ม.อ. เป็นเจ้าภาพจัด ประชุมวิชาการระดับนานาชาติ "The 2nd SEA-STEM 2021" ชูเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากกูรูที่คว่ำหวอดในวงการ

30 Aug 2021

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) สนับสนุนการพัฒนาการศึกษาประเทศไทยสู่ความยั่งยืน พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการนานาชาติ The 2nd SEA-STEM 2021 เวทีที่ระดมกูรูชั้นนำที่คว่ำหวอดในแวดวงการศึกษาภายใต้ความร่วมมือ IMT - GT UNINET ที่มีเครือข่ายมหาวิทยาลัย ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและความก้าวหน้าด้านการวิจัยในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ ในรูปแบบออนไลน์ พร้อมเชิญชวนนักวิชาการร่วมส่งผลงานวิจัย เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการศึกษาให้ก้าวทันโลก

ม.อ. เป็นเจ้าภาพจัด ประชุมวิชาการระดับนานาชาติ "The 2nd SEA-STEM 2021"  ชูเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากกูรูที่คว่ำหวอดในวงการ

ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า ม.อ.มีความมุ่งมั่นส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาของประเทศไทยให้เกิดความยั่งยืนในทุกภาคส่วน และในฐานะสมาชิก IMT - GT UNINET พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ 'The 2nd SEA-STEM 2021 (Southeast Asia-Science, Technology, Engineering, and Mathematics) International Conference' เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านนวัตกรรมและความก้าวหน้าด้านการวิจัยในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ ตลอดจนสร้างความร่วมมือระหว่าง IMT-GT UNINET กับมหาวิทยาลัยในเครือข่าย ซึ่งปีนี้จัดในรูปแบบออนไลน์ ในระหว่างวันที่ 24-25 พฤศจิกายน 2564

สำหรับ เวทีการประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ ได้ระดมนักวิชาการระดับนานาชาติและของประเทศไทยเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้การพัฒนาศึกษาให้เกิดความยั่งยืน ได้แก่ Dr.Valentina Dagiene จากมหาวิทยาลัย Vilnius ประเทศลิธัวเนีย ซึ่งเป็นนักวิชาการมากประสบการณ์ที่เป็นที่ยอมรับด้าน STEM Education ในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียและลิธัวเนีย Associate Professor Dr. Hizir Sofya จากมหาวิทยาลัย Syiah Kuala ประเทศอินโดนีเชีย วิทยากรด้าน STEM ที่มีชื่อเสียงและเป็นแกนนำหลักในการวางกลยุทธ์ด้าน STEM Education ของอินโดนีเซียและอาเซียน, Professor Dato Dr. Noraini Idris จาก National STEM Association มหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซีย หนึ่งในผู้ที่ขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติด้าน STEM ของมาเลเซีย และ Mr.Miroslav Kostecki มหาวิทยาลัย Bamenda (CUIBa) Technology Transfer CTO STEMSEL Foundation Inc. นักวิชาการออสเตรเลียที่มีมุมมองของ STEM ในด้านธุรกิจ

ขณะที่ประเทศไทยได้มีนักวิชาการแถวหน้าร่วมเป็นวิทยากร ได้แก่ คุณมีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ 'โรงเรียนไม้ไผ่' มีชัยพัฒนา อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีแนวคิดสำคัญเปลี่ยนโรงเรียนให้เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคน โดยนำเอากระบวนการ STEM บูรณาการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำหรับการพัฒนาเยาวชน เพื่อรองรับการต่อยอดสู่ระดับอุดมศึกษาเพื่อสร้างคนที่มีทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต และ รศ.ดร.จินตวีร์ คล้ายสังข์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการไทยที่มีประสบการณ์และมุมมองการจัดการ STEM ให้มีความยั่งยืน คาดว่างานดังกล่าวมีกลุ่มสมาชิกในเครือข่าย IMT - GT UNINET-STEM และผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานจำนวน 500 คน

ทั้งนี้ เพื่อร่วมเป็นกลไกนวัตกรรมระบบการศึกษาให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก จึงขอเชิญชวนสมาชิกในเครือข่าย IMT-GT UNINET-STEM และผู้ที่สนใจสามารถร่วมส่งผลงานวิจัย 4 สาขา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยมีหัวข้อหลักดังนี้ 1.Technology-Enhanced STEM Teaching and Learning 2.Pedagogical Modes and Applications of STEM Education 3.Skills & Re-Skills Development for STEM Literacy

4.Curriculum Studies and Development Focused STEM Education 5.Industry linkages and partnerships 6. Interdisciplinary Curriculum Development 7.Other related topics to STEM education เริ่มตั้งแต่วันนี้ - 15 กันยายน 2564 โดยนักวิชาการที่สนใจสามารถส่งผลงานเข้าร่วมได้ที่ https://stem.psu.ac.th/schedule/ และลงทะเบียนเข้าร่วมงานที่ https://stem.psu.ac.th/registration/