"อิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม" พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและอิตาลี ผลักดันการค้าระหว่างประเทศโต 8%

21 Dec 2021

นักธุรกิจชั้นนำของประเทศอิตาลีและประเทศไทย ร่วมเจรจาทางการค้าในการประชุมอิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม (Italian-Thai Business Forum) ครั้งที่ 7 ในรูปแบบไฮบริด ณ ทำเนียบเอกอัคราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสถานทูตอิตาลีประจำประเทศไทย โดยปีนี้มีนักธุรกิจชั้นนำจากประเทศอิตาลีและประเทศไทยเข้าร่วมรวม 27 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทจากอิตาลี 13 บริษัท และบริษัทจากไทย 14 บริษัท และยังได้รับเกียรติจากอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทยในการเข้าร่วมประชุมอีกด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างบริษัทสมาชิกอิตาลีและไทย ซึ่งคิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินรวมกว่า 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

"อิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม" พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและอิตาลี ผลักดันการค้าระหว่างประเทศโต 8%

การประชุมอิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม มีวัตถุประสงค์หลักในการสานสัมพันธ์ พร้อมต่อยอดความร่วมมือระหว่างสมาชิกกลุ่มธุรกิจ ในการร่วมกันขับเคลื่อนธุรกิจระหว่างภาคเอกชนไทยและอิตาลี ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของสหภาพยุโรป โดยในปีนี้ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ แมนลิโอ ดิ สเตฟาโน (H.E. Mr. Manlio Di Stefano) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศของอิตาลี ในการกล่าวเปิดการประชุม และคุณอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ที่มาให้ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการเจรจาการค้าเสรี ไทย-สหภาพยุโรป ที่คาดว่าจะสามารถดันการค้าระหว่างประเทศโต 8% และช่วยให้ GDP ของไทยขยายตัวในระยะยาว 1.28% คิดเป็นมูลค่า 2.05 แสนล้านบาทต่อปี พร้อมทั้งทำให้การส่งออกของไทยไปสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 2.83% คิดเป็นมูลค่า 2.16 แสนล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม การจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ของสหภาพยุโรปที่ซึ่งมีมาตรฐานสูง จะสร้างความท้าทายให้แก่ไทย เช่น การยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิแรงงานตามแนวทางขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เป็นต้น พร้อมทั้งคุณนครินทร์ อมเรศ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ในการให้ข้อมูลแนวโน้มการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย พร้อมการวาง Growth Strategy ใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่การต่อยอดด้านที่มีศักยภาพอยู่แล้ว และใช้เอกลักษณ์ไทยเป็นจุดแข็ง พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัลและสิ่งแวดล้อม ด้วยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านโมเดลเศรษฐกิจแบบองค์รวม (BCG Model) เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้มีการหารือร่วมผลักดันสนับสนุนการเปิดการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรป เพื่อลดอุปสรรคทางภาษีและอำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุน ซึ่งจะเป็นหนึ่งในวิธีที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนอีกด้วย

นางสาวบุษบา จิราธิวัฒน์ ประธานร่วมอิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม กล่าวว่า "อิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม จัดตั้งขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2558 โดยปีนี้ถือเป็นการประชุมครั้งที่ 7 ในการร่วมกันหาแนวทางพัฒนาและส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ ซึ่งปีนี้จัดในรูปแบบไฮบริด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในนามของประธานร่วมการประชุมในครั้งนี้ ขอขอบคุณ คุณคาร์โล เปเซ็นติ (Mr.Carlo Pesenti) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิตาโมบิลิอาเร (Itamobiliare) ซึ่งเป็นประธานร่วมการประชุม พร้อมทั้งคุณอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และคุณนครินทร์ อมเรศ รองผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ให้เกียรติเข้าร่วมงานในครั้งนี้ นอกจากนี้ขอขอบคุณ ฯพณฯ โลเรนโซ กาลันตี (H.E. Mr. Lorenzo Galanti) เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการจัดการประชุม และฯพณฯ แมนลิโอ ดิ สเตฟาโน (H.E. Mr. Manlio Di Stefano) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศของอิตาลี ที่ได้กล่าวให้ความสำคัญของฟอรั่มนี้ที่จะมีส่วนผลักดันเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ รวมถึงการสนับสนุนการจัดประชุมในครั้งนี้

สำหรับการประชุมในปีนี้ นักธุรกิจตัวแทนทั้งจากประเทศไทยและอิตาลี เริ่มจาก Mr. Stefano Gardi, Chief Sustainability Officer จากกลุ่มบริษัท อิตาโมบิลิอาเร (Itamobiliare) ได้กล่าวถึงความสำคัญของแนวคิด BCG
(Bio-Circular-Green) โดยสหภาพยุโรปจะเริ่มเก็บภาษีสินค้านำเข้าที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่ง SME หรือผู้
ประกอบการไทยจะต้องเตรียมปรับตัวต่อข้อกำหนดนี้ โดยความเห็นนี้ตรงกับข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับแนวทางการเจริญเติบโตเศรษฐกิจใหม่ของไทยที่ต้องเน้นโมเดล BCG เป็นสำคัญในยุคหลังโควิด-19 นอกจากนั้น
ในที่ประชุมสมาชิกยังได้นำเสนอประเด็นอื่นๆ ดังนี้

1.ด้านธุรกิจอาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ (Food & Biotechnology)

  • กลุ่มมิตรผล มีความร่วมมือด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวอ้อย (Sugarcane Harvester)
    จากซีเอ็นเอช กรุ๊ป เพื่อลดมลพิษการเผาอ้อยและ PM 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  • สิงห์คอร์เปอเรชั่น ขยายธุรกิจผ่านตัวแทนจำหน่าย โดยบริษัทยูเนี่ยนเทรด ซึ่งขยายการจัดจำหน่ายเครื่องดื่มไปในร้านอาหารไทยและร้านอาหารจีนในอิตาลี โดยในปีนี้ยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 21% และในปีหน้าคาดว่าจะเติบโต 8% จากปีพ.ศ 2564

2.ด้านธุรกิจไลฟ์สไตล์และการบริการ (Lifestyle and Services)

  • กลุ่มเซ็นทรัล
    • จัดงาน Dolce Italia เพื่อโปรโมทสินค้าแบรนด์แฟชั่นสัญชาติอิตาลี ในเดือนมีนาคม 2564
      ณ เซ็นทรัล ชิดลม และงาน Italian Fair 2021ที่ได้คัดสรรอาหารและวัตถุดิบส่งตรงจากอิตาลี มาไว้ ณ เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และท็อปส์ ออนไลน์ ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน
    • ห้างสรรพสินค้ารีนาเชนเต มิลาน ให้ความร่วมมือในการนำสินค้าของกลุ่มสมาชิกฯ แบรนด์เครื่องสำอางเก่าแก่ที่สุดในโลกอย่าง Santa Maria Novella หนึ่งในธุรกิจล่าสุดของกลุ่ม
      อิตาโมบิลิอาเร ซึ่งได้นำมาเปิดในรูปแบบ Shop-in-Shop
    • เครือดุสิตธานี ร่วมมือกับโรงเรียนสอนทำอาหาร ALMA จากประเทศอิตาลีในการเปิดโรงเรียนสอนทำ
      อาหารอิตาลี (Italian Cooking School) ซึ่งมีแผนจะเปิดในเดือนเมษายน 2565
    • Mr. Fabrizio Ceccarelli (South East Asia and Oceania Manager, SACE) ขอให้พิจารณาการอำนวยความสะดวกการก่อตั้งธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

3.ด้านธุรกิจก่อสร้าง วัสดุ และพลังงาน (Construction, Material and Energy)

  • ปตท. มีเป้าหมาย Net Zero โดยมุ่งเน้นใน 2 นวัตกรรมคือ LNG Distribution และ Energy Storage ซึ่งได้มีการเชิญชวนทางอิตาลีมาร่วมเป็นพันธมิตรทางการค้า
  • ไทย ซัมมิท กรุ๊ป ส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่ไปยังอิตาลี โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มรถมอเตอร์ไซต์ขนาดใหญ่และ
    สกู๊ตเตอร์ และยังมองหาโอกาสสำหรับส่วนอื่นของรถมอเตอร์ไซต์ในอิตาลีเพิ่มเติมอีกด้วย รวมถึงการใช้เครื่องจักรจากอิตาลีสำหรับการผลิต
  • วงศ์บัณฑิต ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานในไทย 5 โรงงาน มีความพร้อมในแนวทางความร่วมมือกับพีเรลรี (Pirelli)
    เพื่อดำเนินธุรกิจร่วมกัน ควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน และยังช่วยชาติสมาชิกฯ โปรโมทงานอาหารและไวน์อิตาเลียนในจังหวัดภูเก็ตอีกด้วย

ทั้งนี้ในที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่าเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย-สหภาพยุโรป เป็นหนึ่งช่องทางที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ผ่านการสร้างข้อได้เปรียบทางการค้า โดยจะนำมาซึ่งการเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งทางด้านการค้า การท่องเที่ยว การขนส่ง และการลงทุน เป็นต้น และยังเป็นการเพิ่มโอกาสการนำเข้าและส่งออกในตลาดใหม่ และขยายตลาดเดิม รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและสหภาพยุโรป ซึ่งคาดการณ์ว่าจะทำให้การค้าระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป เพิ่มขึ้นได้ถึง 8% ถือเป็นโอกาสที่ดีทั้งของไทยและสหภาพยุโรปในการเติบโตทางธุรกิจ และทำให้ประเทศไทยกลายเป็น Shopping Destination ของชาวยุโรปและทั่วโลก โดยเชื่อมั่นว่าหากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการผลักดันเรื่องดังกล่าว จะทำให้ไทยมีโอกาสทางธุรกิจในอนาคต ของยุคหลังโควิด-19

จากความสำเร็จของการประชุม "อิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม" ที่ได้ดำเนินมาถึงครั้งที่ 7 สะท้อนให้เห็นถึงการมุ่งมั่นของทั้งสองประเทศในการพัฒนาการค้าทางธุรกิจร่วมกันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ โดยอิตาลีถือเป็นคู่ค้าอันดับ 24 ของประเทศไทย โดยในปีพ.ศ. 2563 ไทยและอิตาลีมีมูลค่าการค้ารวม 3,593.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มูลค่าการส่งออก 1,427.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มูลค่าการนำเข้า 2,166.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับมูลค่าการค้าระหว่างประเทศตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม ปีพ.ศ. 2564 อยู่ที่ 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องทางการค้าของอิตาลีและไทย รวมถึงโอกาสเพิ่มเติมในการเติบโตอย่างยั่งยืน" นางสาวบุษบา จิราธิวัฒน์ ประธานร่วมอิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม กล่าว

สำหรับการประชุมอิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่มในครั้งนี้ คณะกรรมการฝ่ายอิตาลีที่ได้เข้าร่วม ได้แก่ อิตาโมบิลิอาเร (Italmobiliare), ซีเอ็นเอช (CNH), ดาเนียลี (Danieli), ดูคาติ (Ducati), เอนี (Eni), เฟอเรโร่ (Ferrero), อินเตซา ซานเปาโล (Intesa Sanpaolo), เลโอนาโด (Leonardo), พีเรลรี (Pirelli), ไซเปม (SAIPEM), สถาบันประกันสินเชื่อเพื่อการค้าและการส่งออกของอิตาลี (SACE), ยูนิเครดิต (Unicredit) และวิตตอเรีย (Vittoria) ส่วนผู้เข้าร่วมจากประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มเซ็นทรัล, มิตรผล กรุ๊ป, ธนาคารกรุงเทพ, โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่, อีโนเว รับเบอร์, เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์, พิณสยาม, สิงห์คอร์เปอเรชั่น, ไทยซัมมิท, วงศ์บัณฑิต, ไทยฮั้วยางพารา และ เบทาโกร โดยการประชุมอิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม ถือเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ของไทยต่อประเทศอิตาลี ในการร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ทั้งนี้การประชุมครั้งถัดไป จะจัดขึ้นที่ประเทศไทย ในช่วงไตรมาส 4 ปี พ.ศ. 2565