บล.ทิสโก้แนะจับตาเงินเฟ้อ หนุน FEDเดินหน้านโยบายเข้ม ชี้โยกเงินเข้าหุ้นงบ Q4 ดี และหุ้นปันผล

01 Feb 2022

บล.ทิสโก้แนะจับตาความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน หนุนราคาน้ำมันพุ่งกดดันเงินเฟ้อเพิ่ม เร่งให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ เดินหน้านโยบายการเงินเข้มขึ้นอีก ชี้หุ้นกำไร Q4 โตเด่น และหุ้นปันผลงามเป็นทางเลือกการลงทุนที่เด่นที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์

บล.ทิสโก้แนะจับตาเงินเฟ้อ หนุน FEDเดินหน้านโยบายเข้ม  ชี้โยกเงินเข้าหุ้นงบ Q4 ดี และหุ้นปันผล

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด (Mr. Apichat Poobunjirdkul, Senior Strategist, TISCO Securities Co., Ltd) กล่าวว่า การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ส่งสัญญาณการใช้นโยบายการเงินที่จะเข้มงวดขึ้นชัดเจน โดยมีความเป็นไปได้สูงที่ FED จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมเดือนมีนาคม พร้อมกับการยุติมาตรการผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณ (QE) หลังจากที่ FED ได้ทำการชะลอการเข้าซื้อสินทรัพย์ลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว (QE Tapering) โดยบล. ทิสโก้และตลาดประเมินสอดคล้องกันว่า FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% อย่างน้อย 4 ครั้งในปีนี้ ซึ่งคาดว่าราคาหุ้นในปัจจุบันได้รับรู้ประเด็นดังกล่าวไปมากแล้ว

สำหรับแนวโน้มการลดขนาดงบดุล (QT) บล. ทิสโก้คาดว่าจะเริ่มเกิดขึ้นในช่วงกลางปีนี้ โดยหากอิงจากการประเมินของ Jefferies ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจของบล. ทิสโก้ที่คาดว่า การลดขนาดงบดุลของ FED จะอยู่ที่เดือนละ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่าคาดการณ์ของตลาดโดยเฉลี่ยที่เดือนละ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้งบดุลลดลงมากกว่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 1 ปีแรกของการปรับลดขนาดงบดุล จากระดับสูงสุดที่ 8.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปัจจุบัน

นอกจากประเด็นด้านการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มข้นของ FED แล้ว บล. ทิสโก้แนะนำให้นักลงทุนติดตามพัฒนาการของเงินเฟ้อและสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครนใกล้ชิด เพราะอาจนำไปสู่ภาวะราคาน้ำมันสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อให้เพิ่มสูงขึ้นอีก จากการศึกษาดัชนีราคาช่วงที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับเพิ่มขึ้นแรง (Commodities Supercycle) ในปี 2554 พบว่าราคาน้ำมัน (WTI) จะใช้เวลาส่งผ่านราคาต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังดัชนีราคาผู้ผลิตด้านสินค้าโภคภัณฑ์ (PPI: All commodities) และอัตราเงินเฟ้อ (CPI) ราว 2 และ 4 เดือน ตามลำดับ ดังนั้นราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ชี้ว่าอัตราเงินเฟ้ออาจปรับเพิ่มขึ้นต่อถึงเดือนพฤษภาคม เป็นอย่างน้อย

ทั้งนี้ หากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อไม่แผ่วลง อาจจะทำให้ FED ต้องส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินที่จะเข้มงวดขึ้นกว่าเดิม เช่น การขึ้นดอกเบี้ย 5 ครั้งในปีนี้ หรือมีการปรับขึ้นถึงครั้งละ 0.50% จากปกติที่ FED จะขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมต่อตลาดการเงิน

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4/2564 คาดการณ์ของตลาดโดยรวม (Bloomberg Consensus) จำนวน 234 หลักทรัพย์ (คิดเป็น 88% ของมูลค่าตลาดรวมทั้งหมด) คาดจะมีกำไรสุทธิโดยรวมอยู่ที่ 2.20 แสนล้านบาทในไตรมาส 4/2564 เพิ่มขึ้น +24% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) และ +22% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (QoQ) โดยกลุ่มที่คาดจะมีกำไรเติบโตโดดเด่นทั้ง YoY และ QoQ คือ ENERG (+81% YoY, +37% QoQ), CONMAT (+30% YoY, +37% QoQ), FOOD (+81% YoY, พลิกจากที่ขาดทุน QoQ) และ ETRON (+45% YoY, +33% QoQ)

โดยสรุป บล. ทิสโก้ยังคงมุมมองการลงทุนปีนี้เป็นปีที่ท้าทายโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและนโยบายการเงินของ FED ที่จะเริ่มเข้มงวดขึ้น ซึ่ง บล. ทิสโก้มองหุ้นที่คาดงบ Q4 จะออกมาดี และหุ้นปันผลสูงที่กำไรปีนี้ยังเติบโตได้เป็นตัวเลือกการลงทุนที่เด่นที่สุดในเดือนนี้ อิงจากสถิติย้อนหลัง 7 ปีในเดือนกุมภาพันธ์ต่อเนื่องจนถึงเดือนมีนาคม ผลตอบแทนรวมของ SETHD Index ซึ่งตัวแทนของหุ้นที่เงินปันผลดีสม่ำเสมอ จะดีกว่าผลตอบแทนรวมของ SET Index เฉลี่ย +2.1% และ +0.4% ตามลำดับ โดยหุ้นเด่นในเดือนกุมภาพันธ์ ที่บล. ทิสโก้แนะนำ คือ BANPU, COM7, CPALL, CPF, EGCO, KKP และ SCB ด้านแนวรับสำคัญของเดือนนี้อยู่ที่ 1,610 - 1,620 จุด แนวต้านสำคัญอยู่ที่ 1,660 - 1,680 จุด ตามลำดับ