CITT จับมือ PIM และพันธมิตร จัดประชุมวิชาการระดับชาติ (NCIT 2022) ครั้งที่ 14 และระดับนานาชาติ (InCIT 2022) ครั้งที่6 ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

18 Nov 2022

CITT จับมือ PIM และพันธมิตร จัดประชุมวิชาการระดับชาติ (NCIT 2022) ครั้งที่ 14 และระดับนานาชาติ (InCIT 2022) ครั้งที่6 ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เวทีนำเสนองานวิจัยเทคโนโลยีอัจฉริยะต่อยอดสู่นวัตกรรมแห่งอนาคต

CITT จับมือ PIM และพันธมิตร จัดประชุมวิชาการระดับชาติ (NCIT 2022) ครั้งที่ 14 และระดับนานาชาติ (InCIT 2022) ครั้งที่6 ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

สภาคณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย (CITT) ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) สมาคมคอมพิวเตอร์ สถาบันวิชาชีพวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (IEEE Computer Society) สมาคมสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอีเล็คโทรนิคส์แห่งประเทศไทย (IEEE Thailand Section) สมาคมวิชาการไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม และสารสนเทศแห่งประเทศไทย (ECTI Association) และสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) จัดงานการประชุมวิชาการระดับนานาชาติทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (The 6th International Conference on Information Technology : InCIT 2022) ครั้งที่6 และการประชุมวิชาการระดับชาติทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (The 14th National Conference on Information and Technology : NCIT 2022) ครั้งที่14 เวทีระดับนานาชาติสำหรับการแบ่งปันบทความวิจัยในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ดิจิทัลและคอมพิวเตอร์ พร้อมส่งเสริมงานวิชาการที่ครอบคลุมเทคโนโลยีอัจฉริยะและนวัตกรรมเพื่ออนาคตของสังคม สำหรับปีนี้มีบทความวิจัยระดับนานาชาติจำนวน 100 บทความ ทั้ง Onsite และ Online อาทิ ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฟินแลนด์ เยอรมัน และจอร์แดน โดยมีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี สภาคณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 4/2565, กิจกรรม Workshop สำหรับนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ, การนำเสนองานวิจัย, การมอบรางวัลนักศึกษา IT ดีเด่น ประจำปีการศึกษา 2564, การมอบรางวัล "Senior Project Showcase ประจำปีการศึกษา 2565 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 พฤศจิกายน 2565 ณ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ถนนแจ้งวัฒนะ

รองศาสตราจารย์ ดร. สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ประธานเปิดงานและกล่าวต้อนรับว่า "พีไอเอ็มให้ความสำคัญกับด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม เพื่อสอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก อาทิ ด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร ด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ และด้านบทบาทการเงิน พีไอเอ็มในฐานะเจ้าบ้านเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้ร่วมจัดงานสำคัญนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสังคม เศรษฐกิจ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานจะบรรลุวัตถุประสงค์ไปได้ด้วยดี"

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.พิสิษฐ์ ชาญเกียรติก้อง นายกสมาคมสภาคณบดีเทคโนโลยีสารสนเทศ และคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยให้เกิดงานดังกล่าว และเล่าที่มาของสมาคมสภาคณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนสมาชิก 22 มหาวิทยาลัย จากการร่วมมือของมหาวิทยาลัยของภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย สำหรับงานประชุมวิชาการปีนี้ได้รับการตอบรับจากนักวิจัยทั้งนักวิจัยไทยและต่างชาติส่งบทความนับร้อยฉบับ ทั้งนี้ยังคาดหวังว่าตลอด 2 วันของงานจะได้รับการแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อต่อยอดหรือพัฒนาจนเกิดสิ่งใหม่เพิ่มขึ้น

ภายในงานวันแรกมีการบรรยายพิเศษจากวิทยากรด้านเทคโนโลยี ได้แก่ ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ผู้บริหารงานสำนักงาน PDPC ในหัวข้อ Personal Data Protection in Thailand, ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ในหัวข้อ THE GAME CHANGER และรองศาสตราจารย์ ดร.สุภาวดี อร่ามวิทย์ Vice Chair สมาคมสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอีเล็คโทรนิคส์แห่งประเทศไทย (IEEE Thailand Section) ในหัวข้อ Overview of IEEE and IEEE Thailand Section Activities

NCIT 2022 และ InCIT 2022 ได้รับความสนใจจากนักวิจัยที่ร่วมส่งบทความงานวิจัย 125 ฉบับ โดย 5 ลำดับประเทศที่ส่งมากที่สุด ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอินเดีย นับเป็นเวทีที่ร่วมแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านไอทีและคอมพิวเตอร์ เพื่อร่วมกันคาดการณ์อนาคตของความรู้ การวิจัย และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทั้งนี้ยังมีการมอบรางวัลนักศึกษา IT ที่มีคุณธรรม จริยธรรมดีเด่น ประจำปีการศึกษา 2564 เพื่อเชิดชูเกียรตินักศึกษาที่นำความรู้ความสามารถทางด้าน IT ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง สังคม และประเทศชาติ โดยยึดหลักคุณธรรมและจริยธรรมเป็นสำคัญ และรางวัลโครงการประกวด Senior Project Showcase ประจำปีการศึกษา 2565 จำนวน 21 รางวัล แก่นักศึกษาและอาจารย์ของมหาวิทยาลัยภายใต้สมาคมฯ อีกด้วย

องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจของพีไอเอ็มที่มุ่งมั่นให้เกิดผลลัพธ์ในทุกมิติ โดยมีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนด้วยความน่าสนใจของหลักสูตร ความเชี่ยวชาญของคณาจารย์ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายทางการศึกษาที่เข้มแข็ง ประกอบกันเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้แก่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมเป็นเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนสร้างแรงกระตุ้นให้นักวิจัยเกิดการพัฒนาสู่ความก้าวหน้าทางวิชาการที่เปิดกว้างทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ