7 ธุรกิจสร้างความภาคภูมิใจให้วงการเอสเอ็มอีไทยในยุควิกฤติ คว้ารางวัลเกียรติยศ Bai Po Business Awards ครั้งที่ 17

04 Feb 2022

ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมเอสเอ็มอีไทยให้แข็งแกร่ง สามารถพัฒนาคุณภาพและสร้างความแตกต่างที่โดดเด่น โดยประกาศผลรางวัลเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจของเอสเอ็มอีไทย "Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 17" ยกย่อง 7 ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในมิติที่มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจและเพื่อเป็นแรงบันดาลใจแก่เอสเอ็มอีรายอื่นๆ ได้แก่ บริษัท อี-เอ็มพาวเวอร์เมนท์ จำกัด, บริษัท ไทยอินโนฟู้ด จำกัด, บริษัท แพค คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท วิยะเครป โปรดักส์ จำกัด, บริษัท สเปเชี่ยลตี้ เนเชอรัล โปรดักส์ จำกัด, บริษัท เอ็นคอนเซ็ปท์ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด และ บริษัท ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด โดยมี นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นประธานมอบรางวัล

7 ธุรกิจสร้างความภาคภูมิใจให้วงการเอสเอ็มอีไทยในยุควิกฤติ  คว้ารางวัลเกียรติยศ Bai Po Business Awards ครั้งที่ 17

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารมีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีมาโดยตลอด ทั้งด้านบริการทางการเงิน การให้ข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพผ่านโครงการอบรม สัมมนาต่าง ๆ พร้อมกับเพิ่มโอกาสในการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจเพื่อให้เอสเอ็มอีเติบโตไปด้วยกัน ธนาคารจึงร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดมอบรางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 17 เพื่อยกย่องเอสเอ็มอีไทยที่สามารถเติบโตและโดดเด่นในหลากหลายมิติท่ามกลางความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ รวมถึงกระแสดิสรัปต์ของเทคโนโลยี ภายใต้การปฏิบัติดีต่อสังคมส่วนรวม ที่สำคัญรางวัลนี้แตกต่างจากรางวัลอื่นตรงที่การมอบรางวัลแล้วไม่ใช่การเสร็จสิ้นภารกิจแต่ธนาคารและสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ฯ ยังมีการติดตามพัฒนาการของผู้ได้รับรางวัลอย่างต่อเนื่องในระยะยาวพร้อมทั้งคอยแนะนำส่งเสริมธุรกิจเหล่านี้ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อผลักดันให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

ตลอดช่วงระยะเวลาของการจัดโครงการ Bai Po Business Awards by Sasin พบว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีจะเล็กหรือใหญ่นั้นไม่สำคัญ แต่อยู่ที่เก่ง หรือไม่เก่ง ประกอบกับมีแนวคิดที่ยั่งยืน และเมื่อเจอกับวิกฤตก็สามารถที่จะปรับตัวและนำพาองค์กรไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็วทันกับสถานการณ์ที่ผันผวนเช่นในปัจจุบัน และยังได้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของผู้ประกอบการในยุคนี้ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ Logistic มากยิ่งขึ้น และคำนึงถึงความยั่งยืนทั้งของธุรกิจตนเอง สังคม และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ทั้งนี้กลุ่มธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์มีความพร้อมที่จะผลักดันและสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจสีเขียว (Green) เพื่อร่วมกันสร้างสังคมให้มีความก้าวหน้าและเติบโตไปด้วยกัน

รศ.ดร.ชัยพงษ์ พงษ์พานิช รองผู้อำนวยการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่ารางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ช่วยกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเอสเอ็มอีรายอื่น ๆ ให้สามารถยกระดับธุรกิจของตนเอง เชื่อมโยงระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการเข้าไว้ด้วยกัน และร่วมกันเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้น ยั่งยืนขึ้น ซึ่งการสร้างความยั่งยืนถือเป็นสิ่งที่สำคัญ สามารถใช้พลังความเป็นผู้ประกอบการหาวิธีการใหม่ ๆ สร้างนวัตกรรม ให้เกิดความยั่งยืนทั้งด้านผลประกอบการ สิ่งแวดล้อม และสังคม ควบคู่กันไป

นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI ในฐานะตัวแทนคณะกรรมการตัดสินรางวัล กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากกว่า 3 ล้านรายและมีบทบาทต่อการจ้างงานราว 70% ภาคเอสเอ็มอีจึงนับเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจในประเทศ สำหรับเส้นทางการเติบโตเอสเอ็มอีไทยในปี 2022 นั้น ปัจจัยที่ต้องระวังคงหนีไม่พ้นเรื่องต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากผลกระทบของ COVID-19 การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานยังส่งผลกระทบต่อการผลิตทั่วโลกทำให้มีความยากในการวางแผนอนาคต ดังนั้นการวางแผนรับมือในเหตุการณ์ไม่ปกติ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เอสเอ็มอีต้องทำ โดยยุทธศาสตร์ที่ทุกธุรกิจต้องโฟกัส คือ "การปรับตัว" อย่างเร่งด่วนใน 5 ด้าน เริ่มต้นจาก 1) ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ ทุกวิกฤติการณ์ที่ต้องเจอต่อจากนี้ไปจะทำให้เราแข็งแกร่ง 2) ปรับตัวให้ทันกับเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของดิจิทัล ผลักดันธุรกิจเข้าสู่แพลตฟอร์ม E-commerce และอย่าหันหลังให้นวัตกรรม 3) ปรับกลุ่มเป้าหมายใหม่รู้จักกระจายความเสี่ยง 4) ปรับวิธีการหารายได้จากธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ มองหาแนวร่วมเครือข่ายเอสเอ็มอีเพื่อต่อยอดธุรกิจไปด้วยกัน และ 5) ปรับองค์กรให้คล่องตัวอยู่เสมอ ทั้งนี้ การทำธุรกิจต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน รู้จุดยืนในแบรนด์ของตนเอง รวมถึงคำนึงถึงลูกค้าเป็นหัวใจสำคัญ และสิ่งที่ขาดไม่ได้ที่สุดคือ การคำนึงถึงความยั่งยืนในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ต้องเผชิญกับวิกฤติ COVID-19 ที่เป็นชนวนสร้างจุดเปลี่ยนของโลกธุรกิจไปตลอดกาล

สำหรับการตัดสินรางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ในครั้งที่ 17 นี้ มีธุรกิจที่ได้รับรางวัล จำนวน 7 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลตามมิติการพิจารณารางวัลของโครงการ จำนวน 6 ราย และเนื่องด้วยทางโครงการได้เล็งเห็นความโดดเด่นของเอสเอ็มอีที่เป็นองค์กรที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมคุณค่าแก่สังคม จึงได้มีการพิจารณามอบรางวัลพิเศษ จำนวน 1 ราย ดังนี้

  1. บริษัท อี-เอ็มพาวเวอร์เมนท์ จำกัด ธุรกิจคลังสินค้าออนไลน์ ภายใต้ชื่อ MyCloudFulfillment มีบริการที่พร้อมอำนวยความสะดวก 3 ด้านหลัก คือ เก็บ แพ็ก ส่งสินค้า ล่าสุดบริษัทได้รับเงินลงทุนระดับ Series B มูลค่า 7.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 250 ล้านบาท จาก JWD Group และ SCB 10X โดยมีเป้าหมายที่จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนนำไปเพิ่มศักยภาพด้านคลังสินค้าและการรองรับการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ได้รับรางวัลในมิติ องค์กรที่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovative Enterprise) การบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า (Customer-Focused Product and Service) และการสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)
  2. บริษัท ไทยอินโนฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายแหนมรูปแบบต่าง ๆ ภายใต้ชื่อ แหนมดอนเมือง กม.26 และ แหนมสุทธิลักษณ์ นับเป็นรายแรกของประเทศไทยที่นำนวัตกรรมการฉายรังสีในอาหารมาใช้กับผลิตภัณฑ์แหนม เพื่อฆ่าเชื้อโรคโดยปราศจากสารกัมมันตรังสีตกค้าง และเป็นรายแรกที่นำเทคโนโลยีสุญญากาศมาใช้กับบรรจุภัณฑ์แหนม หัวใจหลักที่สำคัญอีกประการที่ทำให้บริษัทก้าวสู่ความสำเร็จก็คือการให้ความสำคัญกับด้านการพัฒนาบุคลากรเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนรับมือกับความเสี่ยงจากภาวะวิกฤติต่าง ๆ อยู่เสมอ ได้รับรางวัลในมิติ องค์กรที่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovative Enterprise) การบริหารจัดการด้านบุคลากร (People Excellence) และการสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)
  3. บริษัท แพค คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้สร้างสรรค์และพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเครื่องทำน้ำร้อน และเครื่องปรับอากาศประหยัดพลังงาน ภายใต้แบรนด์ "PAC" ผลิตภัณฑ์เด่นคือ เครื่องทำน้ำร้อนจากคอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศ ที่นำเทคโนโลยีการหมุนเวียนนำเอาพลังงานที่สูญเปล่ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ได้รับรางวัลในมิติ องค์กรที่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovative Enterprise) การบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า (Customer-Focused Product and Service) และการสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)
  4. บริษัท วิยะเครป โปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกเนื้อปูพาสเจอไรซ์บรรจุกระป๋องและถุงแช่เย็น ภายใต้แบรนด์ Siam Crab Viya Crab Swasdee Crab และ Smile Crab รวมถึงต่อยอดเป็นสินค้าแปรรูปอื่น ๆ ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ รวมถึงร้านอาหาร "ชาวเลซีฟู้ดส์" นอกจากนี้ ยังคำนึงถึงการสร้างความยั่งยืนด้วยการจัดตั้ง "ธนาคารปูม้า" เพื่อคืนปูม้าสู่ท้องทะเลไทย คืนกำไรให้กับสังคม ได้รับรางวัลในมิติ องค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable Business Practice) และการสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)
  5. บริษัท สเปเชี่ยลตี้ เนเชอรัล โปรดักส์ จำกัด ผู้นำในด้านการผลิตสารสกัดสมุนไพรเป็นวัตถุดิบสารออกฤทธิ์ด้านสุขภาพและความงาม สำหรับอุตสาหกรรมยาพัฒนาจากสมุนไพร ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ยาสามัญ ยาแผนโบราณ เครื่องดื่ม เวชสำอาง และทางการแพทย์ ถือเป็นผู้ผลิตรายหลักในประเทศไทยที่สามารถผลิตสารสกัดสมุนไพรไทยที่ได้มาตรฐานระดับสากล ได้รับรางวัลในมิติ องค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable Business Practice) องค์กรที่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovative Enterprise) การบริหารจัดการด้านการเงิน (Financial Strength) การสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)
  6. บริษัท เอ็นคอนเซ็ปท์ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด สถาบันสอนภาษาอังกฤษภายใต้ชื่อ Enconcept ซึ่งเป็นรายแรกของไทยที่นำบทเพลงและดนตรี (Memolody) มาใช้ในการเรียน ทำให้ผู้เรียนมีทัศนคติที่ดีต่อภาษาอังกฤษ เรียนแล้วมีความสุข สนุก รู้สึกว่าง่าย รวมถึงนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาวิธีการเรียน และพัฒนา 30 แอพพลิเคชั่นการศึกษาขึ้นมา เพื่อช่วยให้คนไทยเข้าถึงความรู้ภาษาอังกฤษได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังเปิดโรงเรียนหลักสูตรระบบอังกฤษ The Newton Sixth Form School และโรงเรียนเต็มเวลาภาคไทย The Essence School ที่ให้ความสำคัญกับเวลา เรียนเฉพาะวิชาหลักที่จำเป็นแต่เน้นให้รู้ลึกถึงปรัชญา ได้รับรางวัลในมิติ องค์กรที่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovative Enterprise) การบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า (Customer-Focused Product and Service) และการสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)

สำหรับในปีนี้ได้มีการมอบรางวัลพิเศษ "องค์กรที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมคุณค่าแก่สังคม (Social Value Creation)" ให้กับธุรกิจที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกที่เป็นรูปธรรมให้แก่ชุมชนหรือสังคมเป็นวงกว้างได้อย่างยั่งยืน โดยบริษัทที่ได้รับรางวัลดังกล่าว คือ บริษัท ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ซึ่งมีจุดเริ่มต้นธุรกิจมาจากแนวคิดที่ต้องการช่วยเหลือชาวนาให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน ด้วยการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นพื้นฐาน และนำหลักการปลูกพืชโดยไม่ใช้สารเคมีแบบกสิกรรมธรรมชาติมาใช้ รวมถึงมุ่งมั่นถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่กลุ่มสมาชิกชาวนาและเกษตรกร ช่วยลดต้นทุนทางการเกษตรรวมถึงเปิดโอกาสหารายได้ให้สมาชิกในเครือข่ายด้วยการทำหน้าที่กระจายสินค้าผ่านช่องทางที่หลากหลาย

การพิจารณาตัดสินรางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ประกอบด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายแขนง ผู้ประกอบการที่สมัครเข้ารับการพิจารณาไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้าของธนาคารไทยพาณิชย์หรือศศินทร์ฯ ผู้ได้รับรางวัลในแต่ละปีจะได้รับใบประกาศพร้อมโล่เกียรติคุณพร้อมตราสัญลักษณ์ "ใบโพธิ์" เป็นเครื่องหมายรับรองความโดดเด่นให้กับธุรกิจ ผู้ที่สนใจสมัครหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ www.baipo-business-award.org หรือ 02-2184001-9 ต่อ 179

7 ธุรกิจสร้างความภาคภูมิใจให้วงการเอสเอ็มอีไทยในยุควิกฤติ  คว้ารางวัลเกียรติยศ Bai Po Business Awards ครั้งที่ 17