1 ม.ค.2565 เปิดเสรี RCEP.... สร้างบรรยากาศการค้า การลงทุนในภูมิภาค แต่ไทยยังต้องเจอการแข่งขันดึงดูดการลงทุนที่มากขึ้น

04 Jan 2022

ประเด็นสำคัญ

  • RCEP เริ่มเปิดเสรี 1 ม.ค.2565 ในเชิงการค้าระหว่างประเทศนั้น ประโยชน์ส่วนเพิ่มจากการลดภาษีนำเข้าครั้งนี้ค่อนข้างจำกัดเนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ได้เปิดเสรีไปแล้วตามความตกลง FTA อาเซียนกับคู่ภาคี Plus 5 โดยผลบวกทางตรงเกิดขึ้นอย่างชัดเจนจะอยู่ในตลาดจีนและเกาหลีใต้ ในกลุ่มสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการที่ไทยส่งออกไม่มากอยู่แล้ว ขณะที่ผลบวกทางอ้อมมาจากการเปิดเสรีการค้าหว่างกันเป็นครั้งแรกของ Plus 5 อยู่ในกลุ่มที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดิมที่ส่งออกไปยัง Plus 5 อาทิ ยานยนต์/ชิ้นส่วน เม็ดพลาสติก/ผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ยางพารา/ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  • ในเชิงการลงทุน RCEP เป็นเครื่องมือหนึ่งสำคัญที่ช่วยให้ไทยเกาะติดไปกับห่วงโซ่การผลิตโลกในฝั่งเอเชีย ด้วยจุดเด่นที่เป็นฐานการผลิตครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในโลกมี ROOs ที่ครอบคลุมทั้ง 15 ประเทศทำให้การลงทุนในภูมิภาคน่าสนใจมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิต RCEP ยังมีโอกาสได้อานิสงส์เม็ดเงินลงทุนในอนาคตต่อยอดการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีดั้งเดิมอย่าง HDDs IC การประกอบวงจรพิมพ์ ยานยนต์ แต่โจทย์สำคัญหลังจากนี้คือการดึงดูด FDI กลุ่มเทคโนโลยีที่เป็นหัวใจหลักที่จะช่วยยกระดับโครงสร้างการผลิตของไทยให้ก้าวไปสู่อุตสาหกรรม S-Curve อย่างไรก็ตาม การดึงดูด FDI ของไทยต้องแข่งขันกับประเทศอาเซียนอื่นเช่นกัน โดยเฉพาะเวียดนามและอินโดนีเซียต่างก็อยู่ใน RCEP จึงมีโอกาสคว้าการลงทุนได้เหมือนไทย ดังนั้น ความพร้อมด้านการลงทุนเป็นปัจจัยที่นักลงทุนให้ความสำคัญในการตัดสินใจลงทุน นับเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือพัฒนาให้เกิดขึ้นมาจึงจะทำให้ไทยมีแรงดึงดูดการลงทุนได้เหนือคู่แข่ง ทั้งการจัดทำ FTA กับประเทศสำคัญที่เป็นตลาดเป้าหมาย การสร้างบรรยากาศการลงทุนที่เป็นตัวช่วยเสริมให้ธุรกิจมีความคล่องตัว การเตรียมความพร้อมรองรับกระแส ESG ตลอดจนการผลักดันมาตรการส่งเสริมการลงทุน

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) นับเป็นการเปิดเสรีการค้ากับกลุ่มการค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2565 นี้ หลังเจรจามายาวนานถึงเกือบทศวรรษ ซึ่งการเปิดเสรีการค้ากับ 15 ชาติสมาชิกจะช่วยให้การค้าระหว่างชาติสมาชิกมีความสะดวกมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาตรวจปล่อยสินค้าที่สั้นลงเหลือ 6-48 ชั่วโมง มีการนำระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยลดความซ้ำซ้อนด้านพิธีการศุลกากร โดยการเปิดตลาดยังเสริมให้ RCEP มีความน่าสนใจ

การเปิดตลาดสินค้าของ RCEP มีจุดน่าสนใจอยู่ที่การลดภาษีสินค้าในกลุ่มที่ไม่เคยลดภาษีใน FTA ฉบับอื่นมาก่อน เปิดโอกาสให้สินค้าไทยเป็นที่ต้องการมากขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม

  • อานิสงส์ทางตรง: การลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าอ่อนไหว/อ่อนไหวสูงของประเทศจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ล้วนเปิดโอกาสให้แก่สินค้าศักยภาพของไทย ซึ่งก่อนหน้านี้สินค้ากลุ่มดังกล่าวยังคงมีการจัดเก็บภาษีนำเข้าอยู่ แม้จะมี FTA ระหว่างอาเซียนกับคู่ภาคีหรือ Plus 5 (ประกอบด้วยอาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลีใต้ อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) ที่ได้ลดภาษีสินค้าส่วนใหญ่ไปตั้งแต่ปี 2553 แต่นับจากวันที่ 1 มกราคม 2565 ภายใต้กรอบ RCEP ภาษีนำเข้าในสินค้าดังกล่าวจำนวนมากจะลดอัตราเหลือ 0 ทันที ในขณะที่ยังมีหลายรายการที่จะทยอยลดภาษีจนเหลือร้อยละ 0 ในปีที่ 10 และปีที่ 20 และบางรายการก็ไม่ลดภาษี

ดังนั้น ผู้ส่งออกอาจต้องพิจารณาเลือกใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากความตกลงที่ให้ประโยชน์คุ้มค่ากว่าระหว่าง FTA อาเซียนกับ Plus 5 หรือ RCEP 1) สินค้าไทยมีโอกาสทำตลาดในจีนและเกาหลีใต้ได้มากขึ้น โดยมีสินค้าอ่อนไหวหลายรายการได้ประโยชน์จาก RCEP ด้วยการลดภาษีที่มากกว่า FTA อาเซียน-จีน และ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ ตลาดจีน ได้แก่ สับปะรดแปรรูป ลำไยกระป๋อง น้ำมะพร้าว ยาสูบ เม็ดพลาสติก ยางสังเคราะห์ เครื่องเสียง และอุปกรณ์ไฟสำหรับรถยนต์ เป็นต้น ตลาดเกาหลีใต้ ได้แก่ ยางสังเคราะห์ อาหารทะเลสด/แปรรูป เนื้อไก่ เนื้อหมู ไม้พาติเคิลบอร์ด และข้าวโพดหวาน เป็นต้น 2) สินค้าไทยได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากตลาดญี่ปุ่น ไทยมีความตกลง FTA ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) นับว่ามีการลดภาษีให้สินค้าไทยมากที่สุด ดังตัวอย่างการส่งออกกล้วยของไทยได้โควตาปลอดภาษี เมื่อเทียบกับ FTA อาเซียน-ญี่ปุ่นที่ยังมีอัตราภาษีสูงกว่า และ RCEP ยังคงอัตราภาษีไว้ที่ระดับปกติร้อยละ 20 อย่างไรก็ดี อาหารทะเลสดและหนังดิบของไทยก็อัตราภาษีต่ำลงจากความตกลง RCEP ขณะที่ตลาดออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ได้ลดภาษีสินค้าไปทั้งหมดตั้งแต่เปิดเสรี FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ การเปิดเสรี RCEP ครั้งนี้จึงไม่มีอะไรต่างไปจากเดิม

  • อานิสงส์ทางอ้อม: การรวมตัวเป็น RCEP ในอีกด้านหนึ่งทำให้ประเทศ Plus 5 ที่ไม่เคยมี FTA ต่อกัน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ ได้มี FTA ร่วมกันเป็นครั้งแรก ส่งผลให้สินค้าขั้นกลางของไทยที่ทำตลาดได้ดีอยู่แล้วมีโอกาสขยายตัว อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ดี การที่ Plus 5 มีแนวโน้มค้าขายกันเองจากการลดกำแพงภาษีระหว่างกันครั้งนี้คงไม่ส่งผลให้เกิดการแย่งชิงตลาดกับสินค้าอาเซียนและสินค้าไทยที่ทำตลาดอยู่เพราะเป็นสินค้าคนละประเภทกัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในเวลานี้ RCEP กลายเป็นความตกลงทางการค้าแบบพหุภาคีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และใหญ่กว่าความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ที่ปัจจุบันมีสมาชิก 12 ประเทศ ด้วยหลายปัจจัยบวกยิ่งทำให้ RCEP มีความพร้อมรอบด้านกลายเป็นแหล่งการลงทุนที่น่าดึงดูดที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในฟากฝั่งเอเชีย ดังนี้

  • กฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origins: ROOs) ที่รวมทั้ง 15 ประเทศเข้าไว้ด้วยกันเป็นข้อได้เปรียบที่เสริมให้ RCEP เชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตของภูมิภาคเข้าเป็นหนึ่งเดียว นักลงทุนในประเทศสมาชิก RCEP สามารถนำเข้าปัจจัยการผลิตที่มีมูลค่าสูงจากประเทศสมาชิกผู้พัฒนาเทคโนโลยีได้สะดวกกว่า FTA อาเซียนกับ Plus 5 ตัวอย่าง การส่งออกรถยนต์โดยใช้สิทธิ FTA อาเซียน-จีน ที่ ROOs กำหนดให้ใช้วัตถุดิบจากอาเซียนและจีนร้อยละ 40 ซึ่งหากต้องนำเข้าวัตถุดิบสำคัญที่มีมูลค่าสูงจากญี่ปุ่นอย่างเซลล์แบตเตอรี่ EV และแผงควบคุมดิจิทัล และนำเข้าชิปอัจฉะริยะที่ใช้เทคโนโลยีสูงจากไต้หวันที่อยู่นอกกลุ่ม นักลงทุนต้องเผชิญความยุ่งยากในการจัดสรรปัจจัยการผลิตให้สอดคล้องกับข้อกำหนด ROOs ของ FTA ฉบับนั้นๆ ขณะที่ ROOs ของ RCEP ช่วยปลดล็อคข้อจำกัดดังกล่าว ทั้งยังมีความยืดหยุ่นพอสมควรโดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์กำหนดให้ใช้วัตถุดิบภายในสมาชิกร้อยละ 30-60 ที่เหลือสามารถนำมาจากนอกกลุ่มได้
  • RCEP เป็น FTA ที่มีความพร้อมด้านการผลิตอย่างครบวงจรที่ประกอบด้วยกลุ่มประเทศผลิตสินค้าต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำเข้าไว้ด้วยกัน โดยความพิเศษอีกอย่างของ RCEP คือเป็นครั้งแรกที่ประเทศเจ้าของเทคโนโลยีการผลิตฝั่งเอเชียอย่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีได้เข้ามาอยู่ร่วมใน FTA เดียวกัน จึงมีความพร้อมในด้านการผลิตในฟากฝั่งเอเชีย โดยมีประเทศที่มีทรัพยากรและเทคโนโลยีต้นน้ำอย่างออสเตรเลียมีแร่หายาก ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง และมีอาเซียนกับจีนเป็นผู้ผลิตสินค้าขั้นกลางและขั้นปลายที่ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสมาชิกภายใน 15 ประเทศรวมกันยังเป็นตลาดการบริโภคขนาดใหญ่ที่มีประชากรถึง 1 ใน 3 ของประชากร อีกทั้ง ในปัจจุบัน RCEP ก็มีศักยภาพเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเทคโนโลยีที่สำคัญของโลกอยู่แล้วอย่างโน้ตบุ๊ก/แท็บเล็ต สมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 74 ร้อยละ 70 และร้อยละ 35 ของการส่งออกสินค้าแต่ละชนิดของโลกในปี 2563

โดยสรุป ในเวลานี้ RCEP เป็นตลาดส่งออกสำคัญที่สุดของไทยมีมูลค่าถึง 132,704 ล้านดอลลาร์ฯ (11 เดือนแรกปี 2564) คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 53.3 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาการส่งออกของไทยไปตลาดดังกล่าวมีสัญญาณการฟื้นตัวค่อนข้างชัดเจนขยายตัวร้อยละ 18 (YoY) นำโดยการเติบโตของตลาดเกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 38.8(YoY) ร้อยละ 25.9(YoY) และร้อยละ 10.4(YoY) ตามลำดับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในเชิงการค้าระหว่างประเทศนั้น ประโยชน์ส่วนเพิ่มจากการลดภาษีนำเข้าภายใต้กรอบการเปิดเสรี RCEP ส่งผลบวกต่อไทยค่อนข้างจำกัดเนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ได้เปิดเสรีไปแล้วตามความตกลง FTA อาเซียนกับคู่ภาคี Plus 5 ดังนั้น ผลบวกทางตรงที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนจะอยู่ที่การส่งออกไปยังตลาดจีนและเกาหลีใต้ และเป็นสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการที่ไทยส่งออกไม่มากนัก ขณะที่ผลบวกทางอ้อมจากการเปิดเสรีการค้าหว่างกันเป็นครั้งแรกของ Plus 5 ก็อยู่ในกลุ่มสินค้าที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดิมที่ส่งออกไปยัง Plus 5 อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ในเชิงการลงทุน RCEP เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศขนาดใหญ่ที่มีความครอบคลุม ซึ่งช่วยให้ไทยเกาะติดไปกับห่วงโซ่การผลิตโลกในฝั่งเอเชีย แต่อานิสงส์ที่จะได้รับเม็ดเงินลงทุนยังต้องขึ้นกับการแข่งขันช่วงชิงเม็ดเงินลงทุนใหม่กับประเทศในอาเซียนด้วยกัน โดยเฉพาะกับเวียดนามและอินโดนีเซียที่ต่างก็ได้อานิสงส์นี้เหมือนกัน การมี ROOs ที่ครอบคลุมทั้ง 15 ประเทศยิ่งทำให้การลงทุนในภูมิภาคมีความน่าสนใจมากขึ้นหลังจากนี้ สำหรับไทย RCEP ช่วยให้ไทยมีโอกาสได้อานิสงส์เม็ดเงินลงทุนในอนาคตต่อยอดการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีดั้งเดิมอย่าง HDDs IC การประกอบวงจรพิมพ์ และยานยนต์ แต่ไทยก็ต้องเผชิญการแข่งขันการดึงดูด FDI กลุ่มใหม่กับคู่แข่ง โดยเฉพาะการลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีที่เป็นหัวใจหลักที่จะช่วยยกระดับโครงสร้างการผลิตของไทยให้ก้าวไปสู่อุตสาหกรรม S-Curve อาทิ การผลิตเซนเซอร์อัจฉริยะ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขนาดนาโน ชิปประมวลผลในสินค้าและ IOT

อย่างไรก็ตาม การดึงดูด FDI ของไทยต้องแข่งขันกับประเทศอาเซียนอื่นเช่นกัน โดยเฉพาะเวียดนามและอินโดนีเซียต่างก็อยู่ใน RCEP จึงมีโอกาสคว้าการลงทุนได้เหมือนไทย ดังนั้น ความพร้อมด้านการลงทุนเป็นปัจจัยที่นักลงทุนให้ความสำคัญจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือพัฒนาให้เกิดขึ้นมาจึงจะทำให้ไทยมีแรงดึงดูดการลงทุนได้เหนือคู่แข่ง อาทิ 1) การจัดทำ FTA เพื่อใช้เป็นเครื่องมือลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะกรอบการค้าที่คู่แข่งมีแต่ไทยยังไม่มี เช่น CPTPP การจัดทำ FTA กับ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป รวมถึงอังกฤษ 2) การสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ช่วยเสริมให้ธุรกิจมีความคล่องตัว พร้อมเป็นเครื่อช่วยรับมือกับการเปลี่ยนผ่านของกระแสเทคโนโลยี 3) การเตรียมความพร้อมรองรับกระแสการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, and Governance: ESG) ตลอดจน 4) มาตรการของภาครัฐในการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม S-Curve อย่างต่อเนื่อง