นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เปิดโครงการระบบชำระค่าผ่านทางด้วยเทคโนโลยี EMV Contactless

13 Dec 2021

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดโครงการระบบชำระค่าผ่านทางด้วยเทคโนโลยี EMV Contactless เพื่อให้ประชาชนเดินทางสะดวก ชีวิตสบาย แตะ - จ่าย ด้วยบัตรใบเดียว

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เปิดโครงการระบบชำระค่าผ่านทางด้วยเทคโนโลยี EMV Contactless

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการระบบชำระค่าผ่านทางด้วยเทคโนโลยี EMV Contactless (Europay Mastercard and Visa) อำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการทางพิเศษ เชื่อมโยงทุกระบบการชำระเงินด้วยบัตรมาตรฐานสากลเพียงใบเดียว แตะ - จ่ายได้ทั้งบัตรเดบิตและบัตรเครดิตทุกธนาคารที่มีสัญลักษณ์ Contactless เดินทางสะดวก ชีวิตสบาย แก้ไขปัญหาจราจร เลี่ยงการใช้เงินสด ลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 พร้อมด้วย นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม โดยมี นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) นายธวัชชัย ชีวานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริการจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. และผู้บริหารระดับสูง กทพ. ร่วมในพิธี เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ณ บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษสะพานพระราม 7 ทางพิเศษสายศรีรัช - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า รัฐบาลโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายให้ทุกหน่วยงานเตรียมรองรับสถานการณ์และปรับตัวในรูปแบบ New Normal เพี่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัย รวมถึงเตรียมความพร้อมประเทศด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่สังคมดิจิทัลในอนาคต และให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ง่ายและทั่วถึง เพื่อให้ใช้บริการต่าง ๆ ของภาครัฐได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น หลีกเลี่ยงการสัมผัสอันจะเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 อีกทางหนึ่ง กทพ. กระทรวงคมนาคม จึงร่วมกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM พัฒนาระบบชำระค่าผ่านทางพิเศษด้วยบัตร EMV Contactless หรือ Europay MasterCard and VISA ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินที่ออกแบบมาเพื่อเป็นทางเลือกในการชำระค่าผ่านทาง ให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายโดยมีขั้นตอนง่าย ๆ เพียงแค่ขับรถเข้าช่องเงินสด ลดกระจก และแตะบัตรที่มีสัญลักษณ์ Contactless ตอบโจทย์วิถีชีวิตยุคใหม่ที่ลดการใช้และลดการสัมผัสเงินสด เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 อีกทั้งยังเป็นรูปแบบการชำระเงินที่เป็นมาตรฐานระดับสากล และ ในอนาคตจะพัฒนาไปสู่ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น หรือ M-Flow และระบบตั๋วร่วม ซึ่งใช้บัตรเพียงใบเดียวสามารถเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ได้แก่ รถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง และเรือโดยสาร โดยจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวม

ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้เปิดให้บริการครบทั้ง 5 สายทางแล้ว ได้แก่ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ทางพิเศษสายศรีรัช - วงแหวนรอบนอกฯ ทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน - ปากเกร็ด) และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (วงแหวนใต้) ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ใช้บริการทางพิเศษเป็นอย่างดี มีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีความสะดวกรวดเร็ว ใช้เวลาน้อยกว่าการชำระค่าผ่านทางด้วยเงินสด ถือเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการทางพิเศษ และลดความแออัดของปริมาณรถสะสมบริเวณหน้าด่าน รวมถึงลดการสัมผัสเงินสดในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 และในอนาคตจะขยายให้ครอบคลุมครบทุกสายทาง

สำหรับระบบการชำระเงินดังกล่าว ธนาคารกรุงไทยได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องอ่านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Capture) หรือ EDC ที่ได้มาตรฐานที่ช่องเงินสดทุกช่อง โดยผู้ใช้ทางมั่นใจได้ว่าระบบดังกล่าว มีการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ ธนาคารฯ ยังได้นำระบบ Krungthai Digital Platform มาช่วยบริหารต้นทุน ลดการใช้กระดาษ และเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการเงินสดของค่าผ่านทางพิเศษ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ กทพ. ธนาคารกรุงไทย และ BEM ได้ร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีระบบชำระค่าผ่านทาง เพื่อนำไปสู่ระบบการชำระเงินแบบ M-Flow และระบบตั๋วร่วมของรัฐบาลที่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป