อพวช. เปิดเวทีสร้างเครือข่ายนักวิจัยระดับนานาชาติ ในงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ "วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ครั้งที่ 3"

02 Dec 2022

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ "วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ครั้งที่ 3: ความยั่งยืนทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและความรับผิดชอบต่อสังคม" (The 3rd International Seminar on Natural Science: Natural Resource Sustainability and People's Responsibility for Society) เพื่อเปิดเวทีให้นักวิจัยระดับนานาชาติและผู้ที่มีความสนใจด้านธรรมชาติวิทยา ได้แสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างพิพิธภัณฑ์และหน่วยงานต่างๆ นำไปพัฒนางานวิจัยให้เป็นมาตรฐานในระดับสากล และสร้างความตระหนักรู้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติต่อสังคม โดยงานจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 1-2 ธันวาคม 2565 ณ พิพิธภัณฑ์ พระรามเก้า อพวช. คลองห้า ปทุมธานี

อพวช. เปิดเวทีสร้างเครือข่ายนักวิจัยระดับนานาชาติ ในงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ "วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ครั้งที่ 3"

ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองศ์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า "อพวช. เป็นหน่วยงานสร้างความตระหนักและส่งเสริมสังคมไทยให้เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อการพัฒนาประเทศ โดยมีอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญคือการเป็นศูนย์กลางของการศึกษาวิจัย รวบรวมวัสดุอุเทศ เผยแพร่ความรู้และจัดแสดงนิทรรศการด้านธรรมชาติวิทยาและความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ทั้งนี้ อพวช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้ทางวิชาการด้านธรรมชาติวิทยา รวมถึงการสร้างเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานด้านธรรมชาติวิทยา จึงได้จัดงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ "วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ครั้งที่ 3: ความยั่งยืนทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและความรับผิดชอบต่อสังคม" (The 3rd International Seminar on Natural Science: Natural Resource Sustainability and People's Responsibility for Society) ขึ้น ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยในปีนี้นำเสนอในหัวข้อ "ความยั่งยืนทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและความรับผิดชอบต่อสังคม" ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจจากหลายภาคส่วนเข้าร่วมงานมากกว่า 150 คน และร่วมนำเสนอผลงาน จำนวน 53 ผลงาน โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี ทั้งนี้ได้แบ่งการนำเสนอออกเป็น 8 กลุ่ม ได้แก่ อนุกรมวิธานแมลง / สัตววิทยา / มีนวิทยา / นิเวศวิทยา / ความหลากหลายทางชีวภาพของแมลง / พฤกษศาสตร์ / การศึกษาวิทยาศาสตร์ และการสื่อสารวิทยาศาสตร์ และที่สำคัญในปีนี้ ยังมีผู้เข้าร่วมนำเสนออายุน้อยที่สุด ด.ช.ศรัณย์ภัทร อุ่ยละพันธุ์ อายุเพียง 12 ปี นำเสนอผลงานในหัวข้อ Children's interest in dinosaur museums ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากการมาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ อพวช. และร่วมกิจกรรมกับพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อาทิ Junior Naturalist / Research Show by Naturalist มาอย่างต่อเนื่อง อันเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ ที่ อพวช. มีส่วนในการสร้างนักธรรมชาติวิทยารุ่นเยาว์ ซึ่งจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านทรัพยากรธรรมชาติในอนาคต

โดย อพวช. หวังว่าเวทีนี้จะเป็นอีกเวทีที่สร้างเครือข่าย ผลักดัน ส่งเสริมงานด้านธรรมชาติวิทยาและสะท้อนประเด็นสำคัญของประเทศที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ ซึ่งนำไปสู่การสร้างความตระหนักรู้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและก่อให้เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์อันเป็นการรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป"

อพวช. เปิดเวทีสร้างเครือข่ายนักวิจัยระดับนานาชาติ ในงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ "วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ครั้งที่ 3"