คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข จับมือเครือข่ายสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง กระทรวง อว. และกรุงเทพมหานคร ร่วมขับเคลื่อนแนวทางการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

14 Jun 2022

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกรุงเทพมหานคร ร่วมจัด งานการประชุมรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 8-9 มิถุนายน 2565 และร่วมจัดงานแถลงข่าว "ความร่วมมือการขับเคลื่อนแนวทางการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อระดับชาติและโรคอุบัติใหม่" วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรมบัดดี้ โอเรียนทอล ริเวอร์ไซด์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข จับมือเครือข่ายสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง กระทรวง อว. และกรุงเทพมหานคร ร่วมขับเคลื่อนแนวทางการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงานแถลงข่าว "ความร่วมมือการขับเคลื่อนแนวทางการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อระดับชาติและโรคอุบัติใหม่"

โดย ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การขับเคลื่อนโครงการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

จากนั้นเข้าสู่พิธีการแถลงข่าวนำโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง กระทรวงสาธารณสุขและบทบาทการขับเคลื่อนการปฏิรูปปฐมภูมิในพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร, นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึง แนวทางการสนับสนุนเพิ่มการบริการสุขภาพปฐมภูมิกับข้าราชการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร, นางสาวบุปผา เรืองสุด รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึง ระบบบริการปฐมภูมิและประโยชน์บริการสุขภาพผู้ประกันตนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึง นโยบายการขับเคลื่อนระบบบริการปฐมภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

โดยร่วมขับเคลื่อนโครงการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหนคร 5 ด้าน ได้แก่

  1. เพิ่มจำนวนหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้ครอบคลุมกลุ่มประชากร
  2. ระบบการเงินการคลังสุขภาพกระจายและครอบคลุม
  3. เพิ่มการเข้าถึงโรงพยาบาลขนาดทุติยภูมิ
  4. การสนับสนุนภาคประชาชนในการจัดการสุขภาพ เพิ่ม อสส. ในชุมชน และพัฒนา อสส. รูปแบบใหม่ที่ตอบสนองวิถีชีวิตคนกรุงเทพมหานคร
  5. การอภิบาลระบบสุขภาพในกรุงเทพมหานคร หวังยกระดับและพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาลให้ประชาชนมีความปลอดภัย และความมั่นคงด้านสุขภาพอย่างยั่งยืน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า "กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศได้ร่วมกันเพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย สธ. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลงานด้านปฏิรูป พร้อมให้การสนับสนุนนโยบายทั้ง 5 ด้าน โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สปสช. สช. เขตสุขภาพที่ 13 และอื่นๆ ร่วมทำงานและผลักดันนโยบายอย่างเต็มกำลัง"

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า "กระทรวงการคลัง ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลข้าราชการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ข้าราชการได้เข้าถึงงานบริการปฐมภูมิและการเชื่อมต่องานบริการอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงการคลังพร้อมสนับสนุนนโยบายทั้ง 5 ด้าน และจะกระจายงบประมาณเพื่อให้เกิดการบริการในหน่วยปฐมภูมิเพิ่มมากขึ้น"

นางสาวบุปผา เรืองสุด รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า "ปัจจุบันพื้นที่กรุงเทพมหานครมีผู้ประกันตน 3,604,602 คน ส่วนใหญ่ลงทะเบียนในสถานบริการระดับ 100 เตียงขึ้นไป ยังขาดการเชื่อมต่อกับหน่วยบริการระดับปฐมภูมิ ซึ่งช่วงโควิดพบว่าการส่งต่อผู้ประกันตนที่ติดเชื้อไปหน่วยบริการมีความยากลำบากมาก เพราะขาดหน่วยบริการเชื่อมต่อหรือหน่วยบริการเบื้องต้น เช่น การระบาดในแคมป์คนงาน ก.แรงงานร่วมกับ สธ.ออกมาตรการ Bubble and seal ทั้งนี้ หน่วยบริการปฐมภูมิมีความสำคัญ เพราะเป็นด่านหน้าใกล้ชิด เป็นจุดเชื่อมต่อบริการจากบุคคล ครอบครัว ชุมชน โรงงาน บริษัท สถานประกอบการไปยังหน่วยบริการขนาดใหญ่ ทำให้

เข้าถึงบริการมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องได้รับการยกระดับมาตรฐานการบริการสาธารณสุข มีการติดตามผลลัพธ์เชิงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมนำเทคโนโลยีด้านการดูแลรักษาผ่านระบบทางไกล (Telehealth medicine) เพื่อลดช่องว่างการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ตอบโจทย์การบริการเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่อยู่ท่ามกลางสังคมเมือง"

ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า "ตามนโยบายสุขภาพของผู้ว่าราชการกรุงเทพ ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในเรื่องของหน่วยบริการปฐมภูมิ และกำหนดนโนบาย 9 ข้อ เพื่อให้เกิดการปรับปรุงระบบบริการในกรุงเทพมหานคร ให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการที่ดีขึ้น โดยนโยบายทั้ง 5 ด้านของคณะปฏิรูปนั้น สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนของ กทม. ซึ่ง กทม. จะรับแผนดังกล่าว นำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนในกรุงเทพมหานครมีสุขภาพที่ดีต่อไปอย่างยั่งยืน"

ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอเชิงนโยบายฯ ครั้งนี้ เป็นหนึ่งในความคืบหน้าของงานภายใต้การดำเนินงานโครงการความร่วมมือเพื่อยุติการระบาดของโรคโควิด-19 และควบคุมการระบาดระลอกใหม่ด้วยนวัตกรรม EPI: Ending Pandemics through Innovation โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) เป็นผู้ดำเนินการประสานงานระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานหลักๆ ที่ จับมือกับเครือข่ายมาร่วมประชุมกันแบบบูรณาการ ประกอบด้วย สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เขตสุขภาพที่ 13 สปสช. สช. กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยมั่นใจว่าโครงการนี้จะช่วยให้การบริหารจัดการควบคุมโรคระบาด ลดจำนวนสถิติการสูญเสียชีวิต และคนไทยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประเทศชาติจะมีความมั่นคงด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืนในอนาคตอย่างแน่นอน

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข จับมือเครือข่ายสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง กระทรวง อว. และกรุงเทพมหานคร ร่วมขับเคลื่อนแนวทางการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหานคร