วช. หนุน มก. เพิ่มศักยภาพชุมชนบ้านนายอ ผลิตข้าวเม่าสู่มาตรฐานความปลอดภัย อย.

30 Jun 2022

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร ทำพิธีเปิดสถานที่ผลิตอาหารมาตรฐานคณะกรรมการอาหารและยา โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ผศ.ดร.พัดชา เศรษฐากา หัวหน้าโครงการฯ และคณะ ณ วิสาหกิจชุมชนข้าวเม่าสดบ้านนายอ หมู่ 13 อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร

วช. หนุน มก. เพิ่มศักยภาพชุมชนบ้านนายอ ผลิตข้าวเม่าสู่มาตรฐานความปลอดภัย อย.

สำหรับสถานที่ผลิตอาหารแห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จภายใต้โครงการวิจัย การเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวเม่าสู่มาตรฐานความปลอดภัยเพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนดำเนินงานโครงการในพื้นที่บ้านนายอ แหล่งผลิต ข้าวเม่า อาหารพื้นบ้านที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสกลนคร โดยวิสาหกิจชุมชนข้าวเม่าสดบ้านนายอหมู่ 13 ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และรัฐวิสาหกิจ โดย ผศ.ดร.พัดชา เศรษฐากา หัวหน้าโครงการฯ ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. ได้ยกระดับกระบวนการผลิตข้าวเม่าสู่มาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร ซึ่งใช้กระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม โดยการดำเนินงานประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ คือ 1. พันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ใช้ผลิตข้าวเม่า 2. การจัดการระบบการผลิตข้าว 3. การพัฒนาการผลิตข้าวเม่าสู่มาตรฐาน อย. ตลอดระยะเวลา 1 ปี ในการดำเนินงาน พบว่าในพื้นที่มีพันธุ์ข้าวที่ใช้ทำข้าวเม่ากว่า 36 สายพันธุ์ และได้คัดเลือกพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่เหมาะสมสำหรับทำข้าวเม่าจำนวน 5 สายพันธุ์ได้แก่ 1. ข้าวเหนียวสายพันธุ์นางสวน 2. ข้าวเหนียวสายพันธุ์อีขาวใหญ่ 3. ข้าวเหนียวสายพันธุ์อีตมหางนาค 4. ข้าวเหนียวดำ 5. ข้าวเหนียวสายพันธุ์อีเขียวนอนทุ่ง เพื่อยกระดับการผลิตข้าวเม่าให้ได้มาตรฐานสถานที่ผลิตอาหารมาตรฐาน อย. และได้ผลิตภัณฑ์เข้าเม่าสด มาตรฐาน อย. ในระดับชุมชนเป็นแห่งแรก และจากการปรับเปลี่ยนสู่มาตรฐานการผลิตทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวเม่า ลดฝุ่นควันที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ผลิตและสิ่งแวดล้อมได้

นอกจากนี้ ชุมชนสามารถยืดอายุการเก็บรักษาการข้าวเม่าด้วยการทำแห้ง จากการตรวจคุณค่าทางโภชนาการ พบว่า ข้าวเม่ามีวิตามินบี1 แคลเซียม และใยอาหาร สูงมากเมื่อเทียบกับข้าวฮางหรือข้าวกล้อง ทั้งนี้ ในการพัฒนาศักยภาพการผลิตข้าวเม่า ชุมชนมีเป้าหมายในการต่อยอดพัฒนาเรื่อง การอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวและพัฒนาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวสายพันธุ์ที่มีในชุมชน การขอมาตรฐานอย.ข้าวเม่าแห้ง การนำของเหลือจากกระบวนการผลิตมาใช้ประโยชน์ และพัฒนาช่องทางตลาดให้หลากหลายและมั่นคงยิ่งขึ้นต่อไป

วช. หนุน มก. เพิ่มศักยภาพชุมชนบ้านนายอ ผลิตข้าวเม่าสู่มาตรฐานความปลอดภัย อย.