื่น ปลูกเสร็จก็กลับ ไม่รู้ว่าต้นไม้ที่ปลูกตายหรือไม่ แบบนี้ไม่มีประโยชน์ การทำสัมมาชีพไม่ต้องทำอะไรไกลตัว ดูแลสิ่งที่ทำให้ดีและทำให้เป็นประโยชน์ ทำตัวเองให้ดี เป็นแบบอย่างก่อน ถึงจะสื่อสารกระตุกวิธีคิดให้คนอื่นเชื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงได้"...แค่คุณกวาดบ้านคุณให้สะอาด แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง ทุกวันนี้เราไม่กวาดบ้านตัวเอง รีบไปกวาดบ้านคนอื่น พอลมพัดก็พัดฝุ่นจากบ้านเราไปข้างนอก เป็นปัญหาสังคมไม่จบสิ้น เขาเปรียบเปรยวิสูตร์ยังให้ความหมายของผู้นำ- นำการเปลี่ยนแปลง ในมุมมองของเขา คือ ผู้นำต้องมีทัศนคติที่ดี มีวิสัยทัศน์ที่ดี ผู้นำความเปลี่ยนแปลงมักเผชิญความเจ็บปวด โดดเดี่ยว ต้องอดทนกับความยากลำบาก อดทนกับความไม่เห็นด้วยของผู้คนที่ต้องใช้เวลาเปลี่ยนวิธีคิด เพราะความสำเร็จอาจไม่เกิดในชั่วอายุตัวเอง อาจเห็นผลในระยะยาว "ตัวอย่างเช่นการปลูกป่า เราอาจจะไม่ได้ผลประโยชน์จากมันเต็มที่ ในช่วงที่เรายังมีชีวิตอยู่ แต่ผลพวกนี้จะมีกับคนรุ่นต่อไป ผู้นำสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่าหวังว่าจะได้กับตัวคุณเอง แต่ให้ทำเพื่อทุกคน เหมือนกับกาลิเลโอ ที่ออกมาบอกว่าโลกกลม ย้อนแย้งกับความเชื่อของคนยุคนั้น จนถูกจองจำ หาว่าเป็นพ่อมด หมอผี แต่เขาก็ไม่เปลี่ยนความคิดที่จริงนั้น หรืออย่างโทมัส อัลวา เอดิสัน ประดิษฐ์หลอดไฟ ทำเป็นหมื่นครั้งกว่าจะสำเร็จ แต่ไม่ล้มเลิก"นี่คือ อีกหนึ่งผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง ที่นำความรู้จากหลักสูตร Leadership for Change ไปประสานกับการสร้างเครือข่าย จากการอบรมหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง จนต่อยอดแก้ปัญหาชุมชนได้สำเร็จประโยชน์ที่ได้รับจากการอบรมหลักสูตรนี้ ยังทำให้เขาบอกต่อลูกชายให้มาอบรมในรุ่นที่ 11"ผมมองว่าอบรมแล้วผมได้ประโยชน์ มีทัศนคติที่ดี มีความมั่นใจ มองเป็นโอกาสที่ได้รับ"ติดตามข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพได้ที่https://www.right-livelihoods.org/https://www.facebook.com/sammachiv

'วิสูตร์ ยังพลขันธ์' ชูสัมมาชีพ แก้ภัยแล้ง ด้วย "ธนาคารน้ำใต้ดิน"