'UBE' ดีเดย์ลงสนามเข้าเทรดใน SET วันแรก 30 ก.ย.นี้ ปลื้มนักลงทุนตอบรับจองหุ้น IPO ล้นหลาม ขยายการลงทุนเพื่อยกระดับฟู๊ดเทคในระดับโลก

28 Sep 2021

'บมจ. อุบล ไบโอ เอทานอล หรือ UBE ผู้ผลิตและแปรรูปมันสำปะหลังครบวงจร พร้อมนำหุ้นเข้าเทรดวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 30 กันยายนนี้ ใช้ชื่อย่อ 'UBE' ในการซื้อหลักทรัพย์ มั่นใจนักลงทุนตอบรับดี ปลื้มยอดจองซื้อหุ้น IPO ล้นหลาม ชูพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง มุ่งมั่นยกระดับเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในธุรกิจอาหารระดับโลก (Food Tech) เพื่อเติบโตอย่างมั่นคงในระยาว

'UBE' ดีเดย์ลงสนามเข้าเทรดใน SET วันแรก 30 ก.ย.นี้ ปลื้มนักลงทุนตอบรับจองหุ้น IPO ล้นหลาม ขยายการลงทุนเพื่อยกระดับฟู๊ดเทคในระดับโลก

นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) หรือ UBE ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันสำปะหลังรายใหญ่ของประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 30 กันยายนนี้ บริษัทฯ พร้อมนำหุ้นเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยใช้ชื่อย่อ 'UBE' ในการซื้อขายหลักทรัพย์ และเชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพของบริษัทฯ ที่มีกำลังการผลิตและส่งออกมันสำปะหลังเป็นอันดับต้นของโลก ทำให้มีความได้เปรียบที่จะต่อยอดสู่ความสำเร็จในอนาคต ผ่านการดำเนินธุรกิจที่มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งทั้ง 3 ธุรกิจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ

สำหรับการเสนอขายหุ้น IPO ในช่วงที่ผ่านมาจำนวน 1,370,000,000 หุ้น ประกอบด้วย (1) หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทฯ จำนวน 1,174,286,000 หุ้น (2) หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย บริษัท ไทยออยล์ เอทานอล จำกัด จำนวน 97,857,000 หุ้น และ (3) หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย บมจ.บีบีจีไอ (BBGI) จำนวน 97,857,000 หุ้น ที่ราคาหุ้นละ 2.40 บาท ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเกินกว่าความคาดหมาย ตอกย้ำถึงศักยภาพและความเชื่อมั่นในปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯ รวมถึงโอกาสการเติบโตในอนาคต ทำให้ UBE เป็นหุ้น IPO น้องใหม่ที่นักลงทุนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ UBE มุ่งมั่นเป็นหนึ่งในบริษัทจดทะเบียนชั้นนำในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผ่านการขยายธุรกิจเอทานอล ธุรกิจแป้งมันสำปะหลัง และธุรกิจเกษตรอินทรีย์ เพื่อยกระดับสู่การเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในธุรกิจอาหารระดับโลก (Food Tech) เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงในระยาว โดยแผนการลงทุน ประกอบด้วย (1.) การขยายธุรกิจแป้งมันสำปะหลัง ภายในปี 2565-2566 ผ่านการลงทุนขยายกำลังการผลิตแป้งฟลาวมันสำปะหลัง ให้เป็น 300 ตันต่อวัน หรือเทียบเท่า 90,000 ตันต่อปี ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตแป้งฟลาวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จากปัจจุบันมีกำลังการผลิต 100 ตันต่อวัน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท และการลงทุนสร้างสายการผลิตสารให้ความหวาน (Sweetener) เช่น ไซรัป (Syrup) และมอลโทเดกซ์ทริน (Maltodextrin) กำลังการผลิต 300 ตันต่อวัน จำนวน 300 ล้านบาท รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแป้งมันสำปะหลัง โดยจะลงทุนในเครื่องจักรใหม่ต่างๆ เช่น เครื่องโม่หัวมันสำปะหลัง และเครื่องสลัดแป้ง เป็นต้น คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท

(2.) การขยายธุรกิจเกษตรอินทรีย์ ภายในปี 2565 ผ่านการลงทุนก่อสร้างโรงสีเชอร์รี่กาแฟออร์แกนิค โดยได้เริ่มส่งเสริมการปลูกกาแฟออร์แกนิค ซึ่งเป็นสินค้าทางการเกษตรที่มีมูลค่าสูงกับเกษตรกรในพื้นที่แขวงสาละวัน สปป.ลาว ซึ่งการลงทุนก่อสร้างโรงสีเชอร์รี่กาแฟ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิต ยังช่วยควบคุมคุณภาพของเมล็ดกาแฟออร์แกนิค และช่วยวางแผนการรับซื้อวัตถุดิบและแผนการผลิตได้อย่างคล่องตัวตามแผนการขาย เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดกาแฟออร์แกนิคโดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา (USA) และกลุ่มประเทศแถบยุโรป (EU) ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการตรวจสอบเพื่อรับรองมาตรฐานออร์แกนิคสากล คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 65 ล้านบาท สามารถรองรับวัตถุดิบเชอร์รี่กาแฟได้ 200 ตันต่อวัน เทียบเท่า 12,000 ตันต่อปี และการลงทุนก่อสร้างโรงคั่วกาแฟออร์แกนิคในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นช่องทางการจำหน่ายและสถานที่รับรองลูกค้าในการชมกระบวนการผลิตและทดลองชิมกาแฟ ที่ผลิตจากเมล็ดกาแฟออร์แกนิค ปัจจุบันอยู่ระหว่างออกแบบโครงการ เบื้องต้นคาดว่าใช้เงินลงทุนประมาณ 35 ล้านบาท

และ (3.) ขยายธุรกิจเอทานอล ภายในปี 2566-2567 ผ่านการลงทุนขยายกำลังผลิตเอทานอลในระยะสั้น โดยการมุ่งปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพกระบวนการผลิตเอทานอล เพื่อรองรับความต้องการใช้เอทานอลที่อาจเพิ่มขึ้นในระยะใกล้ โดยมีแผนขยายกำลังการผลิตโรงงานเอทานอลผ่านการทำ De-bottlenecking Capacity 40,000 ลิตรต่อวัน เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 50 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ยังคงนโยบายลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อลดการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพิ่มเติมในอนาคต

"จะเห็นได้ว่าภายในระยะ 5 ปีข้างหน้า (2564-2568) UBE จะปรับลดการผลิตแป้งมันสำปะหลังแบบทั่วไป (Native Starch) จากปัจจุบัน 1.1 แสนตันต่อปี เหลือเพียง 4-5 หมื่นตันต่อปี และจะเพิ่มการผลิตแป้งมันสำปะหลังออร์แกนิค (Organic Starch) มาทดแทน ซึ่งมีอัตรากำไรต่อหน่วยที่สูงกว่า รวมถึงขยายกำลังการผลิตแป้งฟลาวมันสำปะหลังให้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม โดยวางเป้าหมายในอนาคตหรือปี 2569 คาดว่าจะมีสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคเพิ่มเป็น 80% จากปัจจุบันอยู่ที่ 33% ของรายได้จากธุรกิจแป้งมันสำปะหลังทั้งหมด เพื่อรองรับอาหารเพื่อสุขภาพแห่งอนาคต ตอบรับกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพ และจะเป็นส่วนช่วยสำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรไทยให้เติบโตควบคู่กันไปด้วย ถือเป็นหนึ่งในโมเดลของธุรกิจสร้างการเติบโตในภาคธุรกิจและช่วยเหลือชุมชนให้เติบโตไปด้วยกัน" นายเดชพนต์ กล่าว

นางรัชดา เกลียวปฏินนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ที่ปรึกษา เอเซีย พลัส จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า บมจ.อุบล ไบโอ เอทานอล หรือ UBE เป็นผู้ผลิตและแปรรูปมันสำปะหลังแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง หรือ Well-Integrated Tapioca Player และหลังจากนี้ UBE จะขยายเข้าสู่การเป็นผู้นำด้านเกษตรอินทรีย์ ที่พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบทางการเกษตรอย่างครบวงจร เพื่อส่งเสริมวิถีการเกษตรอินทรีย์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คู่ขนานสู่การเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพชั้นนำของโลก โดยจะดำเนินการควบคู่กับธุรกิจพลังงาน เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคงในระยะยาว ภายใต้นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการเกษตร และพัฒนาชุมชน ให้สามารถดำเนินธุรกิจอยู่ร่วมกันกับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน จึงเชื่อว่า UBE จะเป็นหนึ่งในหุ้น IPO น้องใหม่ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุน

"นอกจากเป้าหมายสร้างผลการดำเนินงานที่ดีแล้ว ธุรกิจของ UBE ยังมีส่วนช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย เพราะการลงทุนของ UBE จะเข้าไปดูถึงการผลิตของเกษตรกร ช่วยยกระดับสินค้าให้เป็นออร์แกนิค 100% เพื่อให้ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากลซึ่งเป็นที่ยอมรับของลูกค้า สามารถสร้างรายได้ที่มากกว่าปกติ แถมยังช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้เกษตรกร ผ่านโครงการอุบลโมเดล ทำให้การผลิตที่ได้มีประสิทธิภาพสูงสุด" นางรัชดา กล่าว