"หมอทางใจ" กับ "น.พ.ธรณินทร์" แนะปฏิบัติตัวเมื่อสูญเสีย หากรู้สึกแย่มาก 2 สัปดาห์ รีบปรึกษาจิตแพทย์

18 Oct 2017

หลายๆ คนคงต้องยอมรับถึงความสามารถ "ในการบุกเบิกการรักษาอย่างเป็นระบบของโรคซึมเศร้า" และเป็นแพทย์ที่มุ่งมั่นพัฒนางานเพื่อคนไข้จริงๆ ดั่งจะเห็นได้จากบทกลอนในหนังสือต่างๆ ที่ผู้ร่วมทำงานกับคุณหมอประทับใจ

"หมอทางใจ" กับ "น.พ.ธรณินทร์" แนะปฏิบัติตัวเมื่อสูญเสีย หากรู้สึกแย่มาก 2 สัปดาห์ รีบปรึกษาจิตแพทย์

สำหรับคอลัมน์ "หมอทางใจ" กับ "นายแพทย์ธรณินทร์ กองสุข" ซึ่ง เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com ได้รับเกียรติมากๆ เพราะอดีตได้ติดตามอ่านตำราของคุณหมอมานาน ต่อจากนี้ "คนป่วยทางใจ" ทุกข์ทางใจ จะมีที่พึ่งทางสื่อออนไลน์แล้ว

ความเศร้าโศกจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ในห้วงเวลานี้เป็นเวลาที่ประชาชนชาวไทยอยู่ในภาวะของการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ส่งผลกระทบต่อจิตใจของคนไทยทุกคน

ในโอกาสนี้ผมจะขอกล่าวถึง ปฏิกิริยาของจิตใจที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียบุคคลที่รักและแนวทางดูแลร่างกายจิตใจ เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถปรับตัวจนผ่านพ้นช่วงแห่งการสูญเสียนี้ไปด้วยดี

การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นกฎธรรมชาติที่มนุษย์ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นการสูญเสียและการพลัดพรากจากบุคคลที่รักจึงเป็นเหตุการณ์ที่ทุกคนต้องประสบในชีวิต

คำว่า "บุคคลที่รัก" กินความหมายกว้างกว่า แฟน สามี ภรรยา หรือคู่รัก จะหมายรวมถึง บุคคลที่เรามีจิตผูกพันด้วย เช่น พ่อ แม่ ญาติ พี่น้อง ครู อาจารย์ บุคคลที่เราเคารพนับถือ เมื่อเราสูญเสียบุคคลที่รัก

โดยเฉพาะการตายจากไป ปฏิกิริยาทางจิตใจที่เกิดขึ้น คือ ความเศร้าโศก เป็นปฏิกิริยาตอบสนองปกติของจิตใจต่อความทุกข์อันเนื่องมาจาก บุคคลที่รักตายจากไป ซึ่งพอจะแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ระยะแรกทันทีที่รับรู้การจากไปจะเกิดความรู้สึก ตกตะลึง มึนชา ไม่เชื่อ หรือปฏิเสธ

ระยะนี้ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง หรือ อาจถึง 2-3สัปดาห์ ระยะที่2 เป็นระยะเริ่มมีสติรับรู้ถึงการสูญเสีย การแสดงออกที่เด่นชัดคือ การร้องไห้ คร่ำครวญ ถึงผู้ที่เสียชีวิต หรืออาจโกรธ หงุดหงิดง่าย และอาจมีปฏิกิริยาทางกายร่วมด้วย เช่น หายใจไม่อิ่ม แน่นหน้าอก จุกแน่นในคอ อ่อนล้าเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ฝันถึงผู้ที่จากไป ความคิดความสามารถในการทำงานลดลง ไม่มีสมาธิ

ส่วนใหญ่ระยะนี้จะใช้เวลา 2-3สัปดาห์ และค่อยๆดีขึ้นเอง มักจะไม่นานเกิน 6 เดือน ระยะที่3 เป็นระยะปรับตัวฟื้นคืนสู่สภาวะปกติ จะยอมรับความจริงว่าบุคคลที่รักนั้นได้จากไปแล้วจริงๆ

การหมกหมุ่น คิดถึงก็จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ มีความหวังและมองหาสิ่งใหม่ๆให้ชีวิต จากการศึกษาวิจัยจะพบว่าผู้ที่เศร้าโศกจากการสูญเสียร้อยละ90-95 ฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติเมื่อเวลาผ่านไป มีเพียงร้อยละ 5-10 เกิดเป็นความเศร้าโศกที่ผิดปกติ ไม่สามารถปรับตัวฟื้นคืนสู่ภาวะปกติได้

ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแนะนำปรึกษาและการดูแลรักษาจากผู้เชียวชาญ ได้แก่ ผู้ที่มีความเศร้าโศกเรื้อรังยาวนานอยู่เป็นเวลาหลายปี ผู้ที่มีความเศร้าโศกมากเกินไป รุนแรงจนเสียหน้าที่ในด้านต่างๆ อย่างชัดเจน และผู้ที่เก็บกดปฏิเสธความจริงไม่แสดงปฏิกิริยาเศร้าโศกออกมาในครั้งนั้นแต่จะเกิดเศร้าโศกรุนแรงในอนาคตหากประสบเหตุการณ์สูญเสีย ซึ่งผู้ที่มีความเศร้าโศกที่ผิดปกตินี้อาจนำไปสู่การป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือมีความคิดฆ่าตัวตายได้ไม่สามารถบอกได้ว่าความเศร้าโศกจากการสูญเสียบุคคลที่รักในคนปกติทั่วไปจะมีระยะเวลาเท่าไรบางคนอาจจะดีขึ้นในสัปดาห์ บางคนอาจใช้เวลาหลายเดือนหรือเป็นปี

ซึ่งความรุนแรงและระยะเวลาของความเศร้าโศกของแต่ละคน รวมถึงความสามารถในการฟื้นตัวจากความเศร้าโศก ขึ้นอยู่กับ

1).ลักษณะเหตุการณ์ที่สูญเสีย ถ้าเป็นการสูญเสียที่ไม่ได้คาดหมายความเศร้าโศกมักจะรุนแรง

2).ความผูกพันต่อกัน หากรักใคร่ผูกพันมากความเศร้าโศกจากการสูญเสียก็จะรุนแรง

3).ทักษะการแก้ไขปัญหาและการปรับตัวต่อการสูญเสียในอดีต หากเคยประสบความสูญเสียมาแล้วและสามารถปรับตัวได้ดี ปฏิกิริยาต่อการสูญเสียในครั้งนี้ก็จะมีไม่มากและจะสามารถฟื้นตัวผ่านพ้นไปได้ง่าย

4).บุคลิกภาพและสุขภาพจิตเดิม หากเป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตดี มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ ไม่เจ็บป่วยทางจิตในย่อมสามารถผ่านกระบวนการสูญเสียได้ดีกว่า

5).ความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิดและสังคมรอบข้าง ถ้ามีครอบครัวที่อบอุ่นหรือได้รับการช่วยเหลืออย่างดีจากเพื่อน ก็จะช่วยให้เกิดการปรับตัวและฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

6).พื้นฐานทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ศาสนา

7).สถานะทางเศรษฐกิจสังคม หากมีพื้นฐานเศรษฐกิจไม่ดีและผู้ที่จากไปเป็นเสาหลักของครอบครัวย่อมทำให้เกิดความเศร้าโศกได้มาก

ควรทำอย่างไรเมื่อสูญเสียบุคคลที่เรารัก วิธีปฏิบัติตัวเมื่อสูญเสียบุคคลที่รัก

รับรู้และให้เข้าใจว่า ความเศร้าโศกจากการสูญเสียคนที่รักเป็นปฏิกิริยาปกติของคน เราไม่ได้บ้า เราไม่ได้อ่อนแอ ถ้าอยากร้องไห้ ก็ร้องไห้ออกมา

ไม่เก็บหรือปิดบังความรู้สึกและความเศร้าโศก จงอนุญาตให้ตนเองเศร้าหรือเจ็บปวดใจ เศร้าด้วยตัวของเรา ในรูปแบบของเราไม่ต้องเลียนแบบคนอื่นหรือให้คนอื่นบอกว่า ควรจะเศร้า หรือรู้สึกอย่างไร หรือจะหยุดเศร้าเมื่อไหร่

หาช่องทางระบายความความรู้สึกต่อบุคคลที่รักที่จากไปเพื่อการเยียวยาจิตใจ เช่น การพูดถึง การเล่า การเขียนประสบการณ์ เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับบุคลลที่รักที่จากไปนั้น หรือแบ่งปันความรู้สึก พูดคุยกับกลุ่มผู้ที่เคยมีประสบการณ์สูญเสีย

หาทางคลายความเครียดความทุกข์ใจด้วยวิธีที่สร้างสรรค์ เช่น การออกกำลังกาย เล่นกีฬา ทำกิจกรรมศิลปะ ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ หรือกิจกรรมทางศาสนา

เศร้าโศกแค่ไหนต้องรักษาสุขภาพไว้ให้ดี โดยทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนนอนหลับเป็นเวลาอย่างเพียงพอ หลีกเลี่ยงสุราและสารเสพติด

จงอดทนกับตนเอง อย่ากดดันตนเอง หากไม่สามารถทำอะไรได้ดีอย่างที่เคยทำได้ และไม่ควรเปลี่ยนแปลงอะไรที่สำคัญในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเปลี่ยนงาน เปลี่ยนที่อยู่อาศัย หรือเปลี่ยนความสัมพันธ์ในช่วงที่เศร้าโศกนี้

ทำให้การสูญเสียที่เกิดขึ้นมีความหมาย เปลี่ยนความเศร้าโศกให้เป็นพลังสร้างสรรค์ ละทิ้งภาพที่เจ็บปวดคงไว้ซึ่งประสบการณ์ดีๆ ที่มีต่อกัน และทำสิ่งดีมีคุณค่าอุทิศแก่บุคคลที่รัก ทบทวนชีวิตและมองหาโอกาสที่จะใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้จากบุคคลที่รักที่จากไปให้เกิดประโยชน์ในอนาคต

จงเมตตาและให้อภัยต่อตนเองและผู้อื่นในสิ่งที่พูด สิ่งที่กระทำ หรือสิ่งที่ไม่ได้พูด สิ่งที่ไม่ได้กระทำ เพราะความเมตตาและการให้อภัยเป็นสิ่งสำคัญในการเยียวยาจิตใจในภาวะสูญเสีย

เมื่อไรที่รู้สึกแย่มากๆ ใน 2 สัปดาห์ มีอารมณ์เศร้าแทบทั้งวัน ไม่อยากทำอะไรแม้เป็นกิจกรรมที่เคยชอบ รู้สึกหมดหวัง มีความคิดอยากตาย ให้รีบปรึกษาแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit