มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เดินหน้าจัดการขยะติดเกาะใน "โครงการจัดการขยะและวัสดุรีไซเคิลบนพื้นที่เกาะอย่างยั่งยืน"

12 Oct 2022

มูลนิธิโคคา- โคลา ประเทศไทย องค์กรด้านสาธารณกุศลและความยั่งยืนที่ก่อตั้งโดย บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อจัดทำ โครงการจัดการขยะและวัสดุรีไซเคิลบนพื้นที่เกาะอย่างยั่งยืนในระยะที่สอง ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้แผนงาน "เก็บ" ไทยให้สวยงาม (Keep Thailand Beautiful) ของทางมูลนิธิฯ โดยในระยะที่หนึ่ง (สิงหาคม 2564 - กรกฎาคม 2565) ที่ผ่านมานั้น เป็นการดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และครอบคลุมพื้นที่เฉพาะเกาะสีชัง เกาะช้าง และเกาะหมากในภาคตะวันออก ส่วนในระยะที่สอง (สิงหาคม 2565 - กรกฎาคม 2566) นอกจากจะมีการเพิ่มพื้นที่เกาะล้าน เกาะเสม็ด และเกาะกูด ในภาคตะวันออกแล้ว ยังจะมีการขยายความรวมมือไปยังเกาะลิบง และเกาะหลีเป๊ะ ในภาคใต้ โดยการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อีกด้วย

มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เดินหน้าจัดการขยะติดเกาะใน "โครงการจัดการขยะและวัสดุรีไซเคิลบนพื้นที่เกาะอย่างยั่งยืน"

ภายใต้ความร่วมมือนี้ มูลนิธิโคคา- โคลา ประเทศไทยได้สนับสนุนเงินทุนในการศึกษาแนวทางการจัดการขยะบนพื้นที่เกาะซึ่งมีความท้าทายจากสภาพภูมิศาสตร์ ทำให้จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการด้านการคัดแยกและขนส่งที่แตกต่างจากพื้นที่บนฝั่งทั่วไป โดยเฉพาะมาตรการจูงใจให้เกิดการคัดแยกและนำวัสดุรีไซเคิลกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลบนแผ่นดินใหญ่ หากบริหารจัดการได้ไม่ดีพอ อาจเกิดเหตุปัญหาขยะตกค้างบนเกาะ อันจะเป็นการสูญเสียทรัพยากรที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ตลอดจนเป็นการทำลายทัศนียภาพและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิโคคา-โคลาประเทศไทย จึงได้ริเริ่มทำงานร่วมกับทางศูนย์วิจัยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อประเทศไทยปลอดขยะ (CEWT) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ดำเนินโครงการนำร่องบนเกาะสีชัง เกาะหมาก และ เกาะช้าง ระหว่างเดือนสิงหาคม 2564 ถึง เดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยเน้นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบจัดเก็บ รวบรวมและขนส่งวัสดุ    รีไซเคิลบนเกาะดังกล่าว พร้อมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมจากชุมชน ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างยั่งยืน 

ในโครงการระยะที่หนึ่ง  คณะผู้วิจัยพบว่าค่าใช้จ่ายในการขนส่งวัสดุรีไซเคิลออกจากเกาะเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการส่งเสริมการคัดแยกวัสดุรีไซเคิลบนเกาะ  เนื่องจาก หากค่าขนส่งอยู่ในระดับที่สูง จะทำให้ผู้รับซื้อวัสดุรีไซเคิลต้องรับซื้อในราคาที่ต่ำเพื่อให้คุ้มต่อค่าขนส่ง และเมื่อราคารับซื้อต่ำจนเกินไป ก็จะทำให้ไม่เกิดแรงจูงใจในการจัดเก็บและคัดแยกวัสดุเหล่านี้มากพอ โดยเฉพาะวัสดุที่มีราคาต่ำแต่มีน้ำหนักมาก เช่น เศษแก้ว อันส่งผลให้วัสดุเหล่านี้ตกค้างเป็นขยะอยู่บนเกาะ แทนที่จะถูกนำกลับเข้ามารีไซเคิลบนฝั่ง ฉะนั้น โครงการจึงศึกษาและทดลองให้เงินสนับสนุนค่าเรือขนส่งให้กับร้านรับซื้อของเก่าบนเกาะ เพื่อจูงใจให้มีการเก็บรวบรวมและขนส่งวัสดุรีไซเคิลออกจากเกาะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทางโครงการยังได้จัดฝึกอบรมการแยกขยะให้กับผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวบนเกาะ ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร และรถรับจ้าง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบและสื่อสารให้นักท่องเที่ยวช่วยกันรักษาความสะอาด ลดและคัดแยกขยะ  ความสำเร็จของการดำเนินโครงการในระยะที่หนึ่ง ทำให้เกิดการต่อยอดไปยังพื้นที่เกาะท่องเที่ยวอื่น ๆ ในภาคตะวันออกและภาคใต้  โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาไปสู่โมเดลการแก้ปัญหาขยะติดเกาะอย่างยั่งยืนต่อไป

นายนันทิวัต ธรรมหทัย กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย กล่าวว่า "มูลนิธิ โคคา-โคลา ประเทศไทย เล็งเห็นความสำคัญของแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่เกาะต่าง ๆ ในประเทศไทย อันเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และแหล่งรายได้ที่สำคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เราจึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ความสวยงามเหล่านี้ไว้ ผ่านการดำเนินการตามแผนงาน "เก็บ" ไทยให้สวยงาม (Keep Thailand Beautiful) ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2561 จากการได้เข้ามาดำเนินการอย่างต่อเนื่องในเรื่องนี้ ทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญในการจัดการกับปัญหาขยะติดเกาะ และเรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความกรุณาและความร่วมมือจาก มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการดำเนินการโครงการฯนี้ ในระยะที่สองร่วมกัน เราหวังว่า โครงการฯ นี้จะเป็นการจุดประกายให้มีการศึกษา พัฒนา และความร่วมมือในด้านนี้ต่อไปในวงกว้าง เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมกันเก็บความสวยงามของประเทศไทยให้เป็นความภูมิใจของคนไทยและมรดกทางธรรมชาติที่ประเมินค่ามิได้ให้กับคนรุ่นต่อไปในอนาคต"

ผศ.ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ หัวหน้าศูนย์วิจัย CEWT และหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า " จากการดำเนินงานที่ผ่านมา เราพบปัญหาของระบบการรีไซเคิลในพื้นที่ห่างไกล เช่น เกาะต่าง ๆ ว่าการจะนำวัสดุรีไซเคิลเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลทำได้ยากเนื่องด้วยข้อจำกัดเรื่องค่าขนส่งที่ไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคาที่จำหน่ายได้ แต่ด้วยความร่วมมือจากมูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย รวมทั้งความร่วมมือจากชุมชน หน่วยงาน และผู้ประกอบการในพื้นที่ ทำให้โครงการการจัดการขยะและวัสดุรีไซเคิลบนพื้นที่เกาะอย่างยั่งยืน ในระยะที่หนึ่งบนเกาะนำร่องทั้ง 3 แห่งประสบความสำเร็จ โดยมีร้านรับซื้อวัสดุรีไซเคิลเข้าร่วมทั้งหมด 13 ราย สามารถขนส่งวัสดุรีไซเคิลในช่วงระยะเวลา 7 เดือนแรกของปี 2565 ออกจากเกาะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้โดยในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นเศษแก้วที่ก่อนหน้านี้มีปัญหาในการจัดการบนเกาะ เมื่อระบบการรีไซเคิลมีความสมบูรณ์ขึ้นแล้ว ในระยะที่สอง เราจะเน้นการทำงานร่วมกับชุมชนและผู้ประกอบการในท้องถิ่น ที่จะช่วยประชาสัมพันธ์ และกระตุ้นเตือนให้นักท่องเที่ยว มีส่วนร่วมในการแยกขยะอย่างถูกต้องเหมาะสมระหว่างที่ใช้เวลาท่องเที่ยวอยู่บนเกาะ พร้อมกับต่อยอดและขยายผลให้ครอบคลุมพื้นที่เกาะมากขึ้น เราเชื่อมั่นว่าโมเดลจัดการขยะบนเกาะของทางโครงการจะสามารถ นำไปประยุกต์กับพื้นที่เกาะอื่น ๆ ได้เพื่อให้เกิดรูปแบบการจัดการขยะติดเกาะที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่"

ผศ.ดร.ชนิษฎา ชูสุข อาจารย์ประจำคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า "มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยเองก็ดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นการแก้ปัญหาขยะบนเกาะท่องเที่ยวในภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกาะหลีเป๊ะ ที่ถือได้ว่าเป็นเกาะท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันก็ประสบปัญหาขยะล้นเกาะอย่างรุนแรง ด้วยอุปสรรคในการนำขยะออกจากเกาะรวมถึงปริมาณนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมาก ส่วนเกาะลิบงก็มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นเกาะที่พยูน สัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธ์อาศัยอยู่มากที่สุดแล้ว ทรัพยากรธรรมชาติบนเกาะและใต้ท้องทะเลที่นี่ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด  เป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง ด้วยความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับทั้งสองเกาะในการจัดการขยะและวัสดุรีไซเคิลให้ถูกต้อง เพื่ออนุรักษ์เกาะท่องเที่ยว ทรัพยากรธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์เช่นนี้ต่อไป"

ด้วยความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาขยะติดเกาะเพื่ออนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามของประเทศไทย โครงการจัดการขยะและวัสดุรีไซเคิลบนพื้นที่เกาะอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการ "เก็บ" ไทยให้สวยงาม (Keep Thailand Beautiful) ผสานร่วมมือในการทำงานกับร่วมกับชุมชน พร้อมเสริมสร้างความตระหนักรู้ให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมในการจัดการขยะเชิงบูรณาการ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมที่จะช่วยลดปัญหาขยะติดเกาะได้อย่างยั่งยืน สามารถติดตามกิจกรรมของโครงการ ได้ที่ https://www.facebook.com/TidyHandsSaveIslands

มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เดินหน้าจัดการขยะติดเกาะใน "โครงการจัดการขยะและวัสดุรีไซเคิลบนพื้นที่เกาะอย่างยั่งยืน"