ฟิทช์คงอันดับเครดิต บมจ. ปูนซีเมนต์นครหลวง ที่ 'A(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

30 Mar 2023

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ SCCC ที่ 'A(tha)' อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิที่ 'A(tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ที่ 'F1(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจของ SCCC ในฐานะผู้ผลิตปูนซีเมนต์ขนาดเล็กในระดับภูมิภาค ซึ่งมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในประเทศที่เป็นตลาดหลัก โดย SCCC เป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทยและเวียดนามตอนใต้ และผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศศรีลังกา

ฟิทช์คาดว่าบริษัทฯ จะสามารถรักษาสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง และสร้างกระแสเงินสดสุทธิ (Free cash flow, FCF) เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง ฟิทช์คาดว่า อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Net Leverage) จะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 2 เท่า ในปี 2567 จาก 2.3 เท่า ในปี 2566 และปี 2565 จากการปรับตัวดีขึ้นของกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน เนื่องจากความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนที่ลดลง

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
EBITDA ยังคงทรงตัว - ฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ SCCC จะคงอยู่ที่ระดับเดิมที่ 6.5-7 พันล้านบาทในปี 2566 (ปี 2565 อยู่ที่ 6.9 พันล้านบาท) เนื่องจากการฟื้นตัวของกำไรจากการดำเนินงานในประเทศไทย จะถูกลดทอนจากกำไรจากการดำเนินงานจากประเทศเวียดนาม และศรีลังกาที่ปรับตัวลดลง ฟิทช์คาดว่ารายได้ของ SCCC จะเติบโตในระดับประมาณร้อยละ 2-5 ในช่วงสองปีข้างหน้า เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรฐกิจ โดยเฉพาะในประเทศไทย อัตราส่วนกำไรจากดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA Margin) จะยังคงได้รับแรงกดดัน และอยู่ในระดับร้อยละ 12-13 ในปี 2566 (ปี 2565: ร้อยละ 13.7, ปี 2564: ร้อยละ 17.9) เนื่องจากการปรับราคาขายน่าจะยังไม่สามารถชดเชยต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ฟิทช์เชื่อว่าอัตราส่วนกำไรของ SCCC จะยังคงได้รับประโยชน์จากมาตรการการลดต้นทุนต่างๆ ของบริษัทฯ เช่น การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทั้งในด้านราคาและปริมาณสำหรับวัตถุดิบหลัก การบริหารต้นทุนคงที่ การลดสัดส่วนการใช้ปูนเม็ด และการใช้พลังงานทดแทน

การฟื้นตัวที่แตกต่างกันในแต่ละตลาด - กระแสเงินสดจากการดำเนินงานส่วนใหญ่ของ SCCC มาจากธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนที่เหลือส่วนใหญ่มาจากธุรกิจในประเทศเวียดนามและศรีลังกา ฟิทช์คาดว่าการฟื้นตัวของผลประกอบการในประเทศไทยจะยังคงได้รับการสนับสนุนจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของทางภาครัฐฯ ที่น่าจะฟื้นตัวหลังจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสลดลง ในขณะที่ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จากการก่อสร้างภาคเอกชนน่าจะฟื้นตัวตามการฟื้นตัวของภาวะเศรฐกิจ นอกจากนี้ การปรับราคาขายอย่างต่อเนื่องโดยผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศไทย น่าจะทำให้ธุรกิจมีกำไรดีขึ้นในปี 2566

ฟิทช์คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศไทยที่มากขึ้น จะถูกลดทอนจากความท้าทายที่เกิดขึ้นในประเทศเวียดนาม จาก เกณฑ์การให้สินเชื่อของธนาคารต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เข้มงวดขึ้น และการตรวจสอบของภาครัฐฯ ต่อการออกหุ้นกู้ ที่จะทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยชะลอตัว และกดดันความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ กำไรจากธุรกิจของ SCCC ในประเทศศรีลังกา น่าจะหดตัวลงอย่างมากในปี 2566 เนื่องจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ที่ลดลงจากสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ถึงแม้ว่ามาตรการห้ามนำเข้าปูนเม็ด ที่อาจทำให้เกิดภาวะขาดแคลนปูนซีเมนต์ในประเทศ จะช่วยลดทอนผลกระทบต่อปริมาณการขายของ SCCC ในประเทศศรีลังกา เนื่องจาก SCCC สามารถผลิตปูนเม็ดเองได้บางส่วน

ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่ไม่มากนัก - ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนในปี 2566 น่าจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 1.6 พันล้านบาท (ปี 2565: 1.9 พันล้านบาท) โดยส่วนใหญ่เพื่อการบำรุงรักษา และเพิ่มประสิทธิภาพของโรงงาน ซึ่งรวมถึงโครงการลดสัดส่วนการใช้ปูนเม็ดในกระบวนการผลิตในประเทศไทย และเวียดนาม SCCC ยังคงมีแผนเพิ่มกำลังการผลิต ถึงแม้ว่าแผนดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุมัติ และไม่น่าจะเริ่มโครงการก่อนสิ้นปี 2566 ฟิทช์เชื่อว่า SCCC จะดำเนินนโยบายเพื่อการรักษาสถานะทางการเงิน โดยไม่มีการลงทุนขยายกำลังการผลิตขนาดใหญ่ หรือการเข้าซื้อกิจการ ก่อนที่อัตราส่วนหนี้สินจะลดลงต่ำกว่าระดับ 2.3 เท่า

อัตราส่วนหนี้สินที่ลดลง; กระเงินสดสุทธิเป็นบวก - ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วน EBITDA Net Leverage ของ SCCC จะคงอยู่ที่ระดับเดิมที่ประมาณ 2.3 เท่า ในปี 2566 และลดลงมาที่ 2 เท่า ในปี 2567 เนื่องจากหนี้สินสุทธิที่ลดลง เนื่องจากความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนที่ลดลง จากการเติบโตของรายได้ที่ช้าลง อัตราส่วนหนี้สินเพิ่มขึ้นเป็น 2.3 เท่า ในปี 2565 จาก 2.1 เท่าในปี 2564 เนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น และความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น จากรายได้ที่เติบโตอย่างมากที่ร้อยละ 20 จากความต้องการที่ฟื้นตัวหลังจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส SCCC มีกระแสเงินสดสุทธิเป็นบวกอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ยกเว้นในปี 2565 และฟิทช์คาดว่าบริษัทฯ จะยังคงมีกระแสเงินสดสุทธิเป็นบวกในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

สถานะทางการตลาดและการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ - SCCC สามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด ในฐานะผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทย แม้ว่าจะมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาในตลาดและมีการแข่งขันภายในประเทศที่รุนแรงขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ด้วยชื่อเสียงของตราสินค้าของบริษัทฯ ที่แข็งแกร่งและความยืดหยุ่นในการปรับราคาสินค้า นอกจากนี้ SCCC ยังเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดและผู้ผลิตปูนเม็ดเพียงรายเดียวในประเทศศรีลังกา และเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเวียดนามตอนใต้ ซึ่งทำให้บริษัทฯ มีการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ที่มากขึ้น รายได้จากต่างประเทศ (รวมรายได้จากการส่งออก) คิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 50 ของรายได้ทั้งหมดในปี 2565

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
SCCC มีสถานะทางธุรกิจอ่อนแอกว่า บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC (อันดับเครดิตปัจจุบัน 'A+(tha)' แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศเช่นเดียวกัน เนื่องจาก SCC เป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์และทางธุรกิจที่มากกว่า สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่าของ SCC ส่งผลให้ SCC ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่สูงกว่า SCCC หนึ่งอันดับ แม้ว่า SCCC จะมีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า

SCCC มีอันดับเครดิตในระดับเดียวกับสถานะเครดิตโดยลำพังของบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A+(tha)/แนวโน้มเครดิตเป็นลบ/ สถานะเครดิตโดยลำพังที่ a(tha)) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน แต่มีอันดับเครดิตสูงกว่าสถานะเครดิตโดยลำพังของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A+(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ/ สถานะเครดิตโดยลำพังที่ a-(tha)) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของประเทศไทย

SCCC มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่อ่อนไหวต่อวัฏจักรขาลงทางเศรษฐกิจมากกว่า SCGP และ GPSC เนื่องจาก SCCC มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ SCGP ดำเนินธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมที่ความต้องการซื้อจากลูกค้ามีความสม่ำเสมอมากกว่า และมีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้มากกว่า SCCC ดังนั้น SCGP จึงสามารถรองรับอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า SCCC ได้ในอันดับเครดิตระดับเดียวกัน GPSC มีอัตราส่วนหนี้สินสูงกว่า SCCC มาก หลังจากการลงทุนเข้าซื้อกิจการ ซึ่งส่งผลให้สถานะเครดิตโดยลำพังของ GPSC อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตของ SCCC ที่ 1 อันดับ

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • รายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 2-5 ต่อปี ในปี 2566-2567 เนื่องจากการปรับขึ้นของราคาขายและการฟื้นตัวของความต้องการซื้อในประเทศไทย
  • EBITDA margin อยู่ที่ระดับเดิมที่ ร้อยละ 12-13 ในปี 2566-2567
  • ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนรวม 3.6 พันล้านบาท ในปี 2566-2567
  • อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) อยู่ในระดับร้อยละ 75-85

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:

  • ฟิทช์ไม่คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจาก SCCC มีขนาดธุรกิจที่ค่อนข้างเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทที่มีอันดับเครดิตสูงกว่า

ปัจจัยลบ:

  • การที่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ อ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือการมีค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนโดยใช้แหล่งเงินทุนจากเงินกู้ในระดับสูง รวมถึงการจ่ายเงินปันผลจำนวนมาก ส่งผลให้ EBITDA net leverage อยู่ในระดับสูงกว่า 2.3 เท่า อย่างต่อเนื่อง

สภาพคล่อง
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่ดี: SCCC มีหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2566 จำนวน 2.6 พันล้านบาท สภาพคล่องของบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดในมือจำนวน 3.4 พันล้านบาท และวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนจากสถาบันการเงินประเภทไม่สามารถยกเลิกได้ (Committed credit facilities) จำนวน 9 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีความสามารถในการกู้ยืมเงินเพื่อชำระคืนหนี้สินเดิม (Refinancing ability) ที่แข็งแกร่ง เนื่องจากความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ใหม่ผ่านตลาดทุนและสถาบันการเงินของบริษัทฯ ที่แข็งแกร่ง

ข้อมูลบริษัท
SCCC มีกำลังการผลิตปูนซีเมนต์รวม 25.3 ล้านตันต่อปี ในประเทศไทย ศรีลังกา และเวียดนาม SCCC ยังถือหุ้นร้อยละ 40 ในกิจการร่วมค้า ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศกัมพูชา ซึ่งมีกำลังการผลิตปูนเม็ดจำนวน 1.7 ล้านตันต่อปี