บีจีไอ กรุ๊ป เซ็น MOU ในอินโดนีเซีย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาจีโนมิกส์

21 Nov 2022

บีจีไอ กรุ๊ป (BGI Group) ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) รวม 3 ฉบับก่อนการประชุมสุดยอดจี 20 ที่บาหลี ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย มหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย และสถาบันเทคโนโลยีเดล (Institut Teknologi Del) ครอบคลุมความริเริ่มในการพัฒนาจีโนมิกส์ สร้างห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงการร่วมวิจัยและฝึกอบรมบุคลากร

การลงนามครั้งนี้มีคุณลูฮัต บินซาร์ ปันด์ไจตัน (Luhut Binsar Pandjaitan) รัฐมนตรีประสานงานกระทรวงกิจการทางทะเลและการลงทุนของอินโดนีเซีย คุณบูดี กุนาดี ซาดิคิน (Budi Gunadi Sadikin) รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย และคุณหวัง เจี้ยน (Wang Jian) ประธานและผู้ร่วมก่อตั้งบีจีไอ กรุ๊ป เป็นสักขีพยาน

คุณหวัง เจี้ยน ยังได้กล่าวระหว่างการประชุมสุดยอดทริ ฮิตา คารานา ฟิวเจอร์ โนว์เลดจ์ ซัมมิต (Tri Hita Karana (THK) Future Knowledge Summit) ที่บาหลี ซึ่งมีขึ้นนอกรอบการประชุมจี 20 โดยได้กล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น การหาลำดับเซลล์เดียวและสเปชิโอเทมโพรัล โอมิกส์ (spatiotemporal omics) รวมถึงผลกระทบที่เทคโนโลยีเหล่านี้มีต่อการแพทย์แม่นยำ สาธารณสุข และเครื่องมือการเกษตรยุคหน้า

กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียได้ประกาศให้จีโนมิกส์เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงทางการแพทย์ โดยเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2565 อินโดนีเซียได้จัดตั้งโครงการชีวการแพทย์แบบบูรณาการระดับชาติโครงการแรกอย่าง "Biomedical and Genome Science Initiative" (ความคิดริเริ่มด้านชีวการแพทย์และวิทยาศาสตร์จีโนม หรือ BGSi) ซึ่งบริษัทเอ็มจีไอ เทค (MGI Tech Co.) ในเครือบีจีไอ กรุ๊ป เป็นหนึ่งในพันธมิตรแพลตฟอร์มการจัดลำดับที่ได้รับมอบหมายในโครงการริเริ่มนี้

บีจีไอ กรุ๊ป เป็นผู้บุกเบิกด้านชีววิทยาศาสตร์ เป็นหนึ่งในองค์กรเทคโนโลยีชีวภาพชั้นนำของโลกที่มีการดำเนินงานครอบคลุมการวิจัย การผลิต และการประยุกต์ใช้ในกว่า 100 ประเทศและภูมิภาค บีจีไอ กรุ๊ป มีผลงานในเรื่องการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่ก้าวล้ำ การวิจัยเชิงนวัตกรรมเกี่ยวกับจุลชีววิทยาและความหลากหลายทางชีวภาพ บริการตรวจวินิจฉัยเพื่อติดตามไวรัสและโรค การพัฒนาเทคโนโลยีรุ่นต่อไปสำหรับการจัดลำดับยีนขนาดใหญ่ และเทคโนโลยีเชิงพื้นที่แบบใหม่อย่าง Stereo-seq ทั้งนี้ บีจีไอได้รับการจัดอันดับเป็นบริษัทอันดับ 1 ในเอเชียแปซิฟิก และอันดับที่ 8 ของโลก เมื่อประเมินจากจำนวนเอกสารการวิจัยทางวิทยาศาสตร์คุณภาพสูงด้านชีววิทยาศาสตร์ในดัชนีเนเจอร์ (Nature Index) ประจำปี 2565