สุชาติ ยกระดับแรงงานสัมพันธ์เชิงรุก ชงเข้มนโยบายขับเคลื่อนด้วยระบบทวิภาคี

12 Jan 2022

กระทรวงแรงงานเร่งขับเคลื่อนการบริหารจัดการแรงงานสัมพันธ์เชิงรุกในภาวะวิกฤติ COVID - 19 พร้อมปรับบทบาทหน้าที่ของศูนย์ปฏิบัติการแรงงานสัมพันธ์ระดับภูมิภาค เพิ่มความคล่องตัวในการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ

สุชาติ ยกระดับแรงงานสัมพันธ์เชิงรุก ชงเข้มนโยบายขับเคลื่อนด้วยระบบทวิภาคี

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) มีการระบาดอย่างรุนแรงจากสายพันธุ์เดลตา และเริ่มเข้าสู่การแพร่ระบาดระลอกที่ 5 จากสายพันธุ์โอมิครอน ที่ติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดลตา ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ทำให้สถานประกอบกิจการมีการเลิกจ้างลูกจ้าง และมีการใช้มาตรา 75 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หยุดกิจการและปิดตัวลง ด้วยความห่วงใยของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมทั้งพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญต่อพี่น้องผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการ ให้สามารถดำเนินกิจการเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โรคติดเชื้อโคโรนา 2019 ให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว กระทรวงแรงงาน จึงได้มอบนโยบายการขับเคลื่อนการบริหารจัดการแรงงานสัมพันธ์เชิงรุกในภาวะวิกฤติ ให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดำเนินการ โดยปรับบทบาทหน้าที่ของศูนย์ปฏิบัติการแรงงานสัมพันธ์ระดับภูมิภาค เพิ่มความคล่องตัวในการบริหารงาน อันจะก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดในการปฏิบัติงานขององค์กร การดำเนินงานเชิงรุกและการบูรณาการ การป้องกันปัญหาและบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติด้านแรงงาน ป้องกันและแก้ไขปัญหาข้อพิพาทแรงงาน และข้อขัดแย้งในพื้นที่ที่รับผิดชอบให้ยุติได้โดยเร็ว ตลอดจนเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อมูลและสถานการณ์แรงงานในแต่ละพื้นที่ โดยใช้แนวทางการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ และมาตรการช่วยเหลือนายจ้าง ลูกจ้าง ในสถานประกอบกิจการในยุคการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หากลูกจ้างและนายจ้างที่เกิดปัญหาข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ จะเข้าสู่การชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และห้ามนายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงานในระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ พร้อมทั้งส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์เชิงรุกในภาวะวิกฤตด้วยระบบทวิภาคีภายใต้บริบทใหม่ (New Normal) โดยรณรงค์ให้สถานประกอบกิจการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจัดให้มีระบบบริหารจัดการด้านแรงงานสัมพันธ์ที่ดี เพื่อเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบแรงงานสัมพันธ์สมานฉันท์ รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์อย่างเป็นระบบ

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ทุกฝ่ายร่วมกันแก้ไขปัญหา ร่วมกันรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน หน่วยงานภายในพื้นที่ หรือหน่วยงานภายนอก ร่วมดำเนินการทั้งการบริหารกฎหมายควบคู่กับการเจรจาไกล่เกลี่ยด้วยหลักสุจริตใจ ซึ่งครอบคลุมนายจ้าง ลูกจ้าง ที่ปรึกษา องค์กรแรงงาน และสื่อสารมวลชน ถือเป็นความร่วมมือกันในการขับเคลื่อน เพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในแวดวงแรงงาน การดำเนินธุรกิจของนายจ้าง และลูกจ้าง ด้วยความเป็นธรรมภายใต้กรอบของกฎหมาย "โดยยึดหลักการเจรจาโดยสุจริตใจ"