ม.มหิดล เติมเต็มสุขภาวะผู้ใช้แรงงาน จัดอบรมออนไลน์ตรวจสมรรถภาพการได้ยินในงานอาชีวอนามัย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

27 Jul 2022

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้กำหนดให้เสียงที่ดังเกิน 85 dBA (เดซิเบลเอ) เป็นเสียงที่เป็นอันตราย จึงกลายเป็นที่มาของข้อกำหนด เพื่อสุขภาวะของผู้ใช้แรงงานทั่วโลก ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน(SDGs) แห่งสหประชาชาติ ข้อที่ 3 ที่ว่าด้วยเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งครอบคลุมเรื่องการลดการป่วยจากมลพิษต่างๆ

ม.มหิดล เติมเต็มสุขภาวะผู้ใช้แรงงาน จัดอบรมออนไลน์ตรวจสมรรถภาพการได้ยินในงานอาชีวอนามัย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

รองศาสตราจารย์ ดร.อรวรรณ แก้วบุญชู รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ และอาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้สอนหลักรายวิชาออนไลน์ "การตรวจสมรรถภาพการได้ยินในงานอาชีวอนามัย"

ซึ่งเปิดให้ผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ พยาบาลอาชีวอนามัย และเจ้าหน้าที่สุขภาพจากหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ เข้ารับการอบรมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผ่าน MUx โดยได้กล่าวถึงประเด็นที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับเรื่องสุขภาวะแรงงานไทยว่าแม้กฎหมายแรงงานไทย ได้กำหนดให้นายจ้างจัดให้มีการเฝ้าระวังการได้ยิน โดยให้ดำเนินการทดสอบสมรรถภาพการได้ยินแก่ลูกจ้างอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง แต่พบว่ายังไม่ได้มีการกำหนดมาตรฐานคุณสมบัติของผู้ทดสอบแต่อย่างใด

มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะสาธารณสุขศาสตร์ ถือเป็นภารกิจสำคัญในการริเริ่มจัดอบรมออนไลน์ที่ได้มาตรฐานในเรื่องดังกล่าว โดยเชื่อมั่นว่าจากประสบการณ์ และผลงานด้านการส่งเสริมสุขภาวะเพื่อปวงชนชาวไทยของคณะฯตลอดเวลากว่า

7 ทศวรรษ จะสามารถมอบองค์ความรู้ที่ประชาชนสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด นอกจากนี้ หวังให้นายจ้างนำไปใช้เพื่อการวางแผนสุขภาพให้เกิดความยั่งยืนต่อไปอีกด้วย

เนื่องจากเสียงที่ดังเกิน 85 dBA อาจก่อให้เกิดอันตรายกฎหมายจึงได้กำหนดให้ต้องควบคุมระดับเสียง ไม่ให้มีการทำงาน

ในที่มีเสียงดังเกิน 85 dBA ต่อเนื่องกันเกิน 8 ชั่วโมง และต้องจัดให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเพื่อลดเสียงให้อยู่ในระดับที่ไม่เกินมาตรฐาน

รองศาสตราจารย์ ดร.อรวรรณ แก้วบุญชู กล่าวว่า อุปกรณ์ที่ใช้เพื่อการลดเสียงเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยพบว่า อุปกรณ์ลดเสียงแบบ Earplugs ที่ใช้อุดหู สามารถลดเสียงได้ประมาณ15 dBA และแบบ Earmuffs ที่ครอบหู สามารถลดเสียงได้ถึง30 dBA

นอกจากการป้องกันที่ตัวบุคคลแล้ว ยังควรคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ที่มาหรือแหล่งกำเนิด" ของเสียงดังที่เกิดขึ้น

โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อทำให้เกิดเสียงดังลดลง จัดหาวัสดุป้องกันเสียงมาปิดล้อมเครื่องจักร สร้างห้องเก็บเสียง หรือผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเวลาให้ลูกจ้างต้องเผชิญ

กับเสียงดังได้น้อยลง ฯลฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม และลักษณะของการทำงานแต่ละประเภทที่แตกต่างกันด้วย

จุดเด่นของรายวิชาออนไลน์ "การตรวจสมรรถภาพการได้ยินในงานอาชีวอนามัย" นอกจากการเปิดอบรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแล้ว ยังได้ออกแบบให้มีครบทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ซึ่งในภาคทฤษฎีนั้น ได้มีการสาธิตให้ผู้เรียนสามารถฝึกปฏิบัติตามได้โดยง่าย และหลังจากจบบทเรียนทั้งหมดแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ส่งคลิปการฝึกปฏิบัติกลับมาให้ผู้สอนประเมิน และสามารถรับประกาศนียบัตร E-Certificate เมื่อผ่านเกณฑ์ที่กำหนดอีกด้วย

ปัญหาเสียงดังที่เกินมาตรฐาน นอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้ว ยังถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนควรใส่ใจดูแล ซึ่งสิ่งที่ดีที่สุดที่นายจ้างจะมอบให้ลูกจ้างได้ ไม่ใช่เพียงค่าตอบแทนแรงงานในอัตราสูง แต่คือการสร้างสภาวะแวดล้อมที่ดี เพื่อสุขภาวะที่ดี ซึ่งสิ่งที่ได้นอกจากผลประกอบการที่ดี แต่คือโลกของการทำงานที่ปลอดภัย และสร้างสุขร่วมกัน ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างอย่างยั่งยืนได้ต่อไปอีกด้วย เปิดลงทะเบียนแล้วที่ http://mux.mahidol.ac.th