ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี ในงาน Digital Transformation Summit 2022 มุ่งยกระดับเทรนด์ดิจิทัลขององค์กร

01 Sep 2022

การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีหรือ Digital Transformation ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางขององค์กร เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบัน เทคโนโลยีสามารถเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านการสื่อสารและช่วยเติมเต็มให้ผู้บริหารและบุคลากรขององค์กรสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างสะดวก รวดเร็วและต่อเนื่อง

ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี ในงาน  Digital Transformation Summit 2022 มุ่งยกระดับเทรนด์ดิจิทัลขององค์กร

ภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย จึงเล็งเห็นความสำคัญในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางด้านดิจิทัล ทั้งในด้าน People-Process-Technology เพื่อร่วมจุดประกายไอเดียสู่การต่อยอดในการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ และเปลี่ยนโฉมองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.ลิสา พัทธ์วิวัฒน์ศิริ รองผู้จัดการใหญ่ด้านปฏิบัติการและเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ "Technology trend for digital transformation" ในงาน Digital Transformation Summit 2022 ณ โรงแรมพลาซ่าแอทธินี ซึ่งจัดโดยสมาคมซีไอโอไทย (Thai Chief Information Association หรือ TCIOA) เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ผ่านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในองค์กร

การนำดิจิทัลมาใช้ในองค์กร

ดร.ลิสา เริ่มต้นว่า องค์ประกอบหลักในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในองค์กร มีอยู่ 4 อย่างด้วยกัน ได้แก่ 1.People เพราะคนจะเป็นผู้ขับเคลื่อนให้เทคโนโลยีเดินไปข้างหน้าได้ 2.Process กระบวนการทำงาน เราต้องคิดต่อเนื่องว่าเมื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ในวันนี้แล้ว จะออกแบบกระบวนการต่อไปอย่างไรให้มีความเหมาะสมกับกระบวนการทำงานในองค์กร 3.Technology โดยที่เทคโนโลยีที่เราจะนำมาใช้ไม่จำเป็นต้องมีมูลค่าแพงที่สุด แต่ต้องเหมาะสมกับองค์กร และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และ 4.Data การจัดฐานข้อมูลที่ดี เพราะหลายคนจะคิดว่า เราเปลี่ยนการทำงานจากการใช้กระดาษ (Offline) มาทำงานผ่านคอมพิวเตอร์ (Online) คือการทำ Digital Transformation แล้ว แต่สิ่งสำคัญคือการนำฐานข้อมูลเดิมที่มีอยู่ เช่น ฐานข้อมูลลูกค้า สถานะทางการเงิน ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ฯลฯ มาใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เทรนด์ดิจิทัลสำหรับองค์กร

หนึ่งในดิจิทัลเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้งานใน TGH มีอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.Robotic Process Automation (RPA) หรือ แรงงานหุ่นยนต์ดิจิทัล ที่เราสามารถตั้งระบบให้หุ่นยนต์สามารถเข้ามาทำงานในส่วนที่เป็นขั้นตอนที่ทำเหมือนเดิม ซ้ำๆ ในทุกๆ วัน แต่ก็ไม่ใช่ทุกกระบวนการหรือขั้นตอนงานที่หุ่นยนต์สามารถทำแทนมนุษย์ได้ ดังนั้นคนจึงยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำการตัดสินใจ จากความเข้าใจในพฤติกรรมของลูกค้าที่แท้จริง

2.Digital Workflow หรือ กระบวนการทำงานที่มีขั้นตอนการไหลของงาน (workflow) แบบดิจิทัล โดยทางบริษัทได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับรูปแบบและขั้นตอนการทำงาน โดยกระบวนการทำงานที่ไม่ซับซ้อนมาก เราสามารถพัฒนาได้ภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งนอกจากจะทำให้พนักงานสามารถทำงานแบบ Work from anywhere ได้ทุกที่ เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่มีการติดเชื้อแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและรุนแรงแล้ว ยังช่วยลดเวลาและขั้นตอนในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ จากเดิมที่ใช้เวลาหลายวัน สามารถลดลงได้เหลือเพียงไม่กี่ชัวโมง นอกจากนี้ยังมีการนำ Line Official Account หรือ LINE OA มาใช้เพื่อให้ลูกค้าสามารถทำบริการได้ด้วยตัวเอง โดยเอกสารที่ลูกค้า upload ผ่าน LINE OA จะสามารถส่งข้อมูลไปให้เจ้าหน้าที่ได้โดยตรงผ่านทางระบบ Digital Workflow ที่พัฒนาไว้

การเริ่มต้นนำดิจิทัลมาใช้

ดร.ลิสา กล่าวว่าการเริ่มต้นที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในองค์กร สามารถทำได้ 2 รูปแบบคือ แบบที่ 1 Enforcement คือในสถานการณ์ที่องค์กรเจอวิกฤตต่างๆ การนำเทคโนโลยีมาใช้ จะทำให้องค์กรสามารถแก้ปัญหาวิกฤต รวมทั้งบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนแบบที่ 2 Get Buy In คือการที่เราแนะนำ ให้ความรู้เรื่องเทคโนโลยีดังกล่าวให้กับพนักงานในองค์กร เพื่อให้พนักงานเข้าใจในวัตถุประสงค์ และประโยชน์ที่จะได้รับ และมาเป็นส่วนหนึ่งในการนำเทคโนโลยีนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน และตอบโจทย์การแข่งขันในระยะยาว

โดยตอนที่ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เริ่มต้นนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้งาน เราจัดคอร์สให้ผู้ใช้งานทุกคนมาร่วมพูดคุยกัน พร้อมอธิบายว่าระบบดิจิทัลคืออะไร มีวิธีการใช้งานและสามารถตอบโจทย์การทำงานและองค์กรอย่างไร หลังจากนั้นก็ให้แต่ละทีม ส่งรายชื่อกระบวนการหรือขั้นตอนงานที่ทีมคิดว่าสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้งานได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือทุกคนในองค์กรต้องร่วมมือกัน จึงจะสามารถขับเคลื่อน Digital Transformation ได้

สร้าง Mindset ร่วมกัน

ดร.ลิสา กล่าวทิ้งท้ายในงานเสวนาว่า การสร้างแนวความคิดที่มีผลต่อพฤติกรรม (Mindset) มี 3 ขั้นตอนหลัก คือ(1) การทำให้ทุกคนในองค์กรเห็นภาพที่ชัดเจนก่อนว่า เราจะทำ Digital Transformation ไปเพื่ออะไร (2) ผู้บริหารสูงสุดและผู้บริหารในแต่ละสายงาน ต้องมีความเข้าใจร่วมกันในเป้าหมายของการทำ Digital Transformation และ (3) การสื่อสารเพื่อส่งผ่านนโยบายให้พนักงานเพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันได้ ไม่ใช่ใส่เพียงแค่วัดผล KPI องค์กร

ที่สำคัญที่สุดคือ ทำอย่างไรให้ทุกคนรู้ว่า Digital Transformation มีประโยชน์ต่อเรา ถ้าเราสื่อสารได้อย่างถูกต้องและชัดเจน Mindset ที่ดีจะตามมา และถ้าองค์กรไหนยังไม่เริ่มทำ ขอให้ทำไปเลย ผ่านการเรียนรู้และเริ่มลงมือทำ เตรียมความพร้อมให้แก่พนักงาน อย่ารอพร้อม เพราะความพร้อมเป็นสิ่งที่ต้องสร้างร่วมกัน

ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี ในงาน  Digital Transformation Summit 2022 มุ่งยกระดับเทรนด์ดิจิทัลขององค์กร
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit