สจล. เริ่มกระบวนการสรรหาอธิการบดีใหม่ สานต่อสถาบันเทคโนโลยีชั้นนำแห่งเอเชีย พร้อมย้ำ 3 คุณสมบัติ ผู้นำ สจล. คนใหม่ "สร้างแรงบันดาลใจ - มีวิสัยทัศน์ระดับสากล - มีความคิดสร้างสรรค์"

22 Apr 2022

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี ได้กำหนดขั้นตอน กรอบเวลาดำเนินการ หลักเกณฑ์วิธีการสรรหา ตลอดจนคุณสมบัติผู้สมควรได้รับการ สรรหาอธิการบดีคนใหม่ เพื่อสานต่อวิสัยทัศน์ ในการเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 1 ใน 10 ของภูมิภาคอาเซียน และพันธกิจนำพา สจล. สู่การเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำระดับทวีปเอเชียที่มีความโดดเด่นด้านการวิจัยและเทคโนโลยี สรรหาผู้ที่มีคุณสมบัติเฉพาะบุคคลที่โดดเด่น 3 ประการ ได้แก่ 1. เป็นนักสื่อสารสร้างแรงบันดาลใจ 2. มีวิสัยทัศน์ในการบริหารระดับสากล 3. มีความคิดสร้างสรรค์ กำหนดกลยุทธ์ที่ทันสมัย เพื่อให้ได้อธิการบดีที่มีคุณสมบัติพึงประสงค์ตามข้อบังคับของสถาบัน รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นว่ากระบวนการสรรหาอธิการบดีมีความโปร่งใสและอิสระในทุกขั้นตอน สภาสถาบัน สจล. ได้ยึดแนวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ตามประกาศของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นแนวทางสรรหาร่วมกับการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างทั่วถึง

สจล. เริ่มกระบวนการสรรหาอธิการบดีใหม่  สานต่อสถาบันเทคโนโลยีชั้นนำแห่งเอเชีย พร้อมย้ำ 3 คุณสมบัติ ผู้นำ สจล. คนใหม่ "สร้างแรงบันดาลใจ - มีวิสัยทัศน์ระดับสากล - มีความคิดสร้างสรรค์"

รศ. ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ รักษาการอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง (สจล.) เผยว่า ขณะนี้ สจล.ได้เริ่มกระบวนการสรรหาอธิการบดีคนใหม่ เพื่อสานต่อวิสัยทัศน์ เป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 1 ใน 10 ของภูมิภาคอาเซียน และพันธกิจในการเป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับการจัดอันดับ 1 ของไทย ที่มีความโดดเด่นด้านงานวิจัย จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วเอเชีย (Times Higher Education World University Rankings 2021 Asia-Pacific) โดยอธิการบดี สจล. คนใหม่ นอกจากจะมีคุณสมบัติทั่วไปตามข้อบังคับของสถาบัน อาทิ ด้านการศึกษา ประสบการณ์การทำงาน ผลงานการวิจัยที่ได้รับการยอมรับในวงวิชาการ ฯลฯ ยังต้องเป็นผู้นำที่มีความสามารถในการผลักดัน สจล. สร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่เอื้อประโยชน์ต่อสังคม ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย ภายใต้การบูรณาการองค์ความรู้ที่หลากหลาย กล่าวคือจะต้องมีคุณสมบัติเฉพาะบุคคลที่มีความโดดเด่น 3 ประการ ได้แก่

ประการที่ 1 เป็นนักสร้างแรงบันดาลใจ มีความเป็นผู้นำในการสื่อสารเพื่อสร้างความไว้วางใจ ความผูกพัน และความสามัคคี แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ บุคลากร นักศึกษา ศิษย์เก่า และอื่นๆ สร้างทีมที่ดี กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงสามารถตัดสินใจในภาวะวิกฤติ มีความเชื่อมั่นและแรงบันดาลใจให้กับทีมและบุคลากร ด้วยการจูงใจหรือโน้มน้าวให้บุคลากรทุกระดับและทุกหน่วยงานภายในสถาบันช่วยกันขับเคลื่อนหรือผลักดันยุทธศาสตร์ไปสู่วิสัยทัศน์ของสถาบันที่กำหนดไว้

ประการที่ 2 มีวิสัยทัศน์ระดับสากล มีประสบการณ์ในการบริหาร โดยมีวิสัยทัศน์และสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการบริหารงานที่ดี และนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อสถาบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีมุมมองในระดับนานาชาติ/ระดับสากล สามารถเข้าใจกระแสสังคมได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งมีความสามารถในการสร้างเครือข่าย หรือประสานงานและสร้างระบบความร่วมมือที่หลากหลายในด้านต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

ประการที่ 3 มีความคิดสร้างสรรค์ที่โดดเด่น สามารถกำหนดวิสัยทัศน์และมาตรการเพื่อพัฒนาสถาบันในการนำพาสถาบันไปสู่สถาบันชั้นนำระดับโลกตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ด้วยกลยุทธ์และวิธีการที่ทันสมัยและหลากหลายชัดเจนโดยยึดหลักธรรมาภิบาล

อย่างไรก็ดี เพื่อให้ได้การสรรหาอธิการบดีใหม่มีคุณสมบัติพึงประสงค์ตามข้อบังคับของสถาบัน สจล. จึงได้ยึดแนวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา หมวดที่ 3 ธรรมาภิบาลในระดับผู้บริหารในสถานศึกษา ตามประกาศของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มาเป็นแนวทางในการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการสรรหา และคุณสมบัติผู้ควรได้รับการสรรหาอธิการบดี ดังนั้น นายกสภาสถาบัน สจล. ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีชุดดังกล่าว มีผลตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2565 เป็นต้นมา

โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี สภาสถาบัน สจล. ได้ดำเนินการตามข้อบังคับสถาบันว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการสรรหาอธิการบดี พ.ศ. 2552 และข้อบังคับสถาบัน ว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการสรรหาอธิการบดี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 ซึ่งสอดคล้องกับประกาศแนวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาที่คำนึงถึงความโปร่งใส และความมีประสิทธิภาพในการบริหารงานของสถาบันเป็นสำคัญ โดยคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีที่แต่งตั้งครั้งนี้มีจำนวน 9 คน มาจากบุคคลภายนอก 7 คน ซึ่งเกินกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการสรรหาอธิการบดีทั้งหมด และบุคคลภายในที่มาจากการคัดเลือกและไม่ได้เป็นผู้บริหารจำนวน 2 คน ซึ่งไม่เกิน 1 ใน 3 ของกรรมการสรรหาอธิการบดีทั้งหมด ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี ได้ประกาศกำหนดการ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • วันที่ 20 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ในวันและเวลาทำการ ของ สจล. เป็นช่วงเวลาการรับสมัครเข้ารับการสรรหาอธิการบดี โดยสมัครผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) ที่ [email protected] โดยให้ระบุหัวเรื่อง "การสมัครอธิการบดี พร้อมระบุชื่อผู้สมัคร"
  • คณะกรรมการสรรหาฯ ได้ให้ความสำคัญในการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยได้เพิ่มระยะเวลาในการรับฟังความคิดเห็นจากที่เคยดำเนินการอยู่เดิมเป็น 2 วัน คือในวันที่ 28 เมษายน 2565 และ วันที่ 29 เมษายน 2565 เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาคม สจล. อย่างทั่วถึง โดยจะจัดให้มีการประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ ร่วมกับคณะกรรมการสรรหาฯ
  • วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 คณะกรรมการสรรหาฯ ประชุมตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการสรรหา และพิจารณาหลักเกณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • วันที่ 27 พฤษภาคม 2565 คณะกรรมการสรรหาฯ ประกาศรายชื่อผู้สมัครเข้ารับการสรรหาที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม
  • วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ให้ผู้สมัครรับการสัมภาษณ์ และแสดงวิสัยทัศน์เพื่อเสนอแนวนโยบาย และแผนงานการบริหารสถาบันต่อคณะกรรมการสรรหาฯ โดยในวันดังกล่าว คณะกรรมการสรรหาฯ จะมีการพิจารณากลั่นกรองรายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีรวมทั้งพิจารณารายงานผลการดำเนินการสรรหาอย่างละเอียด

หลังจากวันที่ 1 มิถุนายน 2565 คณะกรรมการสรรหาฯ จะเสนอรายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีพร้อมรายงานผลการดำเนินการสรรหาอย่างละเอียด เข้าที่ประชุมสภาสถาบันเพื่อพิจารณาในการประชุมครั้งที่ 6/2565 วันที่ 31 มิถุนายน 2565 ซึ่งสภาสถาบันจะได้คัดเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี โดยให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ แถลงวิสัยทัศน์ นโยบายและแผนงานการบริหารสถาบันเพื่อให้คณะกรรมการสภาสถาบัน สจล. พิจารณาต่อไป

สจล. ยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารและการดำเนินงานภายในตามหลักความรับผิดชอบต่อสังคม หลักเสรีภาพทางวิชาการ หลักความเป็นอิสระ และหลักความเสมอภาค ดำเนินการสรรหาอธิการบดี ด้วยกระบวนการที่โปร่งใส บริสุทธิ์ และยุติธรรม เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดการอุดมศึกษา ตามพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 ประกอบกับการพิจารณาผู้สมควรได้รับตำแหน่งโดยคณะกรรมการสรรหาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและนอกสถาบัน ร่วมกับการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างทั่วถึง ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าอธิการบดี สจล. คนต่อไปจะมีคุณสมบัติเหมาะสมในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอาจารย์และบุคลากร พร้อมยกระดับคุณภาพบัณฑิต งานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ประเทศ รศ. ดร. อนุวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

โดยผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดและดาวน์โหลดใบสมัครที่เว็บไซต์ www.kmitl.ac.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ สำนักงานสภาสถาบัน สจล. โทรศัพท์ 02-239-8242