ทีมวิจัย ม.อ.คว้ารางวัล SILVER MEDAL AWARD" บนเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนานาชาติ 2021 (JDIE) โชว์นวัตกรรมสุดล้ำผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มดิบเพียง 20 วินาที

13 Sep 2021

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) โดยทีมวิจัยด้านไบโอดีเซล ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีพลังงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ โชว์นวัตกรรมสุดล้ำด้านพลังงานที่ผลิตจากน้ำมันปาล์มดิบระยะเวลาเพียง 20 วินาที ด้วยอัตราการไหลของน้ำมันปาล์มดิบประมาณ 25 ลิตร/ชั่วโมง ชูการคิดค้นประยุกต์ใช้เทคนิค 3D-printing เพื่อผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันกรดไขมันอิสระสูง ล่าสุด คว้ารางวัล "SILVER MEDAL AWARD" จากเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ '2021 Japan Design, Idea and Invention Expo (JDIE)' ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จัดโดย World Invention Intellectual Property Associations (WIIPA) นับเป็นงานวิจัยที่สร้างองค์ความรู้ใหม่ในวงการพลังงานและสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทย

ทีมวิจัย ม.อ.คว้ารางวัล SILVER MEDAL AWARD"  บนเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนานาชาติ 2021 (JDIE)  โชว์นวัตกรรมสุดล้ำผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มดิบเพียง 20 วินาที

รองศาสตราจารย์ ดร.กฤช สมนึก ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีพลังงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า ม.อ.โดยทีมวิจัยด้านไบโอดีเซล ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีพลังงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ นำผลงานวิจัยกระบวนการผลิตไบโอดีเซลแบบสองขั้นตอนด้วยไฮโดรโซนิกคาวิเทชันแบบโรเตอร์และสเตเตอร์ : Two-stage continuous production process of biodiesel using rotor-stator hydrocavitation คว้ารางวัล SILVER MEDAL AWARD จากเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ '2021 Japan Design, Idea and Invention Expo' หรือ (JDIE) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจัดโดย World Invention Intellectual Property Associations (WIIPA) โดยเป็นเวทีที่สำคัญและมีผู้เข้าร่วมงานมากที่สุดในโลก

สำหรับจุดเด่นของผลงานด้านวิชาการชิ้นนี้ คือ การใช้เทคโนโลยีไฮโดรโซนิกคาวิเทชันแบบโรเตอร์และสเตเตอร์ผลิตไบโอดีเซลแบบต่อเนื่อง คือ 1.เครื่องปฏิกรณ์ไฮโดรโซนิก โรเตอร์และสเตเตอร์ ที่สามารถจัดผลิตขึ้นเองได้ภายในประเทศ ช่วยลดการพึ่งพานำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ 2.สามารถการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มดิบได้อย่างรวดเร็ว โดยขั้นตอนที่ 1 การลดกรดไขมันอิสระ ใช้เวลาประมาณ 20 วินาที และขั้นตอนที่ 2 การผลิตไบโอดีเซลใช้เวลาภายในเวลาประมาณ 20 วินาที ที่อัตราการไหลของน้ำมันปาล์มดิบประมาณ 25 ลิตร/ชั่วโมง โดยทั้งสองกระบวนการสามารถลดปริมาณสารเคมีในการทำปฏิกิริยา

และ 3. ลักษณะเด่นของผลงานด้านวิชาการรวมถึงความแปลกใหม่จากการค้นพบสิ่งประดิษฐ์นี้ คือ ทีมวิจัยได้คิดค้นจากการประยุกต์ใช้เทคนิค 3D-printing โดยนำมาสร้าง 3 D-printed rotor ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญทำให้เกิดปรากฏการณ์คาวิเทชันชนิดไฮโดรไดนามิกส์ (Hydrodynamic Cavitation) เพื่อผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันกรดไขมันอิสระสูง ก่อให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่สำคัญของงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ด้านไบโอดีเซล โดยผลงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จครั้งนี้ มาจากความร่วมมือของทีมนักวิจัย ได้แก่ รศ.ดร.กฤช สมนึก, Dr.Ye Min Oo, นายเจริญพร ถาวรประเสริฐ, นายกฤษกร พงศ์รักธรรม, นายภานุพงศ์ เจือละออง และนางสาวณิชกานต์ หมัดหมาน

ทั้งนี้ ผลงานวิจัยได้ถูกเผยแพร่ผ่านวารสารระดับนานาชาติ ได้แก่ วารสาร Ultrasonics Sonochemistry (ISI, Q1, impact factor = 7.491) จำนวน 2 บทความ ในปี พ.ศ. 2564 ของสำนักพิมพ์ Elsevier ในชื่อบทความ ได้แก่ 1. Continuous acid-catalyzed esterification using a 3D printed rotor-stator hydrodynamic cavitation reactor reduces free fatty acid content in mixed crude palm oil และ 2.Two-stage continuous production process for fatty acid methyl ester from high FFA crude palm oil using rotor-stator hydrocavitation

"การได้รับรางวัล "SILVER MEDAL AWARD" บนเวทีสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ 2021 ในครั้งนี้ นับว่าเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ. ที่สร้างสรรค์นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เพื่อประโยชน์การใช้งานได้จริง ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมพลังงานในประเทศไทยให้เกิดความยั่งยืน สมกับปนิธานของมหาวิทยาลัย ที่มุ่งมั่นการวิจัยสหสาขาวิชาที่ผนึกกำลังคนร่วมกันทั้งหน่วยงานภายในและภายนอก เพื่อสร้างสรรค์ผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ ส่งเสริมการพัฒนาภาคใต้และสอดรับการพัฒนาประเทศไทยให้มีความยั่งยืน" รศ.ดร.กฤช กล่าว