ม.มหิดล วิจัยมาลาเรีย ติดอันดับ Top 2% อ้างอิงระดับโลก

12 Apr 2022

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้วันที่ 25 เมษายนของทุกปี เป็น "วันมาลาเรียโลก" (World Malaria Day 2022)

ม.มหิดล วิจัยมาลาเรีย ติดอันดับ Top 2% อ้างอิงระดับโลก

โดยในปีนี้ใช้อรรถบทว่า "ควบคุมและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเพื่อรักษาชีวิตและลดภาระจากโรคมาลาเรีย" (Harness innovation to reduce the malaria disease burden and save lives)

คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันการศึกษา การบริการทางการแพทย์ และการวิจัย ได้ใช้บริบทความเป็นนานาชาติตั้งแต่เริ่มก่อตั้งตลอด 6 ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นสถาบันหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล มีงานวิจัยด้านโรคเขตร้อน และโรคมาลาเรียอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก จากการจัดอันดับโดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ปีพ.ศ.2564 (World's Top2% Scientists by Stanford University 2021) ผลงานบุคลากรของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กว่า 9 รายติดอยู่ในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก หรือร้อยละ 2 ของบุคคลทั่วโลกที่มีผลงานวิจัยที่ได้รับการอ้างอิงสูงสุด

ศาสตราจารย์ ดร.เกศินี โชติวานิช รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ และอาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล มีผลงานเป็นที่ยอมรับ จากการจัดอันดับโดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการทำงานวิจัยด้านโรคมาลาเรียในระดับห้องปฏิบัติการ และร่วมมือกับงานวิจัยทางคลินิก

ผลงานของ ศาสตราจารย์ ดร.เกศินี โชติวานิช เป็นผลงานจากระดับพื้นฐานสู่การต่อยอดสร้างนวัตกรรม ให้เกิดองค์ความรู้และแนวปฏิบัติเพื่อการวินิจฉัย และรักษาชีวิต เพื่อการขจัดและกวาดล้างโรคมาลาเรีย ตามการรณรงค์ขององค์การอนามัยโลก (WHO)

มาลาเรียที่มีอุบัติการณ์สูงสุดในคน คือ เชื้อฟัลซิปารัมและไวแวกซ์ ซึ่งมาลาเรียฟัลซิปารัมทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเสียชีวิตได้ และมีวิวัฒนาการดื้อยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันสามารถดื้อต่อยาอาร์ติมิซินีน

มาลาเรียฟัลซิปารัม เป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในภูมิภาคเอเชีย และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการกำจัดโรคมาลาเรียในระดับโลก ในขณะที่ มาลาเรียไวแวกซ์มักตอบสนองต่อยารักษาได้ดีแต่มีปัญหาเชื้อกลับซ้ำจากเชื้อที่แฝงอยู่ในตับ(hypnozoite) ทำให้เกิดอาการป่วยซ้ำๆ ได้ และมีปัญหาต่อการแพร่เชื้อ

ศาสตราจารย์ ดร.เกศินี โชติวานิช และคณะได้สร้างผลงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาจำเพาะของเชื้อมาลาเรียทั้งสองชนิดได้แก่ พยาธิสภาพของมาลาเรียฟัลซิปารัมจากขบวนการการเกาะติดของเม็ดเลือดแดงติดเชื้อในเส้นเลือดสมองและอวัยวะอื่นๆ (sequestration) และผลของยาต้านมาลาเรียชนิดต่างๆ ที่สามารถยับยั้งการอุดกั้นเส้นเลือดในมาลาเรียชนิดรุนแรง การสร้างนวัตกรรมตรวจหาเชื้อดื้อยาอาร์ติมิซินีนที่ได้รับการปรับใช้ทั่วไป การสร้างโปรแกรมเพื่อใช้ในการประเมินผลตรวจหาเชื้อมาลาเรีย เพื่อตัดวงจรการแพร่กระจายจากคนสู่ยุง และการศึกษายาที่มีผลต่อระยะแฝงของเชื้อไวแวกซ์ และยาที่มีผลต่อเชื้อระยะมีเพศของเชื้อฟัลซิปารัมและไวแวกซ์

ศาสตราจารย์ ดร.เกศินี โชติวานิช ได้เล่าถึงผลงานวิจัยและการทำงานซึ่งได้มีส่วนร่วมขจัดมาลาเรียให้หมดไปจากโลกนี้มานานกว่า 2 ทศวรรษ ครอบคลุมการวิจัยในห้องปฏิบัติการและการวิจัยภาคสนามในแหล่งที่มีมาลาเรียชุกชุม ทั้งในไทย และต่างประเทศ

"ปัจจัยสำคัญในการทำวิจัยให้ประสบความสำเร็จ ได้ประโยชน์ ตอบโจทย์ ใช้ได้จริง คือ การสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ ทุกฟันเฟืองของการวิจัยมีความสำคัญ หากมุ่งมั่นใส่ใจคุณภาพ ผลของการวิจัยนั้นๆก็จะเป็นที่ยอมรับในระดับโลกได้ที่สุด" ศาสตราจารย์ดร.เกศินี โชติวานิช กล่าวทิ้งท้าย

ม.มหิดล วิจัยมาลาเรีย ติดอันดับ Top 2% อ้างอิงระดับโลก