คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ หวังขับเคลื่อนโลจิสติกส์ไทยเชื่อมโยงทุกมิติ

09 Mar 2022

คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2565  จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หวังให้ภาคธุรกิจไทยนำงานวิจัยนี้เป็นต้นแบบนำมาต่อยอดพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนเชื่อมโยงทุกมิติ เพิ่มขีดความสามารถพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคต

คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ หวังขับเคลื่อนโลจิสติกส์ไทยเชื่อมโยงทุกมิติ

ศาสตราจารย์ ดร.รุธิร์ พนมยงค์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่าการรับรางวัลนักวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ ครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง และดีใจที่ผลงานจากงานวิจัยกำลังจะกลายเป็นโมเดลต้นแบบในการนำมาใช้จริง เพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพโลจิสติกส์และซัพพลายเชน พัฒนาเครื่องมือระบบโลจิสติกส์สากล ดัชนี วิธีการคำนวณ ลักษณะภูมิศาสตร์ นโยบายการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และการวัดผลประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทาน การอำนวยความสะดวกทางการค้า การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ

"การทำงานวิชาการ การทำงานวิจัย เป็นปรัชญาชีวิตแบบหนึ่งต้องเข้าใจว่าใครก็ตามที่เข้ามาทำการศึกษาค้นคว้าวิจัย สิ่งที่เราอยากจะได้เห็นก็คือผลงานของเรานั้นออกมาและสามารถนำไปใช้ได้อย่างแท้จริง สำหรับตัวผมเองก็ต้องยอมรับโชคดีอย่างหนึ่งได้เข้ามาถูกจังหวะ เป็นช่วงที่ประเทศไทยนั้นกำลังต้องการในเรื่องขององค์ความรู้ทางด้านโลจิสติกส์แล้วสิ่งที่ตามมาก็คือนอกเหนือจากการทำในประเทศไทยแล้ว ยังมีโอกาสได้ทำงานให้กับประเทศอื่นในภูมิภาค องค์การพัฒนาแห่งเอเซีย อาเซียน ธนาคารโลก สหประชาชาติ ซึ่งตรงนี้มองว่าการที่อาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่งมีโอกาสเข้ามามีบทบาทในการผลักดันในส่วนของนโยบายต่างๆ มันเป็นปัจจัยสำคัญมากกว่าตัวผลงานวิชาการ"

ศาสตราจารย์ ดร.รุธิร์  กล่าวว่า   "สำหรับพัฒนาโลจิสติกส์ การจัดการโลจิสติกส์ ถือเป็นศาสตร์ใหม่ของไทยและประเทศในภูมิภาค นำมาพัฒนาต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ สามารถให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ซึ่งได้นำประสบการณ์ที่เดินทางไปหลายภูมิภาคทั่วโลกนำมาสะท้อนผ่านงานวิจัย เพื่อนำมาให้เกิดประโยชน์ต่อคนกำหนดนโยบาย  การทำวิจัย เพื่อประเทศไทยมีความสามารถทางการแข่งขัน เติบโตทางด้านเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ ส่งออกนำเข้า ยุคโลกาภิวัฒน์ และโควิด-19 เกิดการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ผู้ประกอบการไม่มีความพร้อม เนื้อหาในงานวิจัยนี้จึงมีความสำคัญ จะเป็นเสมือนคัมภีร์ให้ความรู้ ผู้ประกอบการ ทั้งภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ

"เวลาเราทำวิจัยเราไม่ได้ทำวิจัยเพื่อล่ารางวัลเราทำวิจัยเพื่อองค์ความรู้ขยายตัวต้องการให้ประเทศเราพัฒนาขึ้นมามีความสามารถทางด้านการแข่งขันได้อย่างต่อเนื่อง องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์และซัพพลายเชนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ตัวอย่างเช่น ธนาคารโลกพัฒนาดัชนีชี้วัดทางด้านโลจิสติกส์ของแต่ละประเทศเพื่อใช้ในการประเมินแล้วจึงมาบอกว่าประเทศนี้ดี ประเทศนี้ไม่ดี สิ่งที่ผมทำเพื่อให้ประเทศของเราสามารถขยับอันดับให้สามารถมีระบบโลจิสติกส์ที่ดี ที่ทำให้เราสามารถเชื่อมโยงกับทั่วโลกได้" ศาสตราจารย์ ดร.รุธิร์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า

การที่จะต่อยอดงานวิจัยเป็นผลสำเร็จในการทำงานจริงนั้น ต้องทำงานร่วมกัน 3 ส่วน ประกอบด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน และวิชาการ เพื่อเดินไปข้างหน้า ลักษณะของโครงสร้างในการพัฒนาต่อไปนี้มันต้องมีทั้ง 3 ส่วนนี้ หรือจะเพิ่มอีกส่วนนึงก็ได้ คือภาคประชาชนเพื่อจะได้ครบทั้ง 4 ส่วน อันนำไปสู่การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ไทย นำพาเศรษฐกิจประเทศให้ดีขึ้น เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันได้ในอนาคต