"WHA Group" ประกาศงบฯ ปี 2564 โชว์รายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติ 12,077.9 ล้านบาท โต 28.8% และมีกำไรปกติ 2,709.6 ล้านบาท พร้อมไฟเขียวอนุมัติเงินปันผลเพิ่มเติม 0.0735 บ./หุ้น

24 Feb 2022

บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ " WHA Group " ประกาศผลการดำเนินงานประจำปี 2564 มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไร 11,963.9 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 2,590.1 ล้านบาท โดยเป็นรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 12,077.9 ล้านบาท และกำไรปกติ 2,709.6 ล้านบาท ล่าสุดบอร์ด ไฟเขียวอนุมัติจ่ายปันผลเพิ่มเติม 0.0735 บาทต่อหุ้น จ่อขึ้น XD 5 พ.ค. และจ่ายปันผล 25 พ.ค. นี้ ด้าน Group CEO "จรีพร จารุกรสกุล" ลุยเดินหน้าทรานสฟอร์มธุรกิจ สู่การขับเคลื่อนภายใต้ 4 กลุ่มธุรกิจในเครือ คาดการณ์รายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติแตะระดับ 21,000 ล้านบาทในปี 2569

"WHA Group" ประกาศงบฯ ปี 2564  โชว์รายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติ 12,077.9 ล้านบาท โต 28.8% และมีกำไรปกติ 2,709.6 ล้านบาท  พร้อมไฟเขียวอนุมัติเงินปันผลเพิ่มเติม 0.0735 บ./หุ้น

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ "WHA Group" รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2564 ว่า บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไร และกำไรสุทธิทั้งสิ้น 7,239.2 ล้านบาท และ 2,034.8 ล้านบาท ตามลำดับ โดยเป็นรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ และกำไรสุทธิปกติทั้งสิ้น 7,218.7 ล้านบาท และ 2,014.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61.0% และ 45.0% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2563 สำหรับผลการดำเนินงานปี 2564 บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรทั้งสิ้น 11,963.9 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2,590.1 ล้านบาท โดยหากพิจารณาถึงผลประกอบการปกติ บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 12,077.9 ล้านบาท และกำไรปกติ 2,709.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.8% และ 8.2% จากปีที่แล้ว

บริษัทฯ ยังคงมั่นใจในความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงิน และผลประกอบการประจำปีของบริษัทฯ ทั้งนี้ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯมีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลงวดปี 2564 ในอัตราหุ้นละ 0.1002 บาท โดยบริษัทฯ ได้มีการจ่ายปันผลไปแล้ว จำนวน 0.0267 บาทต่อหุ้น และเตรียมจ่ายเงินปันผลเพิ่มเติมอีก 0.0735 บาทต่อหุ้น โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 และกำหนดการจ่ายเงินปันผล ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนถึงความมั่นคงของรายได้และกระแสเงินสดภายใต้กลยุทธ์ทางธุรกิจที่ชัดเจน การมีสภาพคล่องที่เพียงพอ ตลอดจนความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพในการบริหารการเงินท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของ 4 กลุ่มธุรกิจว่า ธุรกิจโลจิสติกส์ มีการเติบโตอย่างโดดเด่นต่อเนื่องในปี 2564 ที่ผ่านมา โดยมีบริษัทฯ รับรู้รายได้จากธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ทั้งสิ้น 1,160.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้มีการเปิดโครงการและลงนามสัญญาเช่าโครงการ Built-to-Suit และโรงงาน / คลังสินค้าสำเร็จรูปเพิ่มเติมกว่า 166,310 ตารางเมตร และสัญญาเช่าระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนสูงอีก จำนวน 176,595 ตารางเมตร โดยสิ้นปี 2564 บริษัทฯ มีพื้นที่คลังสินค้าภายใต้การถือครองและบริหารทั้งหมด 2,550,092 ตารางเมตร

รวมถึงบริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการขายทรัพย์สินเข้ากองทรัสต์ WHART ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 ที่ผ่านมา มูลค่ารวมทั้งสิ้น 5,550 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการคลังสินค้าประเภท Built-to-Suit จำนวน 2 โครงการ และโครงการประเภท General Warehouses จำนวน 1 โครงการ โดยมีพื้นที่เช่าอาคารรวมทั้ง 3 โครงการจำนวน 184,329 ตารางเมตร

" นอกจากการเปิดตัวโครงการคลังสินค้า/ ศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่องแล้ว บริษัทฯ ยังมุ่งเน้นการสร้างโอกาสทางธุรกิจและแสวงหา Synergy ผ่านการทำงานร่วมกันกับพันธมิตรทางธุรกิจต่างๆ โดยช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มีการลงทุนในบริษัท Startups เพื่อต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ การขยายฐานธุรกิจและการสร้าง Business Model ที่แตกต่างจากธุรกิจเดิม โดยในช่วงปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ลงทุนใน Giztix สตาร์ทอัพชั้นนำด้าน e-Logistic ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อเชื่อมโยงผู้ประกอบการด้านขนส่งและโลจิสติกส์ กับผู้ใช้บริการจากทั่วประเทศ จากเดิมก่อนหน้านี้บริษัทฯ ยังได้เข้าซื้อหุ้นใน บริษัท สตอเรจ เอเชีย จำกัด ผู้ให้บริการให้เช่าพื้นที่จัดเก็บทรัพย์สินส่วนบุคคลระดับพรีเมียม ภายใต้แบรนด์ "i-Store Self Storage"มาแล้ว ทำให้ในปีนี้ บริษัทฯยังมุ่งเน้นหาพันธมิตรใหม่ๆเพิ่มขึ้น เพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์บริการต่างๆ ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมอัจฉริยะสมัยใหม่ เพื่อขับเคลื่อนด้วย AI IoT Big Data ระบบอัตโนมัติ และวิทยาการหุ่นยนต์ มาปรับใช้เพื่อพัฒนาและต่อยอดการดำเนินธุรกิจ พร้อมหาโอกาสใหม่ ๆ ในเทคโนโลยีเมตาเวิร์ส ควอนตัม และระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า "

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังเดินหน้าพัฒนาอาคารสำนักงาน (WHA Office Solutions) ระดับพรีเมี่ยมที่มีอยู่ทั้ง 6 แห่งในกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ เพื่อเป็นปักหมุดแลนด์มาร์คประเภทสำนักงานแห่งใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มประเภทธุรกิจ

ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมสำหรับปี 2564 รวม 1,729.7 ล้านบาท ชะลอตัวลงจากปี 2563 มีสาเหตุหลักจากรายได้ค่าผ่านทาง (right of ways) ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม รายได้จากการโอนที่ดินปรับตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดย ณ สิ้นปี 2564 บริษัทฯ มียอดขายที่ดินรวม 891 ไร่ แบ่งเป็นในไทย 850 ไร่ และเวียดนาม 41 ไร่ และยอดเซ็น MOU รวม 96 ไร่ (เวียดนาม) ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับภาพรวมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการลงทุนของประเทศไทยที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากนโยบายเปิดประเทศ มาตรการปลดล็อคการเดินทาง รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายภายหลังจากมีการเร่งฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง นอกจากนี้การย้ายฐานการผลิตสืบเนื่องจากการแข่งขันทางการค้า เทคโนโลยี หรือการขาดแคลนพลังงานในประเทศจีน ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ในปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันยอดขายที่ดินที่เพิ่มขึ้นยังรวมถึงดีมานด์ของลูกค้าในอุตสาหกรรมมูลค่าสูงโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ อาหาร และด้านการแพทย์ ที่แสดงความต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

"ณ ปัจจุบัน บริษัทฯ มีนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยทั้งสิ้น 11 แห่ง โดยบริษัทฯมีแผนที่จะพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยปี 2565 บริษัทฯ เตรียมขยายนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 เพิ่มอีก 580 ไร่ ซึ่งได้เริ่มการก่อสร้างแล้วในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 รวมถึงแผนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง เฟส 1 จำนวน 1,100 ไร่ ตามแผนการร่วมทุนกับบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด ในช่วงปลายปี 2565 นี้"

ด้านธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม ในปี 2564 บริษัทฯ มียอดขายที่ดิน ทั้งสิ้น 41 ไร่ ซึ่งชะลอตัวลงจากปี 2563 เนื่องจากประเทศเวียดนาม มีการล็อกดาวน์ประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้การส่งมอบพื้นที่เพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรมมีความล่าช้ากว่ากำหนด อย่างไรก็ตาม ในฐานะประเทศ ที่มีศักยภาพด้านการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติที่โดดเด่นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศเวียดนามยังเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุน บริษัทฯ จึงเร่งดำเนินการก่อสร้างและจัดหาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนามเพิ่มเติม จากปัจจุบันเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน 1 - เหงะอาน เสร็จสิ้นการก่อสร้างเฟส 1 ขนาดพื้นที่ 1,000 ไร่ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีผู้เช่ากว่า 50% ของพื้นที่ บริษัทฯ จึงเร่งดำเนินการก่อสร้างเฟส 2 บนพื้นที่ขนาด 2,200 ไร่ โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในไตรมาส 1 ปี 2565 นี้ ดังนั้นหากการก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมด จะส่งผลให้เขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน เหงะอาน จะมีพื้นที่รวมทั้งสิ้นกว่า 11,550 ไร่

นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังมีแผนการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง ได้แก่ WHA Smart Technology Industrial Zone - Thanh Hoa และ WHA Northern Industrial Zone ในจังหวัดถั่งหัว ครอบคลุมพื้นที่กว่า 7,500 ไร่ โดยจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และปี 2567 ตามลำดับ

ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มฯ กล่าวเพิ่มเติมถึงธุรกิจสาธารณูปโภคว่า ผลประกอบการของธุรกิจน้ำในปี 2564 ที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างโดดเด่น ทำให้บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภคเท่ากับ 2,351.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.1% โดยมีปริมาณยอดขายและบริหารน้ำทั้งหมดในประเทศไทยและต่างประเทศสำหรับปี 2564 รวม 135 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 18% จากปี 2563 โดยเป็นสัดส่วนปริมาณยอดจำหน่ายน้ำในประเทศเท่ากับ 112 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 17% จากปีก่อน ซึ่งสะท้อนการเติบโตของยอดจำหน่ายน้ำในทุกประเภทผลิตภัณฑ์ ที่ปรับตัวดีขึ้นตามความต้องการใช้น้ำของทั้งลูกค้ารายเดิม อาทิ กลุ่มผู้ประกอบการ ปิโตรเคมี (GC Oxirane) และลูกค้ารายใหม่ อาทิ Gulf SRC ที่ทยอยเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2564 ที่ผ่านมา สำหรับส่วนยอดขายน้ำในประเทศเวียดนามนั้น มีปริมาณการจำหน่ายน้ำโครงการ Duong River ปี 2564 เท่ากับ 22 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 22% จากปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งจากลูกค้ารายเดิมและลูกค้ารายใหม่

นอกจากนี้ ยังมีปริมาณยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value-Added Products) ในปี 2564 มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เท่ากับ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 62% จากปีที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ บริษัทฯ เดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม เช่น โครงการ Wastewater Reclamation และการผลิตน้ำที่ปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) โดยใช้เทคโนโลยีเมมเบรนรี เวิร์สออสโมซิส ควบคู่ไปกับการพัฒนา Smart Utilities Service Platform และ Innovative Solution เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

โดยล่าสุด บริษัทฯ ได้ร่วมกับนิคมอุตสหกรรมเอเชีย ให้บริการน้ำรีไซเคิลและน้ำปราศจากแร่ธาตุ แก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย (มาบตาพุด) ประเดิมลูกค้ารายแรกเป็นโรงงานผลิตเคมีภัณฑ์ ภายใต้อายุสัญญา 15 ปี โดยมีกำลังการผลิตกว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดธุรกิจสาธารณูปโภคให้กับบริษัทฯ ซึ่งสอดรับกับกลยุทธ์ในการดำเนินงานที่มุ่งพัฒนาการทำธุรกิจสาธารณูปโภคตามแผนการขยายพื้นที่ในการให้บริการสาธารณูปโภคแบบครบวงจร ทั้งในนิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการฯ ของบริษัทฯ ทั้ง 11 แห่ง และในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำในเอเชียด้านธุรกิจสาธารณูปโภคและธุรกิจพลังงาน

อีกทั้งคาดว่ายอดขายและบริหารจัดการน้ำเสียจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก ด้วยแผนการขยายธุรกิจสาธารณูปโภคควบคู่ไปกับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ทั้งในและต่างประเทศของกลุ่มบริษัทฯ อาทิ เขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน เหงะอาน เฟสที่ 2 และเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ทัญฮว้า จำนวน 2 แห่ง ที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ

ในส่วนของ ธุรกิจไฟฟ้า บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรปกติจากการดำเนินงานจากการลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทร่วมค้าไม่นับรวมกำไร/ ขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน และรายได้จากธุรกิจพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในปี 2564 เท่ากับ 1,192.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมาจากการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของรายได้ธุรกิจพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ และผลการดำเนินงานอันแข็งแกร่งของกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ทั้ง 8 โรงที่จำหน่ายไฟฟ้าให้ EGAT และลูกค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามกลุ่มธุรกิจ IPP ได้รับผลกระทบจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรทางบัญชีจากโรงไฟฟ้า Gheco-One เนื่องจากการปิดซ่อมทั้งการบำรุงใหญ่ตามแผน และการปิดซ่อมนอกแผนงานที่ส่งผลทำให้โรงไฟฟ้า IPP มีค่าความพร้อมจ่ายลดลง

ในไตรมาส 4 ปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัทฯ เซ็นต์สัญญาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) เพิ่มเติมอีกจำนวน 7 เมกะวัตต์ รวมเป็นจำนวนเซ็นต์สัญญาสะสม 92 เมกะวัตต์ มากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 90 เมกะวัตต์ และเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) เพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับลูกค้าเพิ่มเติมอีกราว 7 เมกะวัตต์ ส่งผลให้มีกำลังการผลิตโครงการโซลาร์ ที่เปิดดำเนินเชิงพาณิชย์แล้วทั้งหมด 57 เมกะวัตต์ โดย ณ สิ้นปี 2564 บริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมตามสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากับ 607 เมกะวัตต์

นอกเหนือจากโครงการแพลตฟอร์มพลังงานอัจฉริยะเพื่อซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ภายใต้ ERC Sandbox แล้ว บริษัทฯ ยังได้พัฒนาโครงการ Battery Energy Storage System (BESS) เพื่อนำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้ควบคู่กับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเสนอเป็นบริการให้แก่ลูกค้า โดยล่าสุด บริษัทฯ ได้เปิดตัวโครงการโซลาร์รูฟท็อป ขนาด 820 KWp พ่วงระบบกักเก็บพลังงานขนาด 550 KWh ภายในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) พร้อมศึกษาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Microgrid เพื่อรองรับการให้บริการและเพิ่มเสถียรภาพของระบบสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ในอนาคตอีกด้วย ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าโครงการต่างๆ ดังกล่าวจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้พอร์ตพลังงานหมุนเวียนของบริษัทฯ เติบโตเพิ่มขึ้นอีกราว 100-200 เมกะวัตต์ ตามเป้าหมายการขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนรวม 300 เมกะวัตต์ ในปี 2566 ตามแผนที่วางไว้

พร้อมกันนี้บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และภาวะลดโลกร้อน จากการพัฒนาแผนงานการกำกับดูแลด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการลดคาร์บอนภายในองค์กร รวมถึงการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ตามเจตนารมณ์ของข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) และการประชุม COP 26 ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2564 ที่ผ่านมา โดยบริษัทฯ ได้ขานรับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการพัฒนาโซลูชันพลังงานหมุนเวียนใหม่ๆ โดยเฉพาะโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ โดยจะเห็นได้ว่าบริษัทฯ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศจากโครงการพลังงานพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากระดับ 1,500 ตันคาร์บอน ในปี 2562 เป็น 26,378 ตันคาร์บอน ในปี 2564 อีกทั้งยังสามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้ประกอบการชั้นนำทั้งที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้ว และกลุ่มที่สนใจเข้ามาลงทุนใหม่ๆ ที่ให้ความสนใจความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

ธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม บริษัทฯยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการให้บริการ และนำเสนอนวัตกรรมทางด้านดิจิทัลใหม่ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจและตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างครบวงจร รวมถึงเป็นผู้นำในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยปัจจุบันได้มีการเดินหน้าพัฒนาธุรกิจการบริหารจัดการเสาโทรคมนาคมใหม่ทั้งหมดภายในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ

รวมถึงการก่อสร้างเสาโทรคมนาคมและสถานีฐาน และการให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมมาเช่าพื้นที่บนเสาโทรคมนาคมเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ที่จำเป็นในการรับและกระจายสัญญาณเครือข่ายทั้ง 3G, 4G และ 5G พร้อมขยายการติดตั้งโครงข่ายสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (FTTx) เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม 9 แห่ง และมีแผนจะขยายเพิ่มเป็น 11 แห่งภายในปี 2565 ในขณะที่ธุรกิจศูนย์บริการระบบข้อมูลสารสนเทศ (Data Center) บริษัทฯ จะมีกำไรจากการจำหน่ายดาต้าเซ็นเตอร์ 2 แห่ง จากการปรับปรุงแผนธุรกิจดิจิทัลของบริษัทฯ ซึ่งคาดว่าธุรกรรมจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2565

ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มฯ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายถึงการแผนการดำเนินธุรกิจสำหรับ ปี 2565 ว่า บริษัทฯ มุ่งขยายธุรกิจในประเทศไทยไปพร้อมกับการมองหาโอกาสใหม่ในประเทศเพื่อนบ้าน โดยบริษัทฯ คาดการณ์รายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติแตะระดับ 21,000 ล้านบาทในปี 2569 หรือ 1.75 เท่าจากปี 2564 จากการเติบโตทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ โดยธุรกิจโลจิสติกส์ในปีนี้ คาดว่าจะมีพื้นที่มีการพัฒนาใหม่ และโครงการเปิดใหม่รวม 185,000 ตารางเมตร และคาดว่ามีสัญญาเช่าระยะสั้นผลตอบแทนสูง 100,000 ตารางเมตร ทั้งนี้บริษัทฯ คาดว่าจะมีทรัพย์สินภายใต้กรรมสิทธิ์และการบริหารรวมทั้งสิ้น 2,685,000 ตารางเมตร และตั้งเป้าหมายจำหน่ายทรัพย์สินคิดเป็นพื้นที่เช่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 180,000 ตารางเมตร มูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยบริษัทฯ มีแผนเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมผู้ถือหน่วยของกอง WHART และ HREIT เพื่อขออนุมัติในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ต่อไป

นอกจากนี้ ตั้งเป้ายอดขายที่ดินในปี 2565 ไว้ที่ 1,250 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 โดยแบ่งเป็นการขายที่ดิน ในประเทศ จำนวน 950 ไร่ และเวียดนาม 300 ไร่ เช่นเดียวกับธุรกิจสาธารณูปโภคที่ยังมองหาโครงการใหม่ ๆ รวมถึงโอกาสในการลงทุนเข้าซื้อกิจการ (M&A) เพิ่มเติมในอนาคต โดยในปี 2565 บริษัทฯ คาดว่าจะมีปริมาณการจำหน่ายและบริหารน้ำทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 153 ล้านลูกบาศก์เมตร และธุรกิจไฟฟ้าการให้บริการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) คาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เพิ่มเป็น 150 เมกะวัตต์ ส่งผลให้คาดว่ามีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ตามสัดส่วนการถือหุ้นถึง 700 เมกะวัตต์ และแสวงหาโอกาสในการลงทุนเข้าซื้อกิจการ (M&A) และพัฒนาโครงการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ภายใต้งบลงทุนใน 5 ปีที่ตั้งไว้ 50,000 ล้านบาท เพื่อทรานสฟอร์มธุรกิจสู่ความยั่งยืนในระยะยาว