ก.อุตฯ ติวเข้มเจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเป้าหมาย รับ "BCG Model" ล็อค 4 เป้าหมายสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

13 Jun 2022

กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดสัมมนาเชิงปฏิบัติการชี้แจงแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการตามกรอบแนวคิด BCG ให้กับ กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อขับเคลื่อนใน 4 เป้าหมาย คือสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางสังคม ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และตอบโจทย์สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ภายใต้คอนเซ็ปต์ภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้ประโยชน์ในองค์กรและเกิดประโยชน์สูงสุด!

ก.อุตฯ ติวเข้มเจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเป้าหมาย รับ "BCG Model" ล็อค 4 เป้าหมายสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อชี้แจงแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการตามกรอบแนวคิด BCG ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนนโยบาย BCG Model ไว้ใน 4 ด้านหลัก คือ สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงทางสังคม สร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และตอบโจทย์สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs โดยเป้าหมายและกลไกการขับเคลื่อน BCG Model ของกระทรวงอุตสาหกรรม ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) 14 เป้าหมาย ใน 17 เป้าหมาย ที่ครอบคลุมมิติการพัฒนาคน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยการขับเคลื่อน BCG Model ของกระทรวงฯ มุ่งเน้น 3 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy : BE) กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ เกษตร อาหาร ยาและการแพทย์ พลังงานชีวภาพ เคมีชีวภาพ และพลาสติกชีวภาพ ในปี 2565 กำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนอัตราการเติบโตอุตสาหกรรมชีวภาพเพิ่มขึ้น 3% และมูลค่าการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพเพิ่มขึ้น 30,000 ล้านบาท และในปี 2570 มีอัตราการเติบโตอุตสาหกรรมชีวภาพเพิ่มขึ้น 10% และมูลค่าการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพเพิ่มขึ้นสะสม 190,000 ล้านบาท 2) ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy : CE) กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ พลาสติก ยางรถยนต์ วัสดุก่อสร้าง เหล็กและโลหะอื่น ๆ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เซลล์แสงอาทิตย์ และแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า และในปี 2565 กำหนดเป้าหมายขับเคลื่อน เกิดอุตสาหกรรมแบบพึ่งพา (Industrial Symbiosis) ใน 5 พื้นที่อุตสาหกรรม (นิคมอุตสาหกรรมหนองแค นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล ท่าเรือมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย) และนำข้อมูลกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบให้ครบ 100% โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำระบบ E-Fully Manifest สำหรับกากอุตสาหกรรมที่ไม่อันตราย โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2565 ในปี 2570 เกิดอุตสาหกรรมแบบพึ่งพา (Industrial Symbiosis) เพิ่มเป็น 15 พื้นที่อุตสาหกรรม และมีการนำกากอุตสาหกรรมไปใช้ประโยชน์ 90 % และ 3) ด้านเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy : GE) กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในทุกสาขาอุตสาหกรรม ในปี 2565 กำหนดเป้าหมายขับเคลื่อน โรงงานเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry : GI) 60% และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1.22 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และในปี 2570 โรงงานเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) 100% และมากกว่า 50% ได้รับเครื่องหมายอุตสาหกรรมสีเขียว (GI) ระดับ 3 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2.30 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

"กระทรวงฯ นำนโยบายการพัฒนา BCG Model มาใช้ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถในการแข่งขัน กับลดของเสียโดยจัดการทรัพยากรภายในสถานประกอบการให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนตามแนวคิด BCG เป็นการเปิดโอกาสให้สถานประกอบการได้รับการส่งเสริมและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และกิจการเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็น ส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบาย BCG Model ของกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย"นายกอบชัย กล่าว

สำหรับกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อชี้แจงแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการตามกรอบแนวคิด BCG ให้แก่สถานประกอบการ หน่วยงานส่วนราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเป็นแนวทางในการนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและต่อยอดให้แก่สถานประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และเติบโตอย่างยั่งยืน จัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ผ่านระบบ Web Conference (Zoom Meeting) มีผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วย ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี บุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดและภูมิภาค รวมทั้งสิ้นกว่า 300 คน โดยมีหัวข้อการบรรยาย อาทิ แนวทางการขับเคลื่อน BCG ตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยนายนำพล ลิ้มประเสริฐ ที่ปรึกษา บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) การถ่ายทอดองค์ความรู้และแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบตามกรอบแนวคิด BCG ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) โดย ผศ.ดร.วรีสา ชูวัฒนกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง การส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยอาจารย์ศุภวัฒน์ น้ำดอกไม้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการด้านเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดย ผศ. ดร.นิรุธ จิรสุวรรณกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีพลังงาน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

 

 

ก.อุตฯ ติวเข้มเจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเป้าหมาย รับ "BCG Model" ล็อค 4 เป้าหมายสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน