'เบทาโกร' เดินหน้าลงทุนประเทศในอาเซียน รุกขยายฐานการผลิตด้วยมาตรฐานสากล

19 Dec 2022

เบทาโกร บริษัทอาหารชั้นนำระดับสากล (World-class Branded Food Company) เปิดวิสัยทัศน์การลงทุน วางเป้าขยายฐานการผลิตประเทศในอาเซียน หลังมองเศรษฐกิจโลกปีหน้ายังมีปัจจัยกระทบ เน้นยกระดับปริมาณการเลี้ยง ทั้งสุกรพันธุ์ สุกรขุน ไก่เนื้อ และไก่ไข่ให้มีคุณภาพ เร่งขยายฐานการผลิตอาหารสัตว์ในกัมพูชาและลาว พร้อมมั่นใจแบรนด์เบทาโกรได้รับการตอบรับอย่างดี ผลิตภัณฑ์มีนวัตกรรมและคุณภาพสูงเทียบเท่าไทย

'เบทาโกร' เดินหน้าลงทุนประเทศในอาเซียน รุกขยายฐานการผลิตด้วยมาตรฐานสากล

นายวรวุฒิ วณิชกุลบดี ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ-กลุ่มธุรกิจต่างประเทศ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG เปิดเผยว่า การลงทุนและการขยายตลาดในต่างประเทศอย่างรอบคอบและประเมินความเสี่ยงตลอดเวลาเป็นกลยุทธ์สำคัญของ BTG เพราะคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2566 ที่อาจชะลอตัวลงในตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกา แต่ในภูมิภาคอาเซียนยังมีโอกาสกลับมาเติบโตได้อีกครั้งหลังเปิดประเทศรองรับการลงทุนและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ตรงนี้นับเป็นโอกาสที่น่าสนใจมาก ที่ผ่านมา BTG ประสบความสำเร็จในการลงทุนและทำตลาดทั้งในกัมพูชา และลาวอย่างต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในผู้นำที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าทุกระดับผ่านช่องทางธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่และมีพันธมิตรธุรกิจระดับท้องถิ่นที่แข็งแกร่ง พร้อมเติบโตในเชิงเศรษฐกิจ ควบคู่กับการดูแลคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้บริโภคในภูมิภาค

"ด้วยศักยภาพธุรกิจอาหารและเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจร พร้อมประสบการณ์การลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่เชี่ยวชาญมายาวนานกว่าทศวรรษ กลุ่มธุรกิจต่างประเทศของเบทาโกร มองเห็นโอกาสขับเคลื่อนวิสัยทัศน์และนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อขยายฐานการผลิตและช่องทางการตลาดช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่ง BTG เราจะดำเนินการอย่างมียุทธศาสตร์ มีแผนรองรับที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงปศุสัตว์ การแปรรูป และเบทาโกรช็อป ทั้งหมดคือโอกาสในการเข้าถึงผู้บริโภค ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ดีและมีคุณภาพสูงตอบโจทย์ความต้องการในอนาคต ด้วยศักยภาพทางธุรกิจและกำลังการผลิตที่ขยายตัว"

ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-กันยายน) กลุ่มธุรกิจต่างประเทศ มีรายได้จากการขายสินค้าและให้บริการรวม 4,511 ล้านบาท โดยรายได้หลักมาจากการดำเนินธุรกิจในกัมพูชาซึ่งมีอัตราการเติบโตที่สูงมาก ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจผ่านบริษัทย่อย คือ บริษัท เบทาโกร (กัมพูชา) จำกัด มีโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ในกรุงพนมเปญ และฟาร์มปศุสัตว์ สุกร และสัตว์ปีก รวม 331 แห่ง มีแผนที่จะก่อสร้างโรงงานอาหารสัตว์แห่งที่สองในกัมพูชา การลงทุนฟาร์มสุกรพ่อแม่พันธุ์ ฟาร์มสุกรขุน ฟาร์มไก่พ่อแม่พันธุ์ และโรงชำแหละสุกร, ไก่เนื้อ เพิ่มกำลังการผลิตสุกรได้ประมาณ 0.8 ล้านตัว และไก่ประมาณ 12.7 ล้านตัวต่อปี ภายในปี 2569

ขณะที่ในลาว ดำเนินธุรกิจผ่านบริษัทย่อยในนาม บริษัท เบทาโกร (ลาว) จำกัด ทำฟาร์มสุกร ฟาร์มสัตว์ปีก จำนวน 134 แห่ง และร้านเบทาโกรช็อป 5 แห่ง ตั้งอยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์ 3 แห่ง หลวงพระบาง 1 แห่ง และจำปาสัก 1 แห่ง มีแผนลงทุนก่อสร้างโรงงานอาหารสัตว์แห่งแรกกำลังการผลิต 72,000 ตันต่อปี ฟาร์มสุกรพ่อแม่พันธุ์แห่งใหม่ และลงทุนในโรงชำแหละสุกรและไก่สามสายพันธุ์ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ให้สามารถผลิตไก่ประมาณ 3.0 ล้านตัวต่อปี และสุกรประมาณ 0.2 ล้านตัวต่อปี ภายในปี 2569 เช่นกัน

ในส่วนเมียนมานั้น ช่วงที่ผ่านมาได้ดำเนินการในลักษณะกิจการร่วมค้ากับพันธมิตรท้องถิ่นนำเข้าพ่อแม่พันธุ์สุกร,เวชภัณฑ์ยาสัตว์, ผลิตภัณฑ์อาหาร รวมทั้งอาหารสัตว์เลี้ยงจากไทยเป็นหลัก แม้เมียนมาจะเป็นหนึ่งในตลาดอาเซียนที่น่าสนใจ แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และใช้เวลาในการศึกษาข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินธุรกิจด้วยความรอบคอบและพิจารณาอย่างรอบด้านมากที่สุด

นายวรวุฒิ กล่าวอีกว่า การลงทุนในทุกประเทศ เบทาโกรได้ให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องคุณภาพ การกำกับดูแลทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่การผลิต ซึ่งต้องได้มาตรฐานระดับสากล (World-Class) ตามเจตนารมณ์หลักใน 4 ด้าน ได้แก่ 1. Food Quality & Safety ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหารตามมาตรฐานสากลเช่นเดียวกับไทย 2. Social Development ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานและพัฒนาคนในพื้นที่ให้เติบโตไปด้วยกัน นำความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้มาร่วมพัฒนาเกษตรกร 3. Good Governance ส่งพนักงานจากไทยไปประจำที่กัมพูชา ลาว และเมียนมา เพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรร่วมกัน ขณะเดียวกันก็นำเทคโนโลยีทันสมัยที่ทำให้สามารถติดตาม วิเคราะห์ข้อมูล และผลการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 4. Alliance and Partnership สร้างคุณค่า และผลประโยชน์ร่วมกันกับพันธมิตรธุรกิจในท้องถิ่น

นอกจากนั้น ในระยะยาว บริษัทฯ ยังมีแผนจะขยายการดำเนินงานในประเทศอื่นๆ ที่เป็นตลาดที่มีศักยภาพ เช่น อินเดีย จีน และเวียดนาม โดยยังคงมุ่งเน้นการเป็นพันธมิตรกับธุรกิจท้องถิ่น เพื่อประโยชน์อันเกิดจากความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจ และความมุ่งมั่นในการสร้างการเจริญเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ทั้งในประเทศเพื่อนบ้าน และระดับภูมิภาคต่อไป

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit