หัวเว่ยจับมือสวทช. เปิดตัวหลักสูตรฝึกอบรมออนไลน์ด้านการพัฒนาแอปมือถือ

07 Sep 2021

บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมมือกับเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดตัวหลักสูตรอบรมผ่านออนไลน์ในหัวข้อ "อนาคตแห่งอุตสาหกรรมแอปพลิเคชัน" เป็นครั้งแรก โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการมากกว่า 200 คน ซึ่งแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ดังกล่าวมุ่งใช้เสริมศักยภาพการพัฒนาทักษะให้แก่บุคลากรด้านดิจิทัลที่มีความมุ่งมั่นกระตือรือร้น

หัวเว่ยจับมือสวทช. เปิดตัวหลักสูตรฝึกอบรมออนไลน์ด้านการพัฒนาแอปมือถือ

โครงการเพื่อการศึกษาดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้แผนความร่วมมือระยะยาวระหว่างหัวเว่ยและสวทช. ในการสร้างและส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาด้านดิจิทัล โดยในปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระยะเวลา 3 ปี ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และสวทช. เพื่อกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศไทย นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2562 หัวเว่ยยังได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจอีกฉบับร่วมกับสำนักงานวัตกรรมแห่งชาติและ สวทช. โดยมุ่งเน้นเพิ่มพูนแรงงานดิจิทัลในประเทศไทยในด้านทักษะดิจิทัลและเทคโนโลยี ICT ที่ทันสมัยที่สุดสำหรับรองรับสังคมที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรมและยั่งยืน

ภายใต้โครงการความร่วมมือต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งประเทศไทย ภายใต้ สวทช. ได้จัดโครงการ "สุดยอดวิศวกรปัญญาประดิษฐ์ (Super AI Engineer)" ขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งหัวเว่ยได้เข้าร่วมการจัดเวิร์คช็อปในการให้คำปรึกษาด้านกรอบกำหนดและคุณสมบัติที่มีศักยภาพ ซึ่งให้ความสำคัญกับการริเริ่มเรื่องกรอบกำหนดของทักษะด้าน ICT สำหรับตลาดงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต

โครงการดังกล่าวต้องการค้นหานักเรียนและนักพัฒนาเทคโนโลยีไอทีรุ่นหนุ่มสาวที่มีความสนใจในการสร้างแอปพลิเคชันมือถือ และเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันส่วนประกอบของอีโคซิสเต็มด้านดิจิทัลไปพร้อมกัน โดยโอกาสที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้จะช่วยสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้แก่บุคลากรที่มีทักษะด้านดิจิทัลในประเทศไทย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะสามารถรองรับความต้องการบุคลากรด้านดิจิทัลที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตได้

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้กล่าวถึงโครงการนี้ว่า "กิจกรรมดังกล่าวมีส่วนช่วยเป็นอย่างยิ่งในการทำให้ประเทศไทยมีทรัพยากรด้านไอทีที่พร้อม ทั้งด้านปริมาณและด้านทักษะที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งยังเป็นแรงผลักดันให้สามารถก้าวเข้าสู่สังคมในยุคดิจิทัลได้อย่างแข็งแกร่ง ความต้องการบุคลากรด้านดิจิทัลถือเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากและการพัฒนาบุคลากรด้านไอทีเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับประเทศไทย ต้องขอบคุณหน่วยงานภาครัฐ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งประเทศไทย สวทช. ดีป้า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงองค์กรเอกชนที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในระดับโลกอย่างหัวเว่ยซึ่งมาเปิดศูนย์ Huawei ASEAN Academy ในประเทศไทย"

"เราร่วมมือกับเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทยและหัวเว่ย ประเทศไทย เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มดิจิทัลและนวัตกรรม ICT ซึ่งจะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้เติบโต และสามารถปรับตัวเข้ากับยุคใหม่ได้ โดยมุ่งเน้นที่การพัฒนาทักษะด้าน ICT ของชุมชนนักพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลของไทย เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น 5G บิ๊กดาต้า (Big data) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (IoT) บล็อกเชน (Block Chain) และบริการคลาวด์ (Cloud) ในการตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ เราขอขอบคุณหัวเว่ย พาร์ทเนอร์ของเราซึ่งเป็นผู้จัดอีเวนท์ในครั้งนี้ขึ้นมา เราเชื่อว่าการเพิ่มและปรับทักษะจะช่วยสร้างการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด รวมทั้งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ กระจายรายได้ และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับหลายภาคอุตสาหกรรม ทั้งภาคการเกษตร การแพทย์ และการท่องเที่ยว ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยทั้งสิ้น" นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าว

ด้านนายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เน้นย้ำว่า "ในอีกสองสามทศวรรษข้างหน้า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะนำเราเข้าสู่โลกอัจฉริยะ แนวโน้มนี้ชัดเจนยิ่งขึ้นมากกว่าทุกครั้งในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เทคโนโลยี ICT จะขยายวงกว้างออกไปสู่ทุกอุตสาหกรรมอย่างเป็นปรากฏการณ์ เช่นเดียวกับเทคโนโลยีไฟฟ้าเมื่อร้อยปีก่อน และจะกลายเป็นกุญแจสำคัญที่เปิดประตูสู่นวัตกรรมและการพัฒนาสังคม โดยในกระบวนการดังกล่าว หัวเว่ยจะเดินหน้าสนับสนุนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางดิจิทัลแห่งภูมิภาคอาเซียน เราหวังว่าจะช่วยยกระดับภาพรวมแรงงานดิจิทัลของไทย ผ่านการลงทุนในอีโคซิสเต็มสำหรับบุคลากรด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทคต่อไปในอนาคต"

นอกจากนี้ ภายใต้ความร่วมมือกับเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทยและอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย หัวเว่ยยังมีแผนจะจัดคอร์สฝึกอบรมเพิ่มเติม เพื่อให้ความรู้และฝึกฝนทักษะเกี่ยวกับองค์ความรู้ ICT ใหม่ล่าสุดให้แก่ผู้มีความสามารถของไทย ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี 5G คลาวด์ และ IoT เนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัลมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประสิทธิภาพและความสามารถในการผลิต หัวเว่ยจึงจะจัดการฝึกอบรมเหล่านี้ขึ้น เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการพัฒนาทางดิจิทัล และเพื่อยกระดับความสามารถในการรองรับ 5G และเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการระบาดของโควิด-19

เกี่ยวกับหัวเว่ย
หัวเว่ย ผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและสมาร์ทดีไวซ์ ด้วยโซลูชั่นที่ผสมผสานในสี่กลุ่มหลัก คือ เครือข่ายโทรคมนาคม, ไอที, สมาร์ทดีไวซ์ และบริการคลาวด์ บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสู่การใช้งานทุกระดับเพื่อทุกผู้คน ทุกครัวเรือน และทุกองค์กร เพื่อขับเคลื่อน โลกอัจฉริยะที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างเต็มรูปแบบ ผลิตภัณฑ์ โซลูชั่นและบริการที่ครบวงจรของ หัวเว่ยเปี่ยมด้วยศักยภาพด้านการแข่งขันและเชื่อถือได้ จากการทำงานร่วมกับพันธมิตรในระบบนิเวศแบบเปิด หัวเว่ยสามารถสร้างมูลค่าระยะยาวให้กับลูกค้า เสริมสมรรถนะของผู้คน ช่วยให้การใช้ชีวิตที่บ้านมีความสะดวกสบาย และสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดนวัตกรรมในองค์กร ทุกรูปแบบและทุกขนาด นวัตกรรมของหัวเว่ยเน้นตอบสนองตามความต้องการของลูกค้า เราทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลในด้านการวิจัย เน้นค้นหานวัตกรรมด้านเทคนิคใหม่ ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนโลกของเราให้ก้าวไปข้างหน้า เรามีพนักงานกว่า 194,000 คน ดำเนินธุรกิจในกว่า 170 ประเทศทั่วโลก หัวเว่ยก่อตั้งขึ้นในปี 2530 และเป็นบริษัทเอกชนที่มีพนักงานเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของหัวเว่ย ได้ที่ www.huawei.com

ติดตามเราได้ที่
http://www.linkedin.com/company/Huawei
http://www.twitter.com/Huawei
http://www.facebook.com/HuaweiTechTH
http://www.youtube.com/Huawei