GPSC เปิดเวทีประชันเยาวชนนักประดิษฐ์นวัตกรรม YSI 2022 454 ทีมลงสนามแข่งเหลือ 30 ทีมเข้าแคมป์เจียระไนผลงาน

12 Sep 2022

GPSC เปิดสนามประลองนักประดิษฐ์เยาวชนรุ่นใหม่ YSI 2022 คัดเหลือ 30 ทีม จากโรงเรียนทั่วประเทศ ร่วมส่งผลงานประกวด 454 ทีม เตรียมเปิดแคมป์เฟ้นหาผู้ชนะ เข้าสู่รอบชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ช่วงต้นปี 2566 พร้อมผลักดันผลงานเด่นเข้าแข่งเวทีนานาชาติ สร้างชื่อนักพัฒนานวัตกรรมด้านการใช้พลังงานและทรัพยากร สู่เป้าหมาย Net Zero

GPSC เปิดเวทีประชันเยาวชนนักประดิษฐ์นวัตกรรม YSI 2022  454 ทีมลงสนามแข่งเหลือ 30 ทีมเข้าแคมป์เจียระไนผลงาน

นายณรงค์ชัย วิสูตรชัย ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสรัฐกิจสัมพันธ์และกิจการสาธารณะ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้จัดกิจกรรมค่าย GPSC YSI Camp ในโครงการ GPSC Young Social Innovator 2022 ปีที่ 5 ผ่านระบบออนไลน์แพลตฟอร์มเมตาเวิร์สบนโลกเสมือนจริง ภายใต้แนวคิด "พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Sustainable Energy, Natural Resource and Environment)" ที่ได้รับความสนใจจากสถาบันการศึกษาและเยาวชนเป็นจำนวนมาก ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในโครงการฯ จำนวน 454 ทีมจากทั่วประเทศ และมีผู้เข้าแข่งขันที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกรอบแรกจำนวน 30 ทีม ใน 3 ประเภทของผลงานประกอบด้วย ผลงานสร้างสรรค์ด้านผลิตภัณฑ์ (Product) สิ่งประดิษฐ์ (Invention) และ กระบวนการ & วิธีการ (Process & Service) ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้กับเยาวชนอายุ 15-20 ปี สร้างสรรค์ชิ้นงานที่สามารถนำไปพัฒนา หรือแก้ไขปัญหาให้กับสังคมได้อย่างแท้จริง

สำหรับผู้เข้าแข่งขันที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก จำนวน 30 ทีม ใน 6 ภูมิภาค ประกอบไปด้วย ภาคกลาง จำนวน 6 ทีม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี และสระบุรี ภาคตะวันตก จำนวน 2 ทีม ได้แก่ เพชรบุรี ภาคตะวันออก จำนวน 2 ทีม ได้แก่ ฉะเชิงเทรา และระยอง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 ทีม ได้แก่ ขอนแก่น นครพนม มุกดาหาร เลย และอำนาจเจริญ ภาคใต้ จำนวน 6 ทีม ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และสตูล และภาคเหนือ จำนวน 9 ทีม ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ และพิษณุโลก โดยมีการแบ่งตามประเภทผลงาน ได้แก่ ประเภทผลิตภัณฑ์ 10 ทีม ประเภทสิ่งประดิษฐ์ 10 ทีม และประเภทกระบวนการ & วิธีการ 10 ทีม ซึ่งทั้ง 30 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องสร้างสรรค์ผลงานตามเกณฑ์เพื่อเสนอเข้าชิงรางวัลในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนมกราคม 2566

โดยทีมที่ชนะเลิศการประกวดในปีนี้ จะได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมประกาศเกียรติคุณ โดย GPSC มอบเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท และเงินพัฒนาผลงาน 10,000 บาท จำนวน 3 รางวัล ใน 3 ประเภทการแข่งขัน ส่วนทีมที่เหลือจะได้รับเหรียญรางวัลทอง เงิน และทองแดงตามลำดับคะแนน เกียรติบัตร พร้อมเงินพัฒนาผลงาน 10,000 บาท นอกจากนี้ ทีมที่ชนะเลิศการประกวด ยังได้รับโอกาสส่งผลงานเข้าแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติ และโอกาสในการพัฒนาผลงาน เพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนต่อไป

ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการที่ผ่านมา สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยด้วยการคว้ารางวัลระดับนานาชาติมาแล้วจำนวน 22 รางวัล จากเวทีต่างๆ จากหลายหลายประเทศ อาทิ เวที Seoul International Invention Fair เวที World Invention Innovation Contest และเวที International British Innovation, Invention, Technology Exhibition หรือ IBIX อีกทั้งหลายผลงานมีการพัฒนาต่อยอดเชิงธุรกิจ สร้างรายได้ให้กับสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม สอดรับกับแนวทางของบริษัทฯ ที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อมที่สามารถนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำไปสู่การต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่ม ตามหลัก ESG (Environmental, Social, Governance) ที่ GPSC ยึดมั่นในการขับเคลื่อนธุรกิจ มุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2060

GPSC เปิดเวทีประชันเยาวชนนักประดิษฐ์นวัตกรรม YSI 2022  454 ทีมลงสนามแข่งเหลือ 30 ทีมเข้าแคมป์เจียระไนผลงาน