3 มี.ค. World Wildlife Day "ซีพีเอฟ" มุ่งมั่นร่วมปกป้องระบบนิเวศ สัตว์ป่า พันธุ์พืช และความหลากหลายทางชีวภาพ

03 Mar 2022

3 มีนาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้เป็นวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก (World Wildlife Day) โดยปีนี้ กำหนดแนวคิด คือ การดูแลทรัพยากรสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ (Recovering key species for ecosystem restoration) สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) สำหรับในประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช ได้เชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมกันดูแลพื้นที่ป่าไม้ "กู้วิกฤติชีวิตในป่า พลิกฟื้นชะตาระบบนิเวศ "

3 มี.ค. World Wildlife Day  "ซีพีเอฟ" มุ่งมั่นร่วมปกป้องระบบนิเวศ สัตว์ป่า พันธุ์พืช และความหลากหลายทางชีวภาพ

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนองค์กร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ที่มีความมุ่งมั่นใช้ฐานทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า และให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม ร่วมปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายกลยุทธ์ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action เน้นสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตลอดจนตระหนักถึงคุณประโยชน์ของการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ

"วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอกาศ สะท้อนความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติ ซีพีเอฟตระหนักดีถึงความสำคัญของการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของทุกคนบนโลก" นายวุฒิชัย กล่าว

ภายใต้เป้าหมายความมุ่งมั่นปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และร่วมลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซีพีเอฟ ดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและป่าชายเลน โครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง พื้นที่เขาพระยาเดินธง ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี 6,971 ไร่ และ โครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน พื้นที่ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร พื้นที่ ต.ปากน้ำประแส จ.ระยอง และปัจจุบันขยายผลสู่จังหวัดตราด โดยบริษัทฯมีการติดตามและประเมินผลโครงการอย่างต่อเนื่อง และได้ร่วมกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เมื่อปี 2561 พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 9 ชนิด นก 119 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 20 ชนิด และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 15 ชนิด เป็นฐานข้อมูลก่อนมีการเริ่มการฟื้นฟูป่าและในระหว่างปี มีการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (camera trap) เพื่อติดตามเก็บข้อมูลความสัมพันธ์ของสัตว์ป่ากับแหล่งอาหาร พบสัตว์หลายชนิด อาทิ สุนัขจิ้งจอก แมวดาว อีเห็น เป็นต้น รวมทั้งนำนวัตกรรมมาใช้ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าเขาพระยาเดินธง ทำให้ผืนป่าสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าการปล่อยให้ฟื้นตัวเองตามธรรมชาติ

นายวุฒิชัย กล่าวต่อว่า ซีพีเอฟ ส่งเสริมให้คนในชุมชนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน จากการใช้ประโยชน์จากป่าและมีส่วนร่วมดูแลป่า เป็นแหล่งอาหาร ชุมชนมีรายได้จากการร่วมดูแลผืนป่า มีการปรับปรุงแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ พร้อมกันนี้ ยังได้ปลูกฝังให้เด็ก เยาวชน และชุมชน รักและหวงแหนธรรมชาติ โดยเปิดพื้นที่ของโครงการฯ เป็นแหล่งเรียนรู้การฟื้นฟูป่า ซึ่งในปี 2563 จนถึงปัจจุบัน มีหน่วยงานภาคเอกชน สถานศึกษา ที่เข้ามาศึกษาดูงานกระบวนการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ และเยี่ยมชมโครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง เช่น กลุ่มมิตรผล บมจ.บางจากคอร์ปอเรชั่น บมจ.บ้านปู กอ.รมน.ลพบุรี เป็นต้น

นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังได้กำหนดนโยบายการจัดหาอย่างรับผิดชอบต่อโลก โดยร้อยละ 100 ของวัตถุดิบหลักมาจากพื้นที่ที่ได้รับการตรวจสอบแล้วว่าปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า อาทิ ข้าวโพด น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง เป็นต้น และร้อยละ 100 ของวัตถุดิบสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มา ทำให้สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่อุปทานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ./