ฟิทช์ปรับแนวโน้มเครดิต CP ALL เป็นมีเสถียรภาพ คงอันดับเครดิตที่ A-(tha) และยกเลิกอันดับเครดิต

22 Apr 2022

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) ของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP ALL เป็นมีเสถียรภาพ จากแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ และคงอันดับเครดิตที่ A-(tha) ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศยกเลิกอันอับเครดิตทั้งหมดของ CP ALL ตามแผนพัฒนาธุรกิจของฟิทช์

การปรับแนวโน้มอันดับเครดิต สะท้อนถึงความเห็นของฟิทช์ว่าความเสี่ยงที่ CP ALL ต้องเผชิญในการลดอัตราส่วนหนี้สินให้ลงมาอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้าลดลง จากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้น ฟิทช์เห็นว่ากระแสเงินสดของ CP ALL มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด19ในประเทศไทย รวมถึงการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยว หลังจากการเปิดประเทศอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2565

อันดับเครดิตของ CP ALL สะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของ CP ALL ในฐานะผู้ประกอบการค้าปลีกอาหารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้นำในด้านส่วนแบ่งทางการตลาดของร้านค้ารูปแบบหลักในธุรกิจค้าปลีกอาหาร ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อ ไฮเปอร์มาร์เก็ต และธุรกิจค้าส่งสมัยใหม่

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

การฟื้นตัวของรายได้ช่วยลดอัตราส่วนหนี้สิน: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ CP ALL ที่วัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) จะลดลงมาอยู่ในระดับประมาณ 6.5 เท่าในปี 2565 และต่ำกว่า 6 เท่าในปี 2566 (ปี 2564 อยู่ที่ 8.1 เท่า) โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งขึ้นของรายได้ ซึ่งเป็นผลจากการผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางต่างๆ จากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด19 และอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงขึ้น การลดลงของอัตราส่วนหนี้สินยังเป็นผลมาจากการรวมกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของธุรกิจ Lotus's ในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย เต็มปี ซึ่งกระแสเงินสดจากการดำเนินงานดังกล่าวจะชดเชยกับหนี้สินที่สูงขึ้นจากการเข้าซื้อกิจการและ ค่าใช้จ่ายลงทุนสำหรับการปรับปรุงร้านค้าและการรีแบรนด์ธุรกิจ Lotus's อัตราการเติบโตของยอดขายต่อสาขาเดิม (Same store sales growth) ของร้าน Makro และ 7-Eleven ได้กลับเป็นบวกในไตรมาสที่สี่ ปี 2564 ซึ่งฟิทช์คาดว่าการฟื้นตัวน่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวเป็นประโยชน์กับ Makro: ฟิทช์คาดว่ารายได้รวมของกลุ่ม CP ALL จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 40 ในปี 2565 เนื่องจากการรวมธุรกิจ Lotus's เข้ามาในงบการเงินรวมเต็มปีเป็นปีแรก อัตราการเติบโตของรายได้รวมน่าจะลดลงมาอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 10 ต่อปีในปี 2566 และ 2567 ทั้งนี้ หากไม่รวมธุรกิจ Lotus's รายได้รวมของ CP ALL น่าจะเติบโตในอัตราประมาณร้อยละ 9-10 ต่อปีในปี 2565 และ 2566 ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนส่วนหนึ่งจากการฟื้นตัวของลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหารและธุรกิจจัดเลี้ยง (HORECA) ซึ่งส่งผลให้รายได้ของ Makro เพิ่มสูงขึ้น โดยรายได้ของ Makro คิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ของรายได้รวมของ CP ALL

ฟิทช์คาดว่าการเติบโตของยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์ของ Makro อาจลดลงหลังจากที่สถานการณ์โรคระบาดที่ผ่อนคลายลง แต่อัตราการเติบโตของยอดขายจากร้านค้าสาขาที่สูงขึ้นน่าจะชดเชยผลกระทบดังกล่าวได้และส่งผลให้รายได้ยังคงเติบโต ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่าต่อรายได้ (EBITDAR Margin) ของ Makro น่าจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณร้อยละ 2 จากการรวมธุรกิจ Lotus's ซึ่งเป็นผู้ประกอบการร้านค้าปลีกที่เน้นจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้บริโภครายย่อย ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีอัตราส่วนกำไรสูงกว่าธุรกิจเดิมของ Makro อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ คาดว่าอัตราส่วนกำไรของ Makro จะเพิ่มสูงขึ้นไม่มากนักในช่วง 12-18 เดือนแรกหลังการรวมธุรกิจ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรวมระบบต่างๆ และการรีแบรนด์

ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป: ฟิทช์คาดว่ายอดขายของร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven อาจต้องใช้เวลา 18-24 เดือนสำหรับการฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนการเกิดเหตุการณ์โรคระบาด เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยผู้บริโภคได้เปลี่ยนพฤติกรรมและเริ่มเคยชินกับการสั่งอาหารแบบ Delivery และการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวันแบบครั้งละมากๆ จากร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด19

อัตราส่วนกำไรที่เพิ่มขึ้น: ฟิทช์คาดว่า EBITDAR margin ของ CP ALL น่าจะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2565-2566 มาอยู่ในระดับร้อยละ 7.0-7.5 จากระดับร้อยละ 6.9 ในไตรมาสที่สี่ปี 2564 ฟิทช์คาดว่า CP ALL น่าจะสามารถผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นบางส่วนให้แก่ผู้บริโภคและผู้ขายสินค้าได้ นอกจากนี้ บริษัทฯ น่าจะได้รับประโยชน์จากประสิทธิภาพของการจัดการต้นทุนที่ดีขึ้นจากการฟื้นตัวของยอดขายรวมถึงการกลับมาเปิดดำเนินการของสาขาที่มีการปิดชั่วคราวในช่วงสถานการณ์โรคระบาด โดยเฉพาะสาขาในแหล่งท่องเที่ยว

สถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง: ฟิทช์คาดว่าความสามารถในการแข่งขันของ CP ALL เพิ่มสูงขึ้นจากการเข้าซื้อกิจการและการปรับโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกภายในกลุ่มบริษัทฯ ในช่วง 12-18 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ บริษัทฯ มีสินค้าและบริการที่เสนอขายรวมถึงรูปแบบร้านค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยในธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ร้าน 7- Eleven มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 60 ในด้านจำนวนร้านค้า ในขณะที่ Makro เป็นผู้นำในธุรกิจค้าส่งสมัยใหม่ประเภทอาหาร (Modern-Trade Food Wholesale) ในประเทศไทย และ Lotus's เป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกประเภทร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ (Hypermarket)

สถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของ CP ALL มีปัจจัยสนับสนุนจากการที่บริษัทฯ มีร้านค้าในเครือเป็นจำนวนมากและครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง รวมถึงการมีหน่วยงานในเครือที่สนับสนุนกิจการค้าปลีกของบริษัทฯ ได้แก่การบริการด้านลอจิสติกส์ การซ่อมแซมและบำรุงรักษาร้านค้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงาน นอกจากนี้ CP ALL ยังน่าจะได้รับประโยชน์จากการใช้ระบบนิเวศทางธุรกิจร่วมกันและการรวมเครือข่ายร้านค้ากว่า 15,000 ร้านในกลุ่ม

ตราสารหนี้ที่มีลักษณะคล้ายทุน: อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนของบริษัทฯ ได้รับการจัดอันดับเครดิตให้อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ CP ALL ผู้ออกหุ้นกู้ 2 อันดับ เพื่อสะท้อนถึงสถานะด้อยสิทธิเป็นอย่างมาก ฟิทช์พิจารณาให้หุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวมีส่วนของหนี้ที่คิดเป็นทุน (Equity Credit) ร้อยละ 50 ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ โดยลักษณะที่คล้ายทุนของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของฟิทช์ ได้แก่ สถานะด้อยสิทธิกว่าหนี้อื่นๆ การมีระยะเวลาไถ่ถอนที่น่าจะเป็น (Effective Maturity) คงเหลือยาวกว่า 5 ปี และสิทธิของผู้ออกหุ้นกู้ในการเลื่อนการชำระดอกเบี้ย โดยEquity Credit ถูกจำกัดอยู่ที่ร้อยละ 50 เนื่องจากลักษณะของดอกเบี้ยที่มีการสะสม (cumulative) แม้จะมีการเลื่อนชำระ และการชำระดอกเบี้ยสะสมจะเป็นการชำระโดยเงินสด

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
CP ALL มีสถานะทางการตลาดในประเทศไทยที่แข็งแกร่ง ในฐานะผู้ประกอบการค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงที่สุดในร้านค้าปลีกรูปแบบหลัก ซึ่งเปรียบเทียบได้กับบริษัทที่เป็นผู้นำในธุรกิจอื่นๆ เช่น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC (A+(tha)/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย SCC มี EBITDAที่สูงกว่าเล็กน้อยและมีการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจที่ดีกว่า อย่างไรก็ตาม SCC ต้องเผชิญกับความต้องการสินค้าที่มีลักษณะเป็นวัฏจักรและความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ CP ALL มีอันดับเครดิตต่ำกว่า SCC สองอันดับ เนื่องจากมีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่าเป็นอย่างมาก

CP ALL มีสถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอกว่าเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC (A+(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ/ สถานะเครดิตโดยลำพังที่ a-(tha)) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของประเทศ เนื่องจาก GPSC มีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้ในระดับสูง เนื่องจากมีสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อย่างไรก็ตาม GPSC น่าจะมีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า CP ALL ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ดังนั้น CP ALL จึงมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับเดียวกับสถานะเครดิตโดยลำพังของ GPSC

CP ALL มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่า บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS (BBB+(tha) /แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ) ดังนั้น อันดับเครดิตของ CP ALL จึงสูงกว่าอันดับเครดิตของ BAFS หนึ่งอันดับ BAFS เป็นผู้ให้บริการคลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน และเครือข่ายท่อจ่ายน้ำมันอากาศยานเพียงรายเดียว และเป็นผู้ให้บริการหลักในการเติมน้ำมันอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 2 แห่ง กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ BAFS ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดที่รุนแรงกว่า CP ALL ทั้งสองบริษัทน่าจะมีอัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับใกล้เคียงกันในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า แนวโน้มเครดิตเป็นลบของ BAFS สะท้อนถึงความเสี่ยงที่ BAFS ต้องเผชิญในการลดอัตราส่วนหนี้สินให้ลงมาอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบัน

สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • รายได้รวมเติบโตร้อยละ 38-39 ในปี 2565 จากการรวมธุรกิจ Lotus's เข้ามาในงบการเงินรวมเต็มปีเป็นปีแรก และเติบโตร้อยละ 9-10 ในปี 2566 และร้อยละ 7-8 ในปี 2567
  • EBITDAR Margin เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9.0-9.5 ในปี 2565-2566 และร้อยละ 9.5-10.0 ในปี 2567 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอัตราส่วนกำไรที่สูงขึ้นของ Makro หลังจากรวมธุรกิจ Lotus's และการปรับตัวดีขึ้นของอัตราส่วนกำไรของร้าน 7-Eleven หลังจากยอดขายมีการฟื้นตัว
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนจำนวนประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ในปี 2565 และประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี 2566-2567 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายลงทุนในการขยายสาขาร้าน 7-Eleven Makro และ Lotus's รวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนสำหรับการปรับปรุงร้านค้าและการรีแบรนด์

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ไม่มี เนื่องจากฟิทช์ประกาศยกเลิกอันดับเครดิต

สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: สภาพคล่องของ CP ALL มีปัจจัยสนับสนุนหลักจากเงินสดในมือจำนวน 9.7 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคมปี 2564 ซึ่งเพียงพอสำหรับหนี้สินจำนวน 6.2 หมื่นล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระคืนใน 12 เดือนข้างหน้า จนถึงสิ้นปี 2565 เงินสดในมือดังกล่าวได้รวมถึงเงินได้จากการเสนอขายหุ้นสามัญของ Makro แก่ประชาชน (Public Offering) จำนวน 3.3 หมื่นล้านบาทเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2564 ด้วย ซึ่งบางส่วนของเงินดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ชำระหนี้ที่เกิดจากการเข้าซื้อกิจการ Lotus's

สภาพคล่องของ CP ALL ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง รวมถึงความสามารถในการออกหุ้นกู้ในตลาดตราสารหนี้ CP ALL มีหนี้สินที่มีดอกเบี้ยประมาณ 3.9 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคมปี 2564 ซึ่งรวมหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนจำนวน 2 หมื่นล้านบาท และหนี้ในระดับของ Lotus's อีก 1.3 แสนล้านบาท ประมาณร้อยละ 62 ของหนี้สินทั้งหมดของ CP ALL เป็นหุ้นกู้สกุลเงินบาท โดยร้อยละ 17 ของจำนวนนี้เป็นหุ้นกู้มีหลักประกันเป็นหุ้นของ Makro

ลักษณะธุรกิจ
CP ALL เป็นผู้บริหารร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ซึ่งเป็นเครือข่ายร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย CP ALL ยังถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 59.9 ใน Makro ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจค้าส่งสมัยใหม่ประเภทอาหาร (Modern-Trade Food Wholesale) ในประเทศไทย ในเดือนธันวาคมปี 2563 CP ALL ได้เข้าซื้อธุรกิจร้าน Tesco ในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Lotus's)

รายการอันดับเครดิตทั้งหมดของ CP ALL มีดังนี้
คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) ที่ 'A- (tha)' ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นมีเสถียรภาพ จากเป็นลบ
คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ที่ 'F2(tha)'
คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้มีประกันของบริษัทฯ ที่ 'A- (tha)'
คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของบริษัทฯ ที่ 'A- (tha)'
คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนของบริษัทฯ ที่ 'BBB(tha)'