สินิตย์ ดัน GIT สร้างแต้มต่อความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับผ่านมาตรฐานห้องปฏิบัติการ GIT STANDARD หลัง Lab ต่างชาติตื่นตัว

21 Nov 2022

สินิตย์ ดัน GIT สร้างแต้มต่อความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับผ่านมาตรฐานห้องปฏิบัติการ GIT STANDARD หลัง Lab ต่างชาติตื่นตัว เตรียมเข้าร่วมมาตรฐานตรวจสอบ อัญมณีและเครื่องประดับไทย

สินิตย์ ดัน GIT สร้างแต้มต่อความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับผ่านมาตรฐานห้องปฏิบัติการ GIT STANDARD หลัง Lab ต่างชาติตื่นตัว

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การสร้างความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมให้กับผู้ซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ถือเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดในการสร้าง และขยายธุรกิจนี้ให้เติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน

ดังนั้นมาตรฐานด้านการตรวจสอบจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยมอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ผลักดันมาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า หรือ GIT STANDARD ให้เป็นมาตรฐานในระดับประเทศเทียบเท่าสากล โดยได้ดำเนินโครงการมาเป็นปีที่ 3 ทั้งนี้ยังได้สนับสนุนให้ห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า ทั้งในสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน นำมาตรฐาน GIT STANDARD ไปใช้เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้กับห้องปฏิบัติการและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย

โดยวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา สถาบันได้จัดการเสวนาภายใต้โครงการ "การส่งเสริมการนำมาตรฐานห้องปฏิบัติการไปทดสอบผลิตภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อสร้างความมั่นใจและสร้างความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอัญมณีและเครื่องประดับ" โดยมีห้องปฏิบัติการที่ผ่านเกณฑ์ขึ้นทะเบียนมาตรฐาน GIT STANDARD จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ห้องปฏิบัติการอัญมณี คณะอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา ห้องปฏิบัติการ บริษัท เอ็มทีเอส รีไฟเนอรี่ แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ห้องปฏิบัติการ บริษัท พรีเชียส พลัส จำกัด ห้องปฏิบัติการ บริษัท รีฟายนิ่งโลหะมีค่า จำกัด และ ห้องปฏิบัติการ บริษัท จีซีไอ แล็บ จำกัด มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ และประสบการณ์ในการนำมาตรฐานห้องปฏิบัติการไปใช้จริง ซึ่งได้รับความสนใจจากห้องปฏิบัติการทั้งจากสถาบันการศึกษา และห้องปฏิบัติการต่างประเทศที่มีสาขาในประเทศไทย อาทิ GFCO GEM LAB Co., Ltd. จากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และ Gemological Institute of America (GIA) จากประเทศสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมงานและยังสนใจที่จะนำ GIT STANDARD ไปประยุกต์ใช้ในการอ้างอิงการทดสอบ เพื่อยกระดับมาตรฐานการตรวจสอบให้เทียบเท่าระดับสากล

"ปัจจุบันสถาบันได้ดำเนินการจัดทำและประกาศใช้มาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบ อัญมณี เครื่องประดับและโลหะมีค่า และมาตรฐานด้านหลักเกณฑ์ จำนวน 22 ขอบข่าย และมีนโยบายการขยายขอบข่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงมาตรฐานไปสู่ภาคสถาบันการศึกษาหรือภาครัฐ และขยายขอบข่ายการพัฒนามาตรฐานในภาคอุตสาหกรรม จนกระทั่งสามารถนำไปปฏิบัติใช้หรือขอรับรองมาตรฐานได้ ซึ่งเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับของโลก" นายสินิตย์ กล่าว

รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถเข้าไปดูได้ที่ www.gitstandard.com หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02 634 4999 ต่อ 451 - 456