สถาบันการบินพลเรือน จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยเรื่อง "การฝึกอบรมภาคปฏิบัติของหลักสูตรนายช่างภาคพื้นดิน ในสถานประกอบการจริง " กับบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด

08 Aug 2022

สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยเรื่อง "การฝึกอบรมภาคปฏิบัติของหลักสูตรนายช่างภาคพื้นดิน ในสถานประกอบการจริง" กับบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด โดยมี นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน และ พลอากาศเอกศุภชัย สายเงิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด เป็นผู้ร่วมลงนาม พร้อมด้วย นาวาอากาศโทกานต์ การุณพักตร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด ร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมด้วยผู้บริหาร สบพ. ร่วมเป็นเกียรติในการลงนามดังกล่าว เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 ณ สบพ. กรุงเทพฯ

สถาบันการบินพลเรือน จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยเรื่อง "การฝึกอบรมภาคปฏิบัติของหลักสูตรนายช่างภาคพื้นดิน ในสถานประกอบการจริง " กับบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด

การจัดพิธีลงนามครั้งนี้ เป็นการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมมือว่าด้วยเรื่อง "การฝึกอบรมภาคปฏิบัติของหลักสูตรนายช่างภาคพื้นดิน ในสถานประกอบการจริง" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันผลิตบุคลากรช่างอากาศยานของไทยให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยาน และยกระดับมาตรฐานการฝึกอบรมการซ่อมบำรุงอากาศยานภาคปฏิบัติขั้นพื้นฐานในประเทศไทย พัฒนาทักษะการซ่อมบำรุงอากาศยานอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นปัจจุบันให้กับนักศึกษาสถาบันการบินพลเรือน โดยให้มีการฝึกอบรมในสถานประกอบการจริง รวมถึงพัฒนาศักยภาพของบุคลากรร่วมกันทั้งสองฝ่าย ได้แก่ ช่างอากาศยาน วิศวกรอากาศยาน และบุคลากรของสถานประกอบการ รวมทั้งบุคลากร ครูวิชาภาคพื้น และช่างของสถาบันการบินพลเรือน

นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ จะสามารถส่งเสริม และสนับสนุนการจัดหลักสูตรนายช่างภาคพื้นดิน รวมถึงการพัฒนาบุคลากร การจัดหาอุปกรณ์และครุภัณฑ์ประกอบที่สนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานได้ตามมาตรฐานในฐานะที่สถาบันการบินพลเรือนได้รับการรับรองให้เป็นสถาบันฝึกอบรมนายช่างภาคพื้นดินจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย โดยใช้ทรัพยากรร่วมกันของทั้งสองฝ่าย หรือ Synergy เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ อันนำไปสู่การเกิดผลสัมฤทธิ์ พร้อมนำเทคโนโลยี และความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงานมาบูรณาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านช่างอากาศยาน หรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และจะช่วยให้หลักสูตรที่ดำเนินการดังกล่าวมีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อไป