ตั้งรับสังคมสูงวัยระดับสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัวแพลตฟอร์ม CaregiverThai.com

27 Oct 2022

ตั้งรับสังคมสูงวัยระดับสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัวแพลตฟอร์ม CaregiverThai.com เคียงข้างผู้ดูแลให้ความรู้และพลังใจในการดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อม

ตั้งรับสังคมสูงวัยระดับสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัวแพลตฟอร์ม CaregiverThai.com

แก้ที่มาสาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งรับสังคมสูงวัยระดับสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัวแพลตฟอร์ม CaregiverThai.com เคียงข้างผู้ดูแลให้ความรู้และพลังใจในการดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อม

  • จากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2564 มีผู้มีภาวะสมองเสื่อมจำนวนสูงถึง 680,000 คน
  • com พลังใจสู้สมองเสื่อม แหล่งข้อมูลช่วยผู้ดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อม

เนื่องในวันที่ 21 กันยายน เป็นวันอัลไซเมอร์โลก และวันที่ 29 ตุลาคม เป็นวันหลอดเลือดสมองโลก ทั้งอัลไซเมอร์และความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง ล้วนเป็นสาเหตุหลักของการเกิดภาวะสมองเสื่อม (ประมาณ 90 % ของผู้มีภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด)

ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมสูงถึง 6.8 แสนคน จากประชากรรวม 66.7 ล้านคน (รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2564 โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย) และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำเป็นต้องมีผู้ดูแลทำหน้าที่ดูแลใกล้ชิดทั้งร่างกายและจิตใจ ดังนั้น สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงเปิดตัวแพลตฟอร์มแหล่งข้อมูลช่วยผู้ดูแล CaregiverThai.com พลังใจสู้สมองเสื่อม เคียงข้างให้ความรู้และพลังใจในการดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อม เปิดใช้งานได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาของโครงการวิจัยพัฒนาระบบการดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมแบบบูรณาการตามบริบทสังคมไทยผศ. พญ. สิรินทร ฉันศิริกาญจน สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า "ผู้มีภาวะสมองเสื่อมเพียง 1 คนส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้ชีวิตของสมาชิก  ที่เหลือในครอบครัวด้วย ในปัจจุบัน แม้ภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์จะป้องกันไม่ได้ แต่ภาวะสมองเสื่อม  ที่เกิดจากความเสื่อมของหลอดเลือดสมองร่วมกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD: ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ และภาวะอ้วนลงพุง) สามารถป้องกันและชะลอได้ โดยการควบคุมปัจจัยเสี่ยง (NCD) ให้ดี เมื่อมีอาการสมองเสื่อมแล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่สามารถรักษาให้หายกลับไปเป็นปกติได้ อาการสมองเสื่อมและชีวิตของผู้ป่วย ขึ้นอยู่กับการดูแล ความเข้าใจ และทัศนคติของผู้ดูแลและครอบครัว"

caregiverthai.com เคียงข้างผู้ดูแลเสริมความรู้และพลังใจ

ผศ. พญ. สิรินทร กล่าวถึงที่มาของเว็บไซต์ CaregiverThai.com ว่า "แรงบันดาลใจเกิดจากการที่ได้เห็นความรัก ความเพียรพยายามและความปรารถนาดีของผู้ดูแลซึ่งเป็นครอบครัวของผู้มีภาวะสมองเสื่อม ที่ต้องปรับใจ (เพราะผู้มีภาวะสมองเสื่อมมักจะมีปัญหาอารมณ์และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปแบบไม่คาดคิด) ปรับตัว (เพราะผู้มีภาวะสมองเสื่อมจะบกพร่องในการดำเนินชีวิตของตนเอง) และต้องการคำแนะนำให้ผู้ดูแลสามารถจัดการการดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมได้อย่างมีคุณภาพ CaregiverThai.com จะช่วยพัฒนาตัวผู้ดูแลในครอบครัวเป็นระดับมืออาชีพด้วยความรู้และพลังใจจากเครือข่ายผู้ดูแล

เว็บไซต์ CaregiverThai.com เป็นผลจากการศึกษาของโครงการวิจัยพัฒนาระบบการดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมแบบบูรณาการตามบริบทสังคมไทย ซึ่งพบว่าผู้ดูแลที่มีคุณภาพเป็นหัวใจที่ช่วยชะลออาการสมองเสื่อม และทำให้ผู้มีภาวะสมองเสื่อมมีคุณภาพชีวิตที่ดี คณะทำงานจึงได้ออกแบบและรวบรวมข้อมูลพื้นฐานจำเป็นมาสร้างเป็นแพลตฟอร์มในรูปแบบเว็บไซต์ caregiverthai.com พลังใจสู้สมองเสื่อม โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

  1. "ดูแลหัวใจเธอไปด้วยกัน" - เสริมพลังใจให้ผู้ดูแล แบ่งปันประสบการณ์ แสวงหาความช่วยเหลือจากเครือข่ายผู้ดูแล ดูแลกาย-ใจของตนเองระหว่างการดูแล เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้มีภาวะสมองเสื่อมและผู้ดูแลไปพร้อม ๆ กัน
  2. เป็นแหล่งข้อมูล โดยรวบรวมหัวข้อที่จำเป็นสำหรับผู้ดูแล ข้อมูลสุขภาพ คำแนะนำอุปกรณ์และการใช้ สิทธิสวัสดิการจากรัฐ แหล่งความช่วยเหลือ ปฎิทินการอบรมและกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ทั่วประเทศ

1 พ.ย. เปิดประตูสร้างพลังใจให้ผู้ดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อม นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป เว็บไซต์ CaregiverThai.com พลังใจสู้สมองเสื่อม พร้อมเปิดให้บริการเคียงข้างให้ความรู้และพลังใจในการดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อม สามารถหาคำตอบเรื่องภาวะสมองเสื่อมและการดูแล ประกอบด้วยเนื้อหาหลัก 8 หัวข้อ ดังนี้ 1. เข้าใจภาวะสมองเสื่อม 2. มุมผู้ดูแล 3. รอบรู้เรื่องการดูแล 4. อุปกรณ์ดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อม 5. กฎหมาย/สิทธิ/สวัสดิการ 6. แบบนี้ต้องรีบหาหมอ 7. เอกสารสำหรับดาวน์โหลดเพื่อใช้งาน อาทิ เช็คลิสต์เตรียมรับผู้ป่วยกลับบ้าน ตารางยา ตารางบันทึกความดัน-ชีพจร ฯลฯ และ 8. Caregiver Connect เพื่อช่วยประสานความช่วยเหลือแก่ผู้ดูแลที่ประสบปัญหาได้ เสมือนเป็นเพื่อนคู่คิด ให้ความรู้ คำแนะนำและสร้างพลังใจให้ผู้ดูแล ผ่านเว็บไซต์ที่เข้าถึงได้ทุกเวลา

"ทีมงานคัดเนื้อหาที่รวบรวมไว้เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระผู้ดูแล โดยจะเพิ่มเนื้อหาใหม่ ๆ ที่จำเป็นสำหรับผู้ดูแลอย่างสม่ำเสมอ และเป็นสื่อกลางสร้างชุมชนที่เคียงข้างผู้ดูแล ช่วยแบ่งปันและสนับสนุนกันและกัน ด้วยความปรารถนาอย่างยิ่งว่าจะช่วยเสริมพลังให้ผู้ดูแล พร้อมดูแลหัวใจเธอไปด้วยกัน และสร้างพื้นที่ในบ้านและครอบครัวอันเป็นจุดเริ่มต้นของชุมชนที่เป็นมิตรต่อผู้มีภาวะสมองเสื่อมต่อไป" ผศ. พญ. สิรินทรกล่าวสรุป

บทส่งท้าย

สถานการณ์เมื่อประเทศไทยก้าวสู่ "สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์"  

จากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2564 โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวถึงประชากรสูงอายุในประเทศไทย ดังนี้ "ในปี 2564 ประเทศไทยมีประชากรรวม 66.7 ล้านคน ประชากรสูงอายุของประเทศไทยได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างเร็วมาก เมื่อ 50 ปีก่อน ประเทศไทยมีผู้สูงอายุไม่ถึง 2 ล้านคน แต่ในปี 2564 จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 12.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของประชากรทั้งหมด"

สถานะสุขภาพของผู้สูงอายุจากสถิติที่อยู่ในระบบพบว่า ปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม 6.8 แสนคน เป็นผู้ชาย 2.0 แสนคน ผู้หญิง 4.8 แสนคน และยังไม่นับรวมกับจำนวนผู้มีภาวะสมองเสื่อมที่อายุไม่ถึงเกณฑ์เป็นผู้สูงอายุ เมื่อเทียบกับตัวเลขจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ผู้ดูแลผู้สูงอายุที่เป็นสวัสดิการของรัฐ ประเภทผู้ดูแลผู้สูงอายุ (caregiver) ในปี 2564 มีเพียง 94,968 คน ในปัจจุบันการดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมส่วนใหญ่เป็นการดูแลโดยคนในครอบครัว การเสริมพลังให้ผู้ดูแลกลุ่มนี้ จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมในสังคมไทยอย่างมีประสิทธิผล

การสร้างชุมชนที่เป็นมิตรต่อผู้มีภาวะสมองเสื่อม (Dementia Friendly Community) ในยุคสังคมสูงวัยระดับสมบูรณ์อาจเกิดวิกฤติด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมจากจำนวนผู้มีภาวะสมองเสื่อมที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้การดูแลด้วยครอบครัวหรือสถานดูแลไม่สามารถครอบคลุมได้อีกต่อไป สิ่งที่จะช่วยให้สังคมไทยดำเนินไปได้ตามวัฒนธรรมของเรา คือ การสร้างชุมชนที่มีความเข้าใจ ให้การยอมรับและร่วมดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมให้ดำเนินชีวิตอยู่ในพื้นที่ชุมชนที่คุ้นชินได้นานที่สุดอย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิต และมีความปลอดภัยมากขึ้น โดยบูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วนและภาคประชาชนเพื่อพัฒนาเครือข่ายชุมชนที่เป็นมิตรต่อผู้มีภาวะสมองเสื่อมให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ

ตั้งรับสังคมสูงวัยระดับสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัวแพลตฟอร์ม CaregiverThai.com