"เอนก" ชูเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โอกาสสำคัญทางการแข่งขันของไทย แนะนโยบายการพัฒนากำลังคนต้องตอบสนองความต้องการภาคเอกชน

22 Apr 2022

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการ สอวช. ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และผ่านระบบออนไลน์ โดยมี ศาสตราจารยพิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุม

"เอนก" ชูเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โอกาสสำคัญทางการแข่งขันของไทย แนะนโยบายการพัฒนากำลังคนต้องตอบสนองความต้องการภาคเอกชน

สอวช. ได้นำเสนอนโยบายพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ (ในระยะ 10 ปี ข้างหน้า) จากการวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ความต้องการแรงงานสมรรถนะสูง ควบคู่กับการวิเคราะห์ความสามารถในการผลิตและพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง ทั้งในมิติเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดย ดร. เอนก ให้ความเห็นว่า การวางแผนแนวทางด้านนโยบายอยากให้คิดเสมือนว่าเป็นการทำแผนการสู้รบ ที่จะต้องนำไปสู่ชัยชนะ ไม่ใช่การเขียนแผนเพื่อความพร้อมเท่านั้น แต่ถ้ามียุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาดก็จะเป็นแนวทางให้รบชนะได้เช่นกัน โดยต้องมองสภาพความเป็นจริง จุดอ่อนและจุดแข็งที่ประเทศเรามีอยู่ ซึ่งในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในมุมของเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ต้องนำเรื่องอุปสงค์และอุปทานเข้ามาใช้ มองถึงการตอบสนองความต้องการของภาคเอกชนให้ได้เกิน 90% ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องมาร่วมกันแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงมหาวิทยาลัยและหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ ต้องเข้าถึงความต้องการของภาคธุรกิจ นักธุรกิจว่าต้องการอะไร และมีความคาดหวังอย่างไรจากงานวิจัยหรืองานด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อหาแนวทางเข้าไปตอบโจทย์เหล่านั้นและทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นระบบ

ดร. เอนก ยังได้เน้นย้ำในเรื่องการทำงาน การเขียนแผนให้มีความยืดหยุ่น คล่องตัว แหวกแนว รวมถึงการส่งเสริมให้การเรียนวิทยาศาสตร์ ช่วยสร้างแรงจูงใจ เกิดเป็นความรัก ความหลงใหล ความใฝ่ฝัน และความศรัทธามากขึ้น

ในมุมของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ดร. เอนก กล่าวว่า ต้องใช้ความเป็นไทยมานำเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เพราะเป็นเรื่องที่มีโอกาสทางการแข่งขันสูง ไม่ว่าจะเป็นอาหารไทย มวยไทย นวดไทย ที่มีชื่อเสียงในระดับโลก ต้องนำเอาความเป็นไทยเหล่านี้มาต่อยอด โดยการเข้าไปรักษาตาน้ำ รักษาที่มาของแม่น้ำ นั่นคือศิลปะ อารยธรรมไทยที่อยู่ในชุมชน การศึกษาไทยจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เน้นทางด้านศิลปะ สุนทรียะมากขึ้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ยังต้องคิดอะไรที่นอกกรอบสถาบันการศึกษา เช่น การคิดหลักสูตรในรูปแบบ non-degree ที่จะตอบโจทย์การสร้างอาชีพและคนทำงานด้านศิลปะมากขึ้นด้วย

ด้าน ดร. กิติพงค์ ได้เสนอนโยบายพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ (ในระยะ 10 ปี ข้างหน้า) โดยชี้ให้เห็นว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยมีกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญคือเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จากทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เพื่อนำประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2570 มีหมุดหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการใช้ศักยภาพด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ได้แก่ การท่องเที่ยวคุณภาพสูงเน้นคุณค่า, การแพทย์และสุขภาพแบบครบวงจร, สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง, อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและบริการดิจิทัล, การค้าการลงทุนและโลจิสติกส์, และเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ

นอกจากนี้ ข้อมูลกำลังคนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พบว่า ในปี 2563 มีแรงงานกว่า 4.9 แสนคน เป็นแรงงานสร้างสรรค์ โดยในปีเดียวกันมีการผลิตบัณฑิตสาขาสร้างสรรค์ ประมาณ 4 หมื่นคน คิดเป็น 10% ของบัณฑิตทั้งหมด ถือเป็นบัณฑิตที่มีศักยภาพ ควรได้รับการอนุรักษ์ สืบสานและต่อยอด ในการส่งเสริมด้านคุณภาพ การออกแบบที่ร่วมสมัย การตลาด และการสื่อสารในภาษาต่างประเทศ รวมถึงโอกาสและเส้นทางอาชีพที่ชัดเจน ซึ่ง สอวช. ได้กำหนดเป้าหมายการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงให้ได้ 4 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 25% ในระยะเวลา 5 ปี

สำหรับข้อเสนอมาตรการส่งเสริมการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปัจจุบันกระทรวง อว. ได้มีการจัดทำแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงเพื่อตอบการลงทุนภาคการผลิตและบริการ นำร่องการสร้างระบบนิเวศการพัฒนากำลังคน อาทิ ความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และเครือข่ายสภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย และสภาคณบดีวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย ที่ตั้งเป้าหมายสร้างวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ตอบโจทย์ความต้องการของสถานประกอบการจำนวน 20,000 คนต่อปี ซึ่งแนวทางการยกระดับการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงได้มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในด้านการพัฒนานโยบาย สิทธิประโยชน์ แรงจูงใจ การสนับสนุนทางการเงิน การปลดล็อคกฎ ระเบียบต่างๆ รวมถึงมีกลไกสนับสนุนการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ผ่านการสร้างระบบนิเวศ ให้เกิดการ Reskill, Upskill, New skill

ด้านข้อเสนอมาตรการส่งเสริมกำลังคนศักยภาพสูงของประเทศไทย (Brainpower) ได้เสนอ 3 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1) มาตรการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษาเพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศและการพัฒนากำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศ 2) มาตรการกระตุ้นการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะขยายตัวในอนาคต และ 3) มาตรการสร้างแรงจูงใจและส่งเสริมการทำงานของสตาร์ทอัพ ส่วนข้อเสนอมาตรการส่งเสริมกำลังคนสมรรถนะสูงสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เสนอให้มีระบบ กลไก และคลังข้อมูล เพื่อรวบรวม อนุรักษ์ สืบสานและเผยแพร่งานด้านทัศนศิลป์ งานฝีมือและหัตถกรรมของไทยในวงกว้าง ให้มีระบบการบริหารและการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นคล่องตัว รองรับการผลิตและพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงด้านทัศนศิลป์ งานฝีมือและหัตถกรรม และสามารถเชื่อมโยงกับการเข้าสู่เส้นทางอาชีพของบัณฑิต รวมถึงมีระบบและกลไกเชื่อมโยงและยกระดับศักยภาพระบบนิเวศอุตสาหกรรมด้านทัศนศิลป์ งานฝีมือและหัตถกรรม เพื่อนำผลงาน สินค้าและบริการเข้าสู่ตลาดนานาชาติ

ทั้งนี้ ความเห็นโดยรวมของที่ประชุม มองว่า ข้อเสนอดังกล่าวมีรายละเอียดที่ครอบคลุมและน่าสนใจ แต่อาจต้องมองถึงการจัดลำดับความสำคัญว่าจะเริ่มทำในเรื่องใดก่อน โดยคำนึงถึงพื้นฐานเดิมที่ประเทศไทยมีเป็นหลัก ในส่วนการผลิตและพัฒนากำลังคน ยังได้เสนอให้มองถึงภาพรวมอย่างเป็นระบบ นอกจากจะเน้นการจัดหาและพัฒนากำลังคนแล้ว ยังต้องมองถึงการรักษาและการใช้ประโยชน์กำลังคนที่มีอยู่เดิมด้วย ส่วนสำคัญคือการทำงานบูรณาการร่วมกับกระทรวงอื่นๆ รวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดระบบนิเวศที่ยั่งยืนและมั่นคงต่อไป

"เอนก" ชูเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โอกาสสำคัญทางการแข่งขันของไทย แนะนโยบายการพัฒนากำลังคนต้องตอบสนองความต้องการภาคเอกชน