วธ.ประกาศผลรางวัลเพชรในเพลง ยกย่องนักร้อง นักประพันธ์เพลง และองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านภาษาไทยผ่านบทเพลง ชูเป็นต้นแบบ การใช้ภาษาไทย

07 Jul 2022

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกาศให้วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญ   ของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือกันสนับสนุน ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป และในปีนี้ถือเป็นวาระพิเศษ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงอภิปรายเรื่อง "ปัญหาการใช้คำไทย" ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาถึงปัจจุบันครบ 60 ปี ดังนั้น วธ. โดย     กรมศิลปากร จัดประกวดเพลง (เพชรในเพลง) เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2565 เพื่อยกย่องบุคคลในวงการเพลงที่มีผลงานดีเด่นด้านภาษาไทย ได้แก่ นักประพันธ์เพลงที่มีความสามารถผสมผสานความรู้ทางภาษา วรรณศิลป์ คีตศิลป์และจินตนาการได้อย่างเหมาะสม นักร้องที่ออกเสียงขับร้องเพลงได้อย่างชัดเจนและถูกต้องตามหลักการใช้ภาษาไทย มีศิลปะการใช้เสียงกลมกลืนกับดนตรี จังหวะและอารมณ์ ในการขับร้อง รวมทั้งบุคคลองค์กรหรือโครงการที่มีผลงานดีเด่นด้านส่งเสริมการใช้ภาษาไทย

วธ.ประกาศผลรางวัลเพชรในเพลง ยกย่องนักร้อง นักประพันธ์เพลง และองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านภาษาไทยผ่านบทเพลง ชูเป็นต้นแบบ การใช้ภาษาไทย

นายอิทธิพล กล่าวอีกว่า สำหรับผลการประกวดเพลง (เพชรในเพลง) มีผู้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 14 รางวัล ดังนี้ 1.รางวัลเชิดชูเกียรติ 3 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลเชิดชูเกียรติ ผู้มีคุณูปการต่อวงการเพลง ได้แก่ นางสาวนิตยา อรุณวงศ์ (โฉมฉาย อรุณฉาน), รางวัลเชิดชูเกียรติ โครงการอนุรักษ์และส่งเสริมเพลงพื้นบ้าน ได้แก่ โครงการเพาะกล้าพันธุ์เก่งเพลงพื้นบ้าน และรางวัลเชิดชูเกียรติ ผู้สร้างสรรค์แนวเพลงและส่งเสริมศิลปินรุ่นใหม่ ได้แก่ นายบรรณ สุวรรณโณชิน 2.รางวัลการประพันธ์เพลงดีเด่นด้านภาษาไทย 3 รางวัล ประกอบด้วย ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยสากล รางวัลชมเชย ได้แก่ เพลงความจริงอันประเสริฐ (อริยสัจ 4) ประพันธ์โดย    พระเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี), ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยลูกทุ่ง รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงมนต์รักดนตรีไทย ประพันธ์โดย นายมนูญ เรื่องเชื้อเหมือน และนายมติธรรม เรืองเชื้อเหมือน และรางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ เพลงไร่อ้อยวิทยา ประพันธ์โดย นายสลา คุณวุฒิ 3.รางวัลการขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย 8 รางวัล ประกอบด้วย ผู้ขับร้องเพลงไทยสากลชาย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงใจที่โดนฉีก ขับร้องโดย นายไกรวิทย์ พุ่มสุโข และรางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ เพลงดอกฟ้า ขับร้องโดย นายเมธี อรุณ (เมธี ลาบานูน), ผู้ขับร้องเพลงไทยสากลหญิง   รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงรักแท้ (แม้ไม่อาจอยู่ร่วมกัน) ขับร้องโดย นางสาวนุตประวีณ์ ข้องรอด (มิวสิค โรสซาวด์) และรางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ เพลงเชิญอริยมรรค ขับร้องโดย นางสาวปราชญา ศิริพงษ์สุนทร, ผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งชาย ประกอบด้วยรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงคำตอบของชีวิต ขับร้องโดย นายอนันต์ อาศัยไพรพนา (นัน ไมค์ทองคำ) และรางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ เพลงแด่คุณครูด้วยดวงใจ ขับร้องโดย นายภาณุวิชญ์ พริ้งเพราะ, ผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งหญิง รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงหลวงพ่อกวยช่วยลูกที ขับร้องโดย นางสาวลลดา ปานจันทร์ดี (นิตา ลลดา) และรางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ เพลงหัวใจเอิงเอย ขับร้องโดย นางสาวเขมจิรา วงษ์ทอง (หมิว เขมจิรา) ทั้งนี้ จะมีพิธีมอบรางวัลดังกล่าวในวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวด้วยว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าว จะทำให้ผู้ผลิตสื่อ ผู้บริโภคสื่อ เยาวชน และประชาชนทั่วไป เห็นคุณค่าของการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง ตระหนักและสำนึกรักในความเป็นไทย เกิดความเข้าใจและยอมรับว่าเพลงที่ดีต้องเป็นเพลงที่มีความไพเราะงดงามและมีศิลปะในการใช้ภาษา การใช้ภาษาไทยในการประพันธ์เพลงอย่างถูกต้อง ไพเราะงดงาม และเป็นแบบอย่างที่ดีต่อไป