วศ. ร่วมกับคณะร่างมาตรฐาน คณะที่ 35 ลงพื้นที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเส้นใยกัญชง

05 Aug 2022

วันที่ 1-3 สิงหาคม 2565 กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะองค์กรกำหนดมาตรฐาน (SDO) ประเภทขั้นสูงโดย ดร.จริยาวดี ศิริจันทรา ผู้อำนวยการกองพัฒนาธุรกิจวิทยาศาสตร์บริการ และดร.สุวรรณี แทนธานี กองพัฒนาธุรกิจวิทยาศาสตร์บริการ ร่วมกับคณะผู้จัดทำร่างมาตรฐาน คณะที่ 35 มาตรฐานผลิตภัณฑ์เฮมพ์กรีต และมาตรฐานผลิตภัณฑ์เฮมพ์ปาติเกิ้ลบอร์ด ประกอบด้วย ดร.ประชุม คำพุฒ ผู้อำนวยการหน่วยจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี รศ.ดร.เกียรติสุดา สมนา อาจารย์สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน คุณธวัชชัย อริยะสุทธิ กรรมการผู้จัดการบริษัทอริยะสุทธิอินเตอร์เทรด ได้เดินทางลงพื้นที่สร้างเครือข่ายบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์กัญชงให้มีคุณภาพและสามารถผลิตแข่งขันได้ในเชิงพาณิชย์ โดยมีคุณดวงฤทัย ภูมิพิเชฐ กรรมการผู้จัดการบริษัทเฮมพ์ไทย จำกัด และคุณศักดิ์ชัย แก้วกลม รองประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปพืชเกษตรพบพระ ให้การต้อนรับและร่วมสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานในพื้นที่ ณ เฮมพ์ไทยฟาร์ม และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปพืชเกษตรพบพระ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก

วศ. ร่วมกับคณะร่างมาตรฐาน คณะที่ 35 ลงพื้นที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเส้นใยกัญชง

เฮมพ์ (hemp) หรือกัญชง (Cannabis sativa L. subsp. Sativa) เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรในอนาคต เพราะทุกส่วนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในกลุ่มอุตสาหกรรมได้อย่างหลากหลาย อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมคอมโพสิทเสริมแรงด้วยเส้นใยกัญชง กลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันกัญชงและสารสกัด เป็นต้น โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 คณะผู้จัดทำร่างมาตรฐานคณะที่ 35 ได้ดำเนินการจัดทำร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์เฮมป์ครีตบล็อก และเฮมป์ พาติเคิลบอร์ด ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากแกนกัญชงใช้ทดแทนวัสดุก่อสร้าง ซึ่งในการลงพื้นที่ ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งด้านระบบการผลิต การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ขั้นตอนการแปรรูปผลผลิต อัตราผลผลิตต่อไร่ เพื่อการคำนวณต้นทุนผลิตภัณฑ์ แต่ยังขาดองค์ความรู้ในเรื่องส่วนประกอบและสมบัติของเส้นใยกัญชงที่ปลูกในประเทศไทยเพื่อเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพของวัตถุดิบ และยังมีความต้องการการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์ในระดับอุตสาหกรรม รวมทั้งแนวคิดในการนำเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์มมิ่งมาช่วยส่งเสริมกระบวนการผลิตกัญชงเพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น

จากนั้นคณะฯ ได้เดินทางลงพื้นที่เยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปพืชเกษตรพบพระ ซึ่งเป็นกลุ่มแปรรูปแกนกัญชงและขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้สำหรับการตกแต่งภายในอาคาร โดยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากมทร.ธัญบุรี นอกจากนี้ คุณดวงฤทัย ได้พาคณะเข้าเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ "โครงการ ฟาร์มต้นแบบ (3)" หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา "โคก หนอง นา บานาน่าโมเดล" ณ ศูนย์การเรียนรู้ฯ นพค.33 สนภ.3 นทพ. ตำบลพระธาตุผาแดง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งได้เรียนรู้รูปแบบการจัดการน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ทุเรียน กล้วยหอม การเลี้ยงสัตว์ การทอผ้าจากเส้นใยกัญชง โดยต้องการเทคโนโลยีการผลิตเส้นใย การย้อมสี และการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้าทอให้มีรูปแบบที่สวยงามและมีคุณภาพ รวมทั้งได้การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมด้านอาชีพให้แก่ทหารและการขยายผลสู่ชุมชนในพื้นที่จังหวัดตากและจังหวัดใกล้เคียงต่อไป

วศ. ร่วมกับคณะร่างมาตรฐาน คณะที่ 35 ลงพื้นที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเส้นใยกัญชง