สมาคมเศรษฐศาสตร์เกษตรฯ จับมือ กระทรวงเกษตรฯ และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเวทีแบบ ไฮบริด มีตติ้ง สัมมนาครั้งยิ่งใหญ่ "Disruptive Change : เกษตรไทยต้องเปลี่ยนโฉม"

28 Oct 2021

สมาคมเศรษฐศาสตร์เกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดสัมมนาวิชาการ "Disruptive Change: เกษตรไทย ต้องเปลี่ยนโฉม" รูปแบบ ไฮบริด มีตติ้ง สอดรับยุค New Normal โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน พร้อมปาฐกถาพิเศษ นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการนำเสนอการปรับตัวของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ร่วมด้วยคณะวิทยากรทั้งจากภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา เกษตรกร และผู้แทน Start up ถ่ายทอดสดผ่านระบบ ZOOM และ Facebook live ส่งตรงจากอาคารนวัตกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สมาคมเศรษฐศาสตร์เกษตรฯ จับมือ กระทรวงเกษตรฯ  และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเวทีแบบ ไฮบริด มีตติ้ง  สัมมนาครั้งยิ่งใหญ่ "Disruptive Change : เกษตรไทยต้องเปลี่ยนโฉม"

โอกาสนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสรุปว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญในการเดินหน้าผลักดันให้เกษตรกรไทยสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างมั่นคง และหลุดพ้นจากความยากจน โดยเน้นแนวทางการดำเนินการในทุกมิติ ยึดเกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาทุกด้าน พัฒนาให้เป็นเกษตรกรมืออาชีพ พัฒนาฐานข้อมูล Big Data เชื่อมโยงการทำงานระหว่างศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) กับ ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ให้เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีทางการเกษตร เพื่อยกระดับสู่การทำเกษตรสมัยใหม่และเกษตรแบบแม่นยำ (Precision Agriculture) สร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับ นำกรอบแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio - Circular - Green Economy: BCG Economy) มาใช้ในการพัฒนา การส่งเสริมให้สถาบันเกษตรกร หรือผู้ประกอบการ Startup เป็นผู้ให้บริการทางการเกษตร (Agricultural Service Providers) ขณะที่ด้านการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตร กระทรวงเกษตรฯ ได้มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มและตอบโจทย์รูปแบบการบริโภคในอนาคต และอาหารเพื่อสุขภาพ สินค้าเกษตรเพื่อพลังงานและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมถึงสร้างความสมดุลด้วยการบริหารจัดการสินค้าเกษตร ภายใต้หลัก ตลาดนำการผลิต เพื่อแก้ปัญหาสินค้าล้นตลาดและราคาสินค้าตกต่ำ พัฒนาระบบโลจิสติกส์และช่องทางการตลาดให้หลากหลาย และสิ่งสำคัญคือ สร้างภูมิคุ้มกันและสร้างความมั่นคงแก่เกษตรกร โดยมีระบบประกันภัยพืชผล และการให้ความช่วยเหลือเมื่อเกษตรกรประสบภัยพิบัติต่าง ๆอย่างครอบคลุมด้วยเช่นกัน

"ภาคการเกษตรของไทยจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการวางระบบ วางเป้าหมายทิศทางให้ชัดเจน ซึ่งเชื่อมั่นว่าผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนสามารถทำได้ เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพของพี่น้องเกษตรกรและพี่น้องข้าราชการ นอกจากนี้ ยังมีภาคเอกชนที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะไม่ว่าอย่างไร การเกษตรคือธุรกิจ วันนี้เป็นวันที่ทุกภาคส่วนจะต้องจับมือและกำหนดทิศทางและเป้าหมายที่จะเดินไปข้างหน้าร่วมกัน เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับพี่น้องเกษตรกร อย่างไรก็ตาม ปัญหาในภาคเกษตรกรรมที่ผ่านมา เช่น อุทกภัยหรือภัยแล้ง เป็นปัญหาซ้ำซากของเกษตรกรไทย รวมถึงปัญหาในเรื่องของตลาด ราคาสินค้า ผลผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน และปริมาณที่ไม่อยู่ในจุดที่คุ้มทุน เราจึงต้องร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงแก้ไข ทั้งในส่วนของตัวเกษตรกร การผลิต รวมถึงการตลาด นอกจากนี้ การเติบโตในภาคการเกษตรต้องมีการขับเคลื่อน การพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทั้งงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ต้องนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด และต้องนำไปถ่ายทอดให้กับพี่น้องเกษตรกร เพื่อเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน การรักษาอัตลักษณ์ของสินค้าพื้นถิ่น รวมถึงรองรับการท่องเที่ยวและการบริการ ถ้าเราฟื้นภาคการเกษตรได้ จะทำให้คนในระบบมีเข้มแข็ง มีรายได้เพิ่มขึ้น และจะทำให้ระบบเศรษฐกิจมั่นคง ประเทศชาติก็จะมั่นคงตามไปด้วย" ดร.เฉลิมชัย กล่าว

ด้าน ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวถึง แนวทางการปรับตัวของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สู่ "Next normal 2022" ว่า บุคลากรในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือฟันเฟืองสำคัญที่ต้องปรับตัว เพื่อให้สอดรับกับบริบทที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตเช่นเดียวกัน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เน้นการสร้าง Service mind ในการบริการ เพราะเกษตรกรคือลูกค้าคนสำคัญ บุคลากรต้องเป็น Smart Officer มีความรอบรู้ สามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้เพื่อถ่ายทอดให้กับเกษตรกรด้วยช่องทางที่หลากหลาย มีการพัฒนากระบวนการทำงานด้วยเทคโนโลยี สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เปิดโอกาสให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะงานวิจัย ตลอดจนถ่ายทอดงานวิจัยไปสู่เกษตรกร เช่น การใช้พื้นที่จริงหรือฟาร์มของเกษตรกรเป็นแปลงทดลองหรือพื้นที่ศึกษาวิจัย เกษตรกรรายย่อยสามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ผ่านการถ่ายทอดจากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 ศูนย์ และศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) และสถาบันการศึกษาที่มีอยู่ทั้ง 77 จังหวัด นอกจากนี้ คือการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ ให้เกิดการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน ครอบคลุมทุกด้านทั้งสินค้า การตลาด และทรัพยากร และนำไปใช้วางแผนการผลิตอย่างเป็นระบบ ซึ่งเชื่อมั่นว่า การขับเคลื่อนทั้งด้านการพัฒนาคน พัฒนากระบวนการทำงาน การศึกษาและวิจัย รวมไปถึงสร้างความร่วมมือในการพัฒนาภาคเกษตรจากทุกภาคส่วน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะสามารถพัฒนาการเกษตรของไทยให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมั่งคงและยั่งยืนต่อไป

"กระทรวงเกษตรฯ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่จะทำให้ถึงเป้าหมาย คือ 1) การพัฒนากำลังพลภาคการเกษตร ทุกมิติ ทั้งเกษตรกรรายย่อย กลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ เป็นต้น 2) พัฒนากระบวนการทำงาน ต้องกำหนดแผนให้ชัดเจน มีกรอบการทำงาน ลดขั้นตอนการดำเนินงาน และวางแผนให้ชัดเจนในระดับพื้นที่ 3) ผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมทางการเกษตร และ 4) ยกระดับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน อย่างไรก็ตาม ต้องมองตลอดห่วงโซ่ ทั้งการผลิต การแปรรูป และการตลาด กระทรวงเกษตรฯ ทำงานทั้งวิชาการและบริการประชาชน จึงพร้อมที่จะรับความเปลี่ยนแปลง และปรับตัว เพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด" ดร.ทองเปลว กล่าว