กองทุนบัวหลวงเปิดโผ 4 กองทุนต้องมีในไตรมาสแรกปี 2565 เสริมความแข็งแกร่งพอร์ตลงทุน

04 Jan 2022

นายสันติ ธนะนิรันดร์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด หรือ กองทุนบัวหลวง เปิดเผยว่า ในปี 2565 นักลงทุนต้องติดตามปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการลงทุน ได้แก่ สถานการณ์เงินเฟ้อ ที่คาดว่าจะค่อยๆ ชะลอตัวลงจากปัญหาเรื่องห่วงโซ่การผลิตที่ค่อยๆ คลี่คลาย ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ปัจจุบันลดการเข้าซื้อสินทรัพย์เดือนละ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะทำให้การเข้าซื้อสินทรัพย์สิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2565 เพื่อเปิดทางให้กับการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่ง FED Dot Plot (การคาดการณ์ดอกเบี้ยของคณะกรรมการเฟด) คาดว่า จะมีขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้ง ภายในปี 2565 และอีก 3 ครั้ง ในปี 2566 ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ กองทุนบัวหลวงมองว่า ตลาดจะคลายกังวลเรื่องเงินเฟ้อ และถ้าไม่มีปัจจัยอื่นมาเพิ่มความกังวล ตลาดหุ้นจะยังให้ผลตอบแทนที่ดี

กองทุนบัวหลวงเปิดโผ 4 กองทุนต้องมีในไตรมาสแรกปี 2565 เสริมความแข็งแกร่งพอร์ตลงทุน

ปัจจัยต่อมาคือ การแพร่ระบาดของโควิดที่ยังไม่ได้หายไปจากโลกนี้ เรายังต้องติดตามไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ และมาตรการที่แต่ละประเทศนำมาใช้ในการควบคุมไวรัส และสุดท้ายการเลือกตั้งในหลายประเทศทั่วโลก เช่น อิตาลีและฝรั่งเศสที่จะเลือกตั้งประธานาธิบดี จีนจะเลือกตั้งตำแหน่งสำคัญอย่าง ประธานคณะมนตรีรัฐวิสาหกิจสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ปัจจุบัน นายหลี่ เค่อเฉียง ดำรงตำแหน่งอยู่ ส่วนสหรัฐฯ จะเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งการเลือกตั้งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายหลักๆสำคัญในประเทศเหล่านี้ได้

นายสันติ กล่าวว่า ทีม Investment Strategy กองทุนบัวหลวงได้จัดทำ B-Select คำแนะนำการลงทุนประจำไตรมาส โดยคัดเลือกกองทุนที่เหมาะสำหรับการเพิ่มน้ำหนักลงทุน ประจำไตรมาสแรกปี 2565 ทั้งหมด 4 กองทุน ซึ่งรับมือปัจจัยที่กล่าวมาได้ ได้แก่ กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์ (BCARE) กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นญี่ปุ่น (B-NIPPON) กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นจีน (B-CHINE-EQ) และกองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลอินโนเวชั่นและเทคโนโลยี (B-INNOTECH)

สำหรับ BCARE กองทุนบัวหลวงมองว่า ธีมสุขภาพจะเป็นธีมสำคัญและมีบทบาทมากขึ้นหลังเกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ และในช่วงเงินเฟ้อสูงที่เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ กลุ่มสุขภาพยังเป็นกลุ่มที่ปกป้องพอร์ตลงทุนจากเงินเฟ้อและให้ผลตอบแทนที่ดีได้ ขณะที่มูลค่าหุ้นกลุ่มนี้ยังไม่แพง โดยยังมีมูลค่าถูกกว่าหลายๆ อุตสาหกรรมในดัชนี S&P 500 พอสมควร

ส่วน B-NIPPON นั้น ทีม Investment Strategy คาดว่าปี 2565 จะเป็นปีแห่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น อีกทั้ง นโยบายการเงินของญี่ปุ่นยังผ่อนคลายและเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ก็จะเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น ทั้งด้านกำไรที่ยังมีแนวโน้มปรับขึ้นและมูลค่าหุ้นที่ยังไม่สูงมากนัก

ในส่วนของ B-CHINE-EQ กองทุนบัวหลวงมองว่า อาจจะมีจุดเปลี่ยนด้านนโยบายของจีน ทั้งนโยบายการเงินและการคลัง รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าเดิม หลังจากการใช้นโยบายที่เข้มงวดด้านการเงินการคลังและมีการใช้กฏหมายที่จัดระเบียบในหลายๆ อุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการผูกขาดตลาดสำหรับบริษัทเทคโนโลยี ในปี 2564 จนส่งผลให้เศรษฐกิจจีนอาจชะลอตัวลง ดังนั้น หากนโยบายต่างๆ เริ่มผ่อนคลายมากกว่าเดิม ปี 2565 ก็น่าจะเป็นปีที่หุ้นจีนกลับมาให้ผลตอบแทนที่ดีได้อีกครั้ง

สุดท้ายคือ B-INNOTECH ซึ่งกองทุนบัวหลวงเชื่อมั่นว่า กลุ่มเทคโนโลยีจะยังเป็นหนึ่งใน Top-performing sector ที่ให้ผลตอบแทนได้ดีใน 10 ปีข้างหน้า โดยในปี 2565 เงินเฟ้อที่สูงน่าจะมีผลกระทบต่อกำไรของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ค่อนข้างจำกัด เพราะบริษัทเหล่านี้มีความสามารถปรับตัวและขึ้นราคาได้ ทั้งยังมีการลงทุนต่อเนื่อง ทำให้เกิดการเติบโตใหม่ๆ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี AR, VR, Metaverse ดังนั้น B-INNOTECH ซึ่งลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ จะยังสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้

"การลงทุน มีโอกาสเผชิญสถานการณ์แวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้เสมอ แต่ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร หากนักลงทุนมีเป้าหมายที่แน่ชัด แล้วยืนหยัดลงทุนต่อไป โดยปรับสัดส่วนการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ก็มีโอกาสพบความสำเร็จได้ที่ปลายทาง ซึ่งกองทุนบัวหลวงพร้อมยืดหยัดเคียงข้างผู้ลงทุน เป็นมิตรแท้ตลอดเส้นทางลงทุน และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดทำ B-Select คัดสรรกองทุนแนะนำทุกไตรมาสนี้ จะช่วยผู้ลงทุนที่กำลังต้องการจัดสรรเงินลงทุน ปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ได้" นายสันติ กล่าว

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจ ลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นกับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน