กองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable and Responsible Investing Fund : SRI Fund) มุ่งมั่นใส่ใจการลงทุนเพื่อผลตอบแทนที่ยั่งยืน

12 Jan 2023

ปัจจุบันกระแสการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ ESG ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม จากอุปสงค์ด้านการลงทุนที่มุ่งเรื่องของการสร้างผลตอบแทนควบคู่ไปกับการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันก็ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดอุปทานของภาคธุรกิจที่ผนวกเรื่องของ ESG เข้าไปในการดำเนินกิจการ นอกจากนี้ องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้ประกาศให้ทศวรรษนี้เป็น "ทศวรรษแห่งการลงมือทำ" เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งประกอบด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ด้าน ด้วยการพัฒนาที่สมดุลกันใน 3 เสาหลักของมิติความยั่งยืน (Three Pillars of Sustainability) ได้แก่ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยการพัฒนาที่ยั่งยืนจะให้ความสำคัญกับการเติบโตในระยะยาว และคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มากกว่าผลกำไรในรูปของตัวเงินในระยะสั้น

ทั้งนี้ กลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งรวมถึงประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในโลกจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศและเผชิญกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น อุทกภัย ภัยแล้ง ตลอดจนภาวะโลกร้อน คำถามที่สำคัญ คือ ตลาดทุนไทยจะมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบเหล่านี้ รวมทั้งช่วยส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดี และขับเคลื่อนเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร

ตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ก.ล.ต. มุ่งมั่นพัฒนาระบบนิเวศที่เกื้อหนุนให้ตลาดทุนไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจดำเนินกิจการโดยคำนึงถึงประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาล (ESG) เพื่อเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนความยั่งยืนสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งแนวทางการลงทุนอย่างยั่งยืน (sustainable investing) ในประเทศไทย ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเป็นปัจจัยให้ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืนมากขึ้น

สำหรับหนึ่งในแนวทางการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลคือ Principles for Responsible Investment (PRI) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก United Nations ได้กำหนดหลักปฏิบัติเรื่องหลักการลงทุนที่มีความรับผิดชอบโดยผนวกประเด็นเรื่อง ESG เข้าด้วยกัน เพื่อให้ผู้ร่วมลงนาม (signatories) นำไปใช้ ทั้งนี้ การร่วมลงนามใน PRI เป็นการแสดงถึงการมีสัญญาผูกพันต่อหลักปฏิบัติการลงทุนที่รับผิดชอบอย่างแท้จริง เนื่องจากผู้ร่วมลงนามจะต้องผนวกประเด็นเรื่อง ESG ในกระบวนการตัดสินใจลงทุน การมีส่วนร่วมของผู้ถือหุ้น (active ownership) และการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานตามหลักปฏิบัติการลงทุนที่รับผิดชอบด้วย โดยที่บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่บริหารจัดการกองทุน อาทิ SRI Fund กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในฐานะผู้รับจัดการเงินลงทุนให้กับผู้ลงทุน สามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ PRI ได้ตามความสมัครใจ ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานของไทยที่ร่วมลงนามแล้ว จำนวน 3 ราย

เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ United Nations บลจ. จึงเป็นองคาพยพหนึ่งที่สำคัญในตลาดทุนด้วยการนำ ESG มาเป็นปัจจัยในการพิจารณาลงทุนเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ลงทุน และเพื่อช่วยให้ บลจ. มีมาตรฐานในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนของกองทุนรวม ก.ล.ต. จึงได้ออกแนวทางปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูลของ SRI Fund หรือ Sustainable & Responsible Investing Fund เมื่อเดือนเมษายน 2565 โดยกำหนดให้ SRI Fund เป็นกองทุนที่มุ่งเน้นลงทุนในกิจการที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนตามหลักสากล เช่น SDGs UN Global Compact เป็นต้น และกำหนดให้ บลจ. ที่บริหารจัดการ SRI Fund ต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนภายใต้มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลเดียวกัน เช่น นโยบายการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน กลยุทธ์การลงทุน ผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเปรียบเทียบข้อมูลระหว่าง SRI Fund ได้อย่างสะดวก และมีข้อมูลที่เพียงพอประกอบการตัดสินใจลงทุน อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงด้านการฟอกเขียว (greenwashing) หรือการที่ทำให้ผู้ลงทุนเกิดความเข้าใจผิดว่ากองทุนรวมนั้นเป็นกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน โดยที่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น รวมทั้งได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมคำขออนุมัติจัดตั้ง SRI Fund และคำขอแก้ไขเพิ่มเติมโครงการจัดการกองทุนรวมเพื่อให้เป็น SRI Fund สำหรับการยื่นคำขอในปี 2566 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่คำนึงถึงความยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2566 ให้กับประชาชน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565

สำหรับจุดเด่นในการลงทุน SRI Fund คือ เป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ของกิจการที่เน้นความยั่งยืนเป็นหลัก โดยมีผู้จัดการกองทุนทำหน้าที่วิเคราะห์และคัดเลือกกิจการที่ผ่านการตรวจสอบเชิงลึกมาแล้วว่า มีแนวคิดและการกระทำในเชิงประจักษ์ตามหลัก ESG รวมถึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการกระจายพอร์ตการลงทุน (diversification) ที่น่าสนใจ เพราะหากเปรียบเทียบผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี (annualized return) ของ ดัชนี SETTHSI TRI ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนการเคลื่อนไหวราคาของกลุ่มหลักทรัพย์ของบริษัทไทยที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนกับดัชนี SET TRI จะพบว่า ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีย้อนหลัง 1 ปี และ 3 ปี ของดัชนี SETHSI TRI สูงกว่า SET TRI ร้อยละ 2.36 และร้อยละ 1.11 ตามลำดับ ขณะเดียวกัน ผลการศึกษาในต่างประเทศก็พบว่ากองทุนรวมที่ได้รับการจัดอันดับที่สะท้อนเป้าหมายด้านความยั่งยืน (ESG ratings) ในระดับสูง มีผลการดำเนินงานที่ดีกว่ากองทุนรวมอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากกองทุนรวมดังกล่าวมีการคำนึงถึงทั้งความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ส่งผลให้ผลตอบแทนของกองทุนรวมในช่วงวิกฤตโควิด-19 มีความยืดหยุ่น (resilience) และมีผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาวด้วย

ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีกองทุน SRI Fund ที่ได้รับอนุมัติจาก ก.ล.ต. แล้ว จำนวน 4 กองทุน โดยผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบรายชื่อ SRI Fund และเปรียบเทียบข้อมูลระหว่าง SRI Fund ได้ที่ https://web-esg.sec.or.th/

นอกจากนี้ ก.ล.ต. มีพันธกิจที่สำคัญทั้งในระดับภูมิภาคและนานาชาติ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียนออกมาตรฐานกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืนของอาเซียน (ASEAN Sustainable and Responsible Fund Standard: SRFS) เพื่อให้ SRI Fund ที่เปิดเผยข้อมูลครบถ้วนตามที่ ASEAN SRFS กำหนด สามารถเสนอขายหน่วยลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนได้โดยสะดวก ขณะเดียวกัน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างเจรจากับ Securities and Futures Commission ฮ่องกง เพื่อให้ บลจ. ไทย สามารถเสนอขาย SRI Fund ในฮ่องกง ภายใต้โครงการ HK-TH MRF ได้โดยสะดวกเช่นกัน

สุดท้ายนี้ ก.ล.ต. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บลจ. จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนความยั่งยืนของตลาดทุนไทย ด้วยการจัดตั้งและบริหารจัดการ SRI Fund มากยิ่งขึ้น และร่วมลงนามใน PRI เพิ่มขึ้นตามลำดับ เพื่อแสดงถึงการยึดมั่นต่อหลักการลงทุนที่มีความรับผิดชอบ เพราะการลงทุนด้วยความมุ่งมั่นใส่ใจด้านความยั่งยืน นอกจากจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเงินลงทุนไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญต่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งช่วยให้ประเทศไทยบรรลุ SDGs แล้ว ยังช่วยสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาวแก่ผู้ลงทุน อีกทั้งเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจให้ บลจ. ในการขยายฐานผู้ลงทุนในระดับสากลด้วย