เรียนรู้เส้นทางสร้างแบรนด์สินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ไทยให้โดดเด่นในเวทีโลก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ผนึกดีไซเนอร์ดังติวเข้มนักออกแบบรุ่นใหม่

27 Aug 2021

"สินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์" สร้างชื่อเสียงและทำรายได้ให้กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน โดยเบื้องหลังแบรนด์ชั้นนำและดีไซเนอร์ชื่อดังมากมาย ส่วนหนึ่งมีแรงผลักดันมาจาก โครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก Designers' Room & Talent Thai Promotion 2021 โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่จัดขึ้นต่อเนื่องทุกปี มาเป็นระยะเวลากว่า 19 ปี เพื่อสร้างนักออกแบบไทยรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเติบโตพร้อมก้าวไปสู่การแข่งขันในต่างประเทศ ล่าสุด ในปีนี้โครงการได้จัดอบรมในหัวข้อ "การออกแบบ และพัฒนาสินค้าแฟชั่นไลฟ์และสไตล์ในตลาดโลก" โดยมีผู้เชี่ยวชาญชั้นนำและดีไซเนอร์แบรนด์ระดับประเทศมาร่วมให้คำแนะนำแนวทางการสร้างแบรนด์สู่ตลาดโลกแก่นักออกแบบไทยรุ่นใหม่อย่างพร้อมเพรียง นำโดย ผศ.ทัศน์ฐรสชง ศรีกุลกรณ์ นักออกแบบเครื่องประดับและอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร, คุณจิรชัย ตั้งกิจงามวงศ์ Managing Director, Deesawat Industries Co., Ltd. และ คุณวิภาวัส ดาราพงศ์ แบรนด์ TA.THA.TA

เรียนรู้เส้นทางสร้างแบรนด์สินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ไทยให้โดดเด่นในเวทีโลก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ผนึกดีไซเนอร์ดังติวเข้มนักออกแบบรุ่นใหม่

แนะข้อควรรู้การทำงานกับแบรนด์ไฮเอนด์

ผศ.ทัศน์ฐรสชง ศรีกุลกรณ์ นักออกแบบเครื่องประดับและอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย (จิวเวลรี่) มีความเข้มแข็งมากขึ้นตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา โดยได้ก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตของสินค้าในระดับโลก และเป็นฐานการผลิตให้กับแบรนด์เนมจิวเวลรี่ หรือ ไฮเอนด์ จิวเวลรี่ชื่อดังของโลก ไม่เพียงเท่านั้นบริษัทที่รับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) ก็เริ่มหันมาทำแบรนด์จิวเวลรี่ออกมาสู่ตลาดด้วยเช่นกัน ดังนั้น อุตสาหกรรมจิวเวลรี่ของไทยจึงไม่ได้แข่งขันเรื่องราคาอีกต่อไป

ข้อควรรู้ในการทำงานกับแบรนด์ไฮเอนด์ จิวเวลรี่ คือ มีข้อกำหนดห้ามให้ข้อมูลการผลิตและผลิตแบบดังกล่าวออกจำหน่าย เนื่องจากลิขสิทธิ์การออกแบบจะอยู่ที่แบรนด์ แต่ความพิเศษของบริษัทไทยที่เป็นผู้ให้บริการด้านการออกแบบครองใจแบรนด์เนมจิวเวลรี่ จะเป็นเรื่องการศึกษาข้อมูลตลาดในเชิงลึก (Research) เพื่อนำเสนอภาพรวมตลาด คู่แข่ง มีการให้ข้อมูลแนะนำแบรนด์เพื่อสร้างการเติบโตที่แตกต่าง พร้อมมุ่งมั่นให้การสนับสนุนลูกค้าอย่างใกล้ชิด ดังนั้น สิ่งสำคัญที่นักออกแบบต้องพร้อมเสมอคือ รู้จักลูกค้าให้ชัดเจนดีที่สุด ทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิต วัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์ของแต่ละประเทศ

"นักออกแบบรุ่นใหม่ต้องมีความเข้าใจอุตสาหกรรมจิวเวลรี่ พร้อมพัฒนาและเรียนรู้สิ่งใหม่ มีการเรียนรู้ตลาดของลูกค้าแต่ละประเทศ และสะสมประสบการณ์การทำงาน มีความเข้าใจธรรมเนียมในต่างประเทศ ซึ่งนักออกแบบต้องทบทวนว่าอยากทำงานด้านใด จะเป็นผู้ให้บริการด้านการออกแบบ หรือผู้ผลิต หรือสร้างแบรนด์เอง ซึ่งการสร้างแบรนด์ต้องมีคาแรกเตอร์ที่ชัดเจน นำเสนอสิ่งที่มีความสร้างสรรค์ รู้จักกำหนดทิศทางแบรนด์ พร้อมศึกษาข้อมูลตลาดเพื่อเสริมจุดอ่อน เข้าไปหากำลังซื้อที่ซ่อนอยู่และกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน"

ทั้งนี้ ข้อมูลตลาดกลุ่มลูกค้าศึกษาได้จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และข้อมูลโรงงานผลิตศึกษาได้จากสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (จีไอที) รวมถึงศึกษาข้อกำหนดทางการค้าของแต่ละประเทศ เนื่องจากตลาดต่างประเทศจะมีการกำหนดให้ได้รับรองมาตรฐานความรับผิดชอบทางสังคมที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมจิวเวลรี่ Responsible Jewelry Council (RJC) ตลอดจนเรื่องความรับผิดชอบต่อแรงงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รู้จักประเมินต้นทุนตั้งแต่เริ่มจนถึงขนส่งสินค้าไปสู่ตลาดต่างประเทศให้ชัดเจน และเข้าใจตลาดโลกที่มุ่งไปสู่การออกแบบหมุนเวียน หรือ Circular Design จึงควรเร่งสร้างเครือข่ายการผลิตในด้านนี้

"เวทีประกวด" บันไดขั้นแรกในการสร้างแบรนด์

คุณจิรชัย ตั้งกิจงามวงศ์ Managing Director, Deesawat Industries เล่าถึงการสร้างแบรนด์ว่า แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ DEESAWAT เริ่มต้นจากเป็นผู้รับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) ก่อนขยายไปสู่การสร้างแบรนด์ โดยมุ่งนำเสนอคาแรกเตอร์และตัวตนของแบรนด์ที่มีความชัดเจน ผสมการนำเสนอคอนเซปต์ที่เป็นตัวเรา และเล่าเรื่องราวของแบรนด์ในแบบสากลเพื่อให้ทุกคนเข้าใจ โดยระยะแรกจะให้ความสำคัญกับการประกวดในเวทีต่างๆ ซึ่งนอกจากสินค้าเฟอร์นิเจอร์แล้ว แบรนด์ยังให้บริการออกแบบสินค้าที่ไม่ได้ขายเฉพาะงานดีไซน์ แต่ใส่ความเป็นพิเศษ (Specialist) ลงไปด้วย ทำให้เป็นที่ต้องการของลูกค้า

"นักออกแบบรุ่นใหม่ที่กำลังเริ่มการสร้างแบรนด์ ควรเริ่มจากการประกวด ทั้งเวทีขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ถือเป็นการตอกย้ำแบรนด์และทำให้แบรนด์อยู่ในใจของลูกค้า ปัจจุบันตลาดการออกแบบทั่วโลกมีการแข่งขันสูง การเริ่มต้นจะต้องใช้เวลาสะสมตลาดและกลุ่มลูกค้า ทางลัดก็คือ การเข้าร่วมประกวดในเวทีต่างๆ ซึ่งระหว่างนี้นักออกแบบสามารถสะสมประสบการณ์การทำงานด้วยการเป็นโออีเอ็ม เพื่อทำความเข้าใจตลาดและสิ่งที่ลูกค้าต้องการ และแม้ว่าการทำโออีเอ็มจะมีมาร์จิ้นน้อยกว่าทำแบรนด์เอง แต่สามารถสร้างรายได้และเป็นพื้นที่ในการศึกษาตลาดได้ ขณะเดียวกันควรเข้าร่วมโครงการของภาครัฐ เพื่อสร้างโอกาสพัฒนาตัวเอง และสร้างความน่าเชื่อถือให้แบรนด์"

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือ นักออกแบบต้องจดเครื่องหมายการค้า โลโก้ของแบรนด์ถือว่ามีความสำคัญสูงสุด เป็นสิ่งที่แสดงความเป็นตัวตนของแบรนด์ให้ลูกค้าจดจำ และต้องให้ความสำคัญในเรื่องสัญญากับลูกค้า การขนส่งสินค้าต้องทำอย่างดี ส่วนการกำหนดราคาต้องคำนวณและศึกษาในแต่ละประเทศให้ชัดเจน การเป็นผู้ส่งออกต้องพิจารณาพื้นฐานการผลิตทั้งหมดและตรวจสอบอุปสรรค พร้อมประเมินศักยภาพในการรับคำสั่งซื้อ และทำความเข้าใจเรื่องธุรกิจระหว่างประเทศ มองหาโอกาสไปร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ เช่น Maison & Object (M&O) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หรือ งานแสดงสินค้าที่มิลาน ประเทศอิตาลี จะเป็นโอกาสสำคัญในการศึกษาตลาดและราคา ดีไซน์ต่าง ๆ ทำให้แบรนด์สามารถกลับมาวิเคราะห์ช่องทางการขายที่สะดวกและดีกับแบรนด์มากที่สุด

เรียนรู้ปรับตัวจากงานแฟร์ปรับสู่แพลตฟอร์มออนไลน์

คุณวิภาวัส ดาราพงศ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์กระเป๋าแบรนด์ TA.THA.TA กล่าวว่า ช่วงแรกลูกค้าในต่างประเทศจะรู้จักแบรนด์จากกการออกงานแสดงสินค้า แต่เมื่อกลุ่มผู้ซื้อเข้าร่วมงานแฟร์ลดลง จึงปรับงบไปลงทุนพัฒนาเว็บไซต์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการสร้างตัวตนและความน่าเชื่อถือ พร้อมนำสินค้าเข้าไปอยู่ในแฟลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของต่างประเทศ เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าง่ายขึ้น ซึ่งในต่างประเทศจะออกแบบหน้าร้านมีความแตกต่างกันไป และแฟลตฟอร์มจะรู้จักลูกค้าในพื้นที่และเข้าใจลูกค้ามากกว่า จึงควรเลือกแพลตฟอร์มที่สามารถเก็บข้อมูลหลังบ้านได้ดี ส่วนการขายสินค้าในต่างประเทศ ควรมีตัวแทนจำหน่าย (ดิสทริบิวเตอร์) และจัดทำคู่มือให้ลูกค้าในการนำเสนอภาพลักษณ์ของแบรนด์ พร้อมต้องวางแนวทางทำโปรโมชั่นและลดราคาได้สูงสุดเท่าใด

การสร้างแบรนด์สู่ตลาดต่างประเทศ ควรมีการจดตราสินค้าที่เป็นเครื่องหมายแสดงถึงแบรนด์ทั้งหมด และเมื่อต้องการหาลูกค้าใหม่จะต้องมองที่ปัญหาของลูกค้า ไม่ใช่นำเสนอการลดราคา และต้องวางแผนขนส่งให้ดีที่สุด เลือกใช้วัสดุที่มิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงวางแผนทำให้ลูกค้ามีกำไรมากขึ้น จะต้องพิจารณาสนธิสัญญาการค้าระหว่างประเทศ และระบบศุลกากรของแต่ละประเทศว่าสามารถลดหย่อนภาษีขาเข้าได้หรือไม่ เพื่อให้ลูกค้ามีรายได้ที่ดีจากการทำธุรกิจ ส่วนการกำหนดราคาขายสินค้า จะต้องพิจารณาจากแบรนด์คู่แข่งในตลาดเดียวกัน

"หัวใจสำคัญคือ การมีพันธมิตรที่ดีในการร่วมผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดี มีการใช้เทคโนโลยีใหม่มาร่วมผลิตได้อย่างต่อเนื่อง และต้องหาคำตอบให้ได้ว่า สินค้าใดที่ทำให้แบรนด์อยู่ได้อย่างยั่งยืน สุดท้ายคือ นักออกแบบทุกคนไม่ควรก๊อปปี้ผลงานที่เป็นการสร้างแบรนด์แบบไม่มีตัวตน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การมุ่งพัฒนาตัวตนและการออกแบบ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานให้ดีที่สุดแก่ลูกค้า" คุณวิภาวัส กล่าวทิ้งท้าย