STECH ลุยสร้าง New S-Curve เข้าสู่ธุรกิจเหล็ก จัดตั้งโรงงานผลิตลวดเหล็กแรงดึงสูง ขยายไปสู่ธุรกิจหลัก หนุนกำไรเติบโต

24 Feb 2022

"สยามเทคนิคคอนกรีต" หรือ STECH ประกาศเตรียมลุย New S-Curve เข้าสู่ธุรกิจเหล็ก จัดตั้งบริษัทย่อย ลุยโรงงานผลิตลวดเหล็กแรงดึงสูง ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรง เพื่อลดต้นทุนในการผลิต เพิ่มรายได้ให้กับบริษัท เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ดันกำไรให้เติบโต ภายใต้กลยุทธ์การขยายไปสู่ธุรกิจต้นน้ำ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตภายในปี 2566

STECH ลุยสร้าง New S-Curve เข้าสู่ธุรกิจเหล็ก  จัดตั้งโรงงานผลิตลวดเหล็กแรงดึงสูง ขยายไปสู่ธุรกิจหลัก หนุนกำไรเติบโต

นายวัฒน์ชัย มงคลศรีสวัสดิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามเทคนิคคอนกรีตจำกัด (มหาชน) หรือ STECH เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมที่จะลงทุนจัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ ชื่อ "บริษัท สยามสตีลไวร์ จำกัด" โดยบริษัทฯ จะลงทุนเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 100% เพื่อลงทุนประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายลวดเหล็กแรงดึงสูง ที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับบริษัทฯ ด้วยการผลิต และจำหน่ายลวดแรงดึงสูง PC Wire และ ลวดเหล็กตีเกลียว PC Strand ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรง เช่น เสาเข็ม เสาสปัน เสาไฟฟ้า คานสะพาน ฯลฯ โดยโรงงานที่จะก่อสร้างขึ้นมีกำลังการผลิตรวม 26,000 ตันต่อปี คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 320 ล้านบาท โดยโรงงานดังกล่าวจะสามารถเริ่มดำเนินการผลิตได้ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 ทั้งนี้ บริษัทฯ มีความมั่นใจในการลงทุนดังกล่าว เนื่องจากผู้บริหารของบริษัท คือคุณทรงศักดิ์ ปิยะวรรณรัตน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในธุรกิจเหล็กมากว่า 20ปี บริษัทฯ คาดว่าจะสามารถเพิ่มกำไรอย่างมีนัยสำคัญ เสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจหลัก ลดความเสี่ยงในด้านความผันผวนของต้นทุน ทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างยั่งยืน

นายทรงศักดิ์ ปิยะวรรณรัตน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามเทคนิคคอนกรีตจำกัด (มหาชน) หรือ STECH กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงทุนใน "บริษัท สยามสตีลไวร์ จำกัด" จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งบริษัทแม่ คือ บริษัท สยามเทคนิคคอนกรีต จำกัด (มหาชน) และสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน โดยกำลังการผลิตรวม 26,000 ตันต่อปี เกือบ 50% ของกำลังการผลิตจะใช้ในบริษัทแม่ ทั้ง 10 โรงงานในปัจจุบัน และโรงงานที่จะขยายอีกในอนาคต ซึ่งต้นทุนค่าลวดนับเป็นประมาณ 30% ของต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ ยังมีกำลังการผลิตเพียงพอจะสามารถขายให้กับโรงงาน/บริษัท ที่เป็นพันธมิตร/คู่ค้ากับบริษัท นอกจากนี้ จากการที่ประเทศจีนเปลี่ยนแปลงนโยบายไม่ให้การสนับสนุนการส่งออกเหล็ก ทำให้ไม่มีการกำหนดราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าปกติ (Dumping) จากประเทศจีน เป็นโอกาสขยายการเติบโต ส่งผลให้ธุรกิจเหล็กมีความน่าสนใจ และมีผลตอบแทนที่ดีขึ้น

ล่าสุด STECH รายงานผลประกอบการงวดประจำปี 2564 (มกราคม - ธันวาคม 2564) มีรายได้รวม 1,516.55 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 94.72 ล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้หลักมาจากธุรกิจสินค้าและบริการด้านคอนกรีตอัดแรง 98.19% ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ประเมินปี 2565 รายได้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 30% รับภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้างฟื้นตัว โครงการเมกะโปรเจกต์ภาครัฐบาลและงานภาคเอกชนเดินหน้าเปิดประมูล

ด้วยเม็ดเงินลงทุนมูลค่ามหาศาล เป็นโอกาส STECH รับโอกาสการเติบโตในครั้งนี้ จากปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog) อยู่ที่ราว 1,500 ล้านบาท และมีโรงงานคอนกรีตอัดแรง 10 สาขา จากปีก่อนมี 9 สาขาครอบคลุมเกือบทั่วประเทศ โดยโรงงานเพิ่มขึ้น 1 แห่งที่ชลบุรี สาขา 2 ลุยรับงานโซนภาคตะวันออก

เพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้น ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ อนุมัติการจ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิจากผลการดำเนินงานประจำปี 2564 เป็นเงินสดให้แก่ผู้ถือหุ้น ในอัตรา 0.05 บาทต่อหุ้น และนับเป็นการจ่ายปันผลครั้งแรกทันทีหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 36,250,000 บาท กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 15 มีนาคม 2565 และกำหนดจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นภายในวันที่ 20 พฤษภาคม 2565