กรมส่งเสริมวิชาการเกษตรจับมือสมาคมอารักขาพืชไทย เร่งให้ความรู้ใช้สารปลอดภัยแก่เกษตรกรผู้ผลิตพืชเศรษฐกิจ หวังสร้างความเชื่อมั่นสินค้าไทย

26 Aug 2015

โดยพื้นที่เป้าหมาย 9 จังหวัด ได้แก่ เกษตรกรสวนผัก ใน จ.กาญจนบุรี เกษตรกรชาวไร่สตรอเบอรี่ ใน จ.เชียงใหม่ เกษตรกรชาวไร่กระหล่ำปลี ใน จ.ตาก ,ชาวนาใน จ.ชัยนาท และ จ.นครสวรรค์ เกษตรกรชาวสวนลำไยใน จ.สระแก้ว เกษตรกรชาวสวนทุเรียน จ.จันทบุรี เกษตรกรชาวไร่แตงโม ใน จ.ขอนแก่น และเกษตรกรชาวสวน พุทรานมสดในพื้นที่วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตที่เน้นจำหน่ายในตลาดใหญ่ หรือบางรายมีตลาดส่งออก เป็นตลาดหลักเป็นกลุ่มผู้ผลิตที่ต้องมีความเข้าใจอย่างถูกต้องในการใช้สารอารักขาพืช ให้เหมาะสมกับช่วงเวลา เพื่อความปลอดภัยกับตัวเอง ชุมชน และผู้บริโภค อีกทั้งความเข้าใจที่ถูกต้องนี้จะยังช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในการผลิตได้ถึง 40% ทีเดียว

การอบรมหลักสูตรดังกล่าว จะให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เกษตรกรในการพิจารณาตัดสินใจใช้สารเคมีให้เหมาะสมกับช่วงวัย ช่วงเวลา ของการระวังป้องกันโรค แมลงศัตรูพืช และ บำรุงผลผลิต เนื่องจากที่ผ่านเกษตรกรตระหนกเมื่อเกิดโรคหรืออาการ ที่อาจยังไม่รุนแรง หรืออาจใช้การบำรุงที่ยังไม่เหมาะสมกับการตอบสนองของผลผลิต หรือจังหวะเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตหลังการใช้สารอารักขาพืช ซึ่งส่งผลต่อความมั่นใจในผลผลิตของผู้บริโภค ตลอดจนความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเครื่องมือป้องกันส่วนบุคคลในการใช้สารอารักขาพืช เพื่อสุขภาพของเกษตรกรเอง ผลตอบรับหลังการอบรมพบว่าเกษตรกรในพื้นที่ยินดีให้ความร่วมมือและพร้อมพัฒนาตัวเองเพื่อให้ผลผลิตเป็นที่ยอมรับของตลาด แต่ปัญหาพบว่าจุดจำหน่ายเครื่องมือการใช้งานที่ปลอดภัยยังหาซื้อยาก และยังมีปัญหาการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เคมีทางการเกษตรที่ไม่มีการรับรองและไม่ได้มาตรฐานกระจายอยู่ในพื้นที่ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะได้นำมากำหนดทิศทางและนโยบายการพัฒนาหลักสูตรตลอดจนหามาตรการในการระวังป้องกันต่อไป

นายธงชัย สุทธิพงศ์เกียรติ์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการจัดการสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการติดตามประเมินผลโครงการว่า ความมั่นใจของผู้บริโภคต่อสินค้าเป็นสิ่งอ่อนไหวทั้งในแง่ของการบริโภคและการส่งออก กรมส่งเสริมการเกษตร มีหน้าที่โดยตรงในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่เกษตรกรเพื่อผลิตอาหารที่ปลอดภัย ไว้วางใจได้แก่ผู้ซื้อ ดังนั้นจึงมุ่งเป้าไปที่ผู้ผลิตระดับกลางถึงระดับใหญ่ก่อน คาดว่าในปีงบประมาณนี้จะสามารถอบรมเกษตรกร ราว 300 คน จาก 9 จังหวัดเพื่อให้สามารถติดตามประเมินผลว่าหลังรับการอบรมแล้วเกษตรกรนำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตของตนหรือไม่ โดยมีสำนักงานเกษตรจังหวัดเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะช่วยติดตามประเมินผล และหากเกษตรกรนำไปใช้จริง กรมฯจะมอบเครื่องหมายรับรอง GAP ให้ในปี โดยการอบรมสุดท้ายจะจัดให้กับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนพุทรานมสดที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ในวันที่ 28 สิงหาคมนี้

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit