มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง ร่วม แพทย์หน่วยโลหิตวิทยา รพ.ศิริราช จัดเสวนาความรู้มะเร็งโรคเลือดชนิดหายาก MPN พร้อมชวนคนไทยบริจาคเลือดเพื่อรักษาผู้ป่วยมะเร็ง

09 Sep 2021

เนื่องด้วยในเดือนกันยายนของทุกๆ ปีนับเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ การตระหนักรู้เกี่ยวมะเร็งโรคเลือดชนิดต่างๆ ทางหน่วยงาน มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง (Thai Cancer Society) กลุ่มชมรมผู้ป่วยโรค MPN แพทย์หน่วยโลหิตวิทยา โรงพยาบาลศิริราช และ ธนาคารเลือด รพ ศิริราช ได้ร่วมมือกันจัดงานเสวนาออนไลน์ โดยอยากเชิญชวนผู้ป่วยมะเร็ง รวมถึงบุคคลทั่วไปเขาร่วมฟัง และพูดคุยกับแพทย์โดยตรง เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งโรคเลือดชนิดหายาก MPN ในหัวข้อ "รู้ทัน! มะเร็งโรคเลือดชนิดหายาก MPN" ดูแลตัวเองอย่างไรในช่วงโควิด พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนไทยร่วมกันบริจาคเลือดเพื่อผู้ป่วยมะเร็งในช่วงภาวะวิกฤติขาดแคลนเลือดในปัจจุบัน เนื่องจากเลือดมีความสำคัญในกระบรวนการรักษา

มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง ร่วม แพทย์หน่วยโลหิตวิทยา รพ.ศิริราช จัดเสวนาความรู้มะเร็งโรคเลือดชนิดหายาก MPN พร้อมชวนคนไทยบริจาคเลือดเพื่อรักษาผู้ป่วยมะเร็ง

ผศ.นพ.นพดล ศิริธนารัตนกุล ประธานชมรมโรคเอ็มพีเอ็น (MPN) แห่งประเทศไทย (Thai MPN Working Group) ได้กล่าวถึงความสำคัญที่ต้องเผยแพร่ความรู้เรื่องของมะเร็งโรคเลือดชนิดหายาก MPN ว่า มะเร็งโรคเลือดชนิดหายาก MPN คือ ชื่อรวมของมะเร็งโรคเลือดซึ่งเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดที่ทำหน้าที่ผลิตเม็ดเลือด นำไปสู่การผลิตเซลล์เม็ดเลือดมากเกินปกติอย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถแบ่งย่อยเป็น 3 โรคที่พบค่อนข้างบ่อย โดยขึ้นกับชนิดของเซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกติและอุบัติการณ์ของโรค ได้แก่ 1. โรคเลือดข้น (PV) คือร่างกายมีการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ อัตราการตรวจพบผู้ป่วย 2 รายต่อประชากร 100,000 คนต่อปี 2. โรคเกล็ดเลือดสูง (ET) ร่างกายมีการผลิตเกล็ดเลือดมากกว่าปกติ อัตราการตรวจพบผู้ป่วย 1.5-3 รายต่อประชากร 100,000 คนต่อปี และ 3.โรคพังผืดในไขกระดูก (MF) มีการสร้างพังผืดในไขกระดูก ซึ่งส่งผลให้ไขกระดูกไม่สามารถผลิตเม็ดเลือดแดงได้ตามปกติ อัตราการตรวจพบผู้ป่วย 0.4-1.46 รายต่อประชากร 100,000 คนต่อ ปี

"อาการที่แสดงของโรคจะแตกต่างกันแม้จะอยู่ในสภาวะโรคเดียวกัน อย่างไรก็ตาม มีอาการบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า (Fatigue), ซีดจาง (Anemia), คัน (ltching), เหงื่อออกมากผิดปกติในตอนกลางคืน (Night sweat) และปวดกระดูก (Bone pain) บางรายอาจมีไข้ และน้ำหนักลด เป็นต้น ในผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนเรื่องลิ่มเลือดอุดตัน ผู้ป่วยโรคเอ็มพีเอ็นบางรายมีการกลายเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการแน่นท้องจากม้ามโต (Splenomegaly) ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เกิดความยากลำบากในการดำรงชีวิต ซึ่งกล่าวโดยสรุปคือ โรคนี้มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก"

เช่นเดียวกับนาย พสุสันต์ วัฒนบุญญา ผู้ก่อตั้งชมรมผู้ป่วยโรค MPN ประเทศไทย กล่าวเสริมถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในฐานะผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวว่าเมื่อย้อนกับไปนึกถึงคุณภาพชีวิตช่วง 4-5 ปีแรกที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งยังไม่มียาที่ให้ผลการรักษาที่ดีเหมือนปัจจุบันนี้ ซึ่งในสมัยก่อนมีแต่ยาที่ช่วยลดและควบคุมเม็ดเลือดขาวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ไม่สามารถยับยั้งหรือกำจัดเซลล์มะเร็งร้ายได้ อาการของโรคและผลข้างเคียงของยา ทำให้การใช้ชีวิตส่วนตัว และส่งผลให้การทำงานไม่สามารถทำได้เต็มที่ เพราะมี อาการปวดหัว เป็นไข้ เหนื่อยล้า เกิดภาวะหัวใจโตอยู่เนืองๆ ทำให้ต้องลาหยุดบ่อยครั้ง และต้องลาออกจากงานในที่สุด แต่ด้วยกำลังใจที่ยอมรับ และคิดบวกเสมอ พร้อมเชื่อในวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ก้าวหน้า มีที่จะให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ ประกอบกับการได้รับการวินิจฉัย และการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว จนปัจจุบันอยู่มาถึง 23 ปี จากที่ตอนแรกคาดว่าอาจจะต้องเสียชีวิตภายใน 3 - 5 ปีที่เกิดโรค

"ผมมองว่าการได้รับฟังข้อมูลโรคมะเร็งเลือด MPN ที่ถูกต้อง และได้ปรึกษา ถามคำถามได้โดยตรงจากอาจารย์หมอผู้เชี่ยวโรค MPN โดยเฉพาะถือเป็นโอกาสที่ดี ซึ่งนอกจากได้ฟังข้อมูลจากคุณหมอเฉพาะทางแล้ว ยังมีผู้ป่วยโรคมะเร็งเลือด MPN มาแบ่งปันประสบการณ์ตรง ซึ่งผมเองก็จะร่วมแบ่งปันในฐานะที่เป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งเลือดชนิด CML ซึ่งจะมาพูดถึงการสร้างกำลังใจ จึงอยากเชิญชวน ร่วมฟังงานเสวนาพิเศษ "รู้ทัน! มะเร็งโรคเลือดชนิดหายาก MPN" ทางออนไลน์ไม่มีค่าใช้จ่ายในวันเสาร์ที่ 25 กันยายนนี้ เวลา 14.00-15.30น. โดยสามารถลงทะเบียนเพื่อถามคำถามคุณหมอ และเข้าใจเกี่ยวกับโรคเพิ่มเติมได้ที่ https://thaicancersociety.com/blood-cancer/

อย่างที่ทราบกันว่าปัจจุบันเกิดวิกฤติการขาดแคลนโลหิตครั้งใหญ่ เนื่องจากในสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้มีผู้มาบริจาคโลหิตลดน้อยลง แต่การใช้โลหิตในการรักษาพยาบาลยังคงมีอย่างต่อเนื่องทุกวันทำให้ผู้ป่วยที่ต้องเลื่อนการผ่าตัดและการรักษาพยาบาลออกไปรวมถึงผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องได้รับเลือดเป็นประจำในทุกเดือน

นางสาว ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง (Thai Cancer Society : TCS) กล่าวเสริมในมุมมองของความต้องการเลือดในผู้ป่วยมะเร็งว่า จากที่เคยเป็นอดีตผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้ายและเข้ารับการรักษาเป็นเวลา 4 ปี ตนจำเป็นต้องได้รับเลือด และเกล็ดเลือดในการรักษาเป็นประจำทุกเดือน เดือนละ 3-4 ถุง การที่มีคนมาช่วยบริจาคเลือด นอกจากทำให้ผู้ป่วยมะเร็งมีความหวังในการรักษาต่อแล้ว ยังเป็นการต่อชีวิต ให้ผู้ป่วยมะเร็งได้ทันทีด้วย หากไม่ได้รับเลือดจากผู้บริจาคในวันนั้นคงไม่สามารถมีชีวิตได้มาจนถึงทุกวันนี้ โดยกลุ่มมะเร็งโรคเลือดเป็นกลุ่มที่ได้ยาคีโมที่เจอผลข้างเคียงค่อนข้างรุนแรง หลายคนไม่สามารถจบการรักษาได้เพราะว่าติดเชื้อ และมีโรคแทรกซ้อนมากมาย เลือดจึงมีส่วนสำคัญในการรักษา

"ทางมูลนิธิเครือข่ายมะเร็งเองได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาต่อกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งโรคเลือดจึงได้ร่วมมือกับ แพทย์โลหิตวิทยา โรงพยาบาลศิริราช กลุ่มชมรมผู้ป่วยโรค MPN และ ธนาคารเลือด รพ ศิริราช ในการสร้างความตระหนักรู้แก่บุคคลทั่วไป และรณรงค์การบริจาคเลือดเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง"

ทางด้าน นายแพทย์อาจรบ คูหาภินันทน์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโลหิตวิทยา โรงพยาบาลศิริราชกล่าวถึงความจำเป็นของความต้องการเลือดของผู้ป่วยมะเร็ง พร้อมเชิญชวนบริจาคเลือด และมาตราการป้องกันแก่ผู้ที่มาบริจาคเลือดว่า ผู้ป่วยมะเร็งทางระบบโลหิตหรือมะเร็งทางเลือด เช่นมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งไขกระดูก มักมีอาการเหนื่อยเพลีย หรือเลือดออกจากระบบการสร้างในร่างกายผิดปกติ ส่งผลให้สร้างเลือดได้น้อย ทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวที่ปกติ หรือเกล็ดเลือด อีกทั้งระหว่างการรักษาระบบการสร้างเลือดก็ถูกรบกวนหรือยับยั้งจากยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสีรักษา ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องได้รับเลือดแดงหรือเกล็ดเลือดจำนวนมาก เพื่อบรรเทาอาการเหนื่อยเพลีย หรือรักษาภาวะเลือดออกผิดปกติ การบริจาคเลือดเพื่อนำไปรักษาช่วยเหลือผู้ป่วย กลุ่มนี้จึงถือว่าเป็นการทำมหากุศลต่อชีวิตให้แก่ผู้ป่วย

แต่ในสถานการณ์โควิด ทำให้การบริจาคเลือดลดน้อยลงมาก ทางศูนย์รับบริจาคเลือดโรงพยาบาลศิริราชจึงขอเชิญชวนให้ทุกท่านที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ในการบริจาค สามารถร่วมบริจาคโดยตรงกับทางธนาคารเลือด โรงพยาบาลศิริราช โดยรพ.ศิริราชได้จัดเตรียมมาตราการเข้มงวดเพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่มแก่ผู้ที่มาบริจาคเลือดโดยมีมาตรการดังนี้

  • ผู้ประสงค์บริจาคเลือดทำการจองคิวผ่านทาง Siriraj Connect Application เพื่อเลือกวันนัดหมายบริจาดเลือดและช่วงเวลาที่จะเข้าบริจาดเลือด เพื่อจำกัดจำนวนคนในแต่ละรอบของการรับบริจาค สามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง App Store และ Google Play หรือพิมพ์ @sirirajconnect กดเพิ่มเป็นเพื่อนบนแอปพลิเคชั่น LINE
  • ธนาคารเลือด โรงพยาบาลศิริราชได้เปิดจุดบริจาคเลือดจุดใหม่ ที่อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ชั้น 3 เพื่อจัดสรรพื้นที่แยกสัดส่วนจากการดูแลรักษาผู้ป่วยอื่นๆ รวมถึงได้พื้นที่กว้างขึ้นสามารถจัดระยะห่างระหว่างบุคคลในกระบวนการ ต่าง ๆ ของการบริจาคเลือด ทั้งการคัดกรอง การให้ข้อมูล ห้องเจาะเลือดแยกเป็นสัดส่วน รวมถึงมีระบบระบายอากาศที่ดี และมีห้องน้ำสร้างไว้รองรับทั้งส่วนกลางและส่วนเฉพาะของผู้บริจาคเลือด
  • จัดตั้งจุดคัดกรองและลงทะเบียน ติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิ และเครื่องกดแอลกฮอล์ล้างมือแบบเท้าเหยียบ ทั้งให้ผู้ที่บริจาคเลือดต้องสแกน QR Code เพื่อเช็คอินก่อนเข้าใช้ และ จุดวัดความดันโลหิต รักษาระยะห่าง มีแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือทุกจุดที่ติดต่อ ผู้บริจาคเลือดล้างมือและแขนก่อนทำการวัดความดันโลหิตทุกครั้ง จุดรับบริจาคเลือด เช็ดทำความสะอาด และฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์ ที่เก้าอี้บริจาคเลือดและเปลี่ยนผ้าปูเก้าอี้ใหม่ทุกครั้งที่มีการใช้งาน
  • การสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ศูนย์รับบริจาคเลือดศิริราช อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ชั้น 3 ทุกวันไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. โทร 02-414-0102 หรือ 02-414-0104

สามารถติดตามรายละเอียดทั้งหมดได้ทาง https://thaicancersociety.com/blood-cancer/ หรือ ได้ที่ ทาง FB Page : Thai cancer society มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง