"สยามเทคนิคคอนกรีต" มั่นใจครึ่งปีหลังยอดพุ่ง คว้าโครงการสายส่ง 115 kV หนุน Backlog ทะลุ 900 ลบ.

16 Aug 2021

"สยามเทคนิคคอนกรีต หรือ STECH" หนึ่งในผู้นำธุรกิจคอนกรีตอัดแรงรายใหญ่โชว์ Backlog ในมือแน่นกว่า 900 ล้านบาท คาดทยอยส่งมอบในปีนี้เกือบทั้งหมด พร้อมแจ้งข่าวดีได้งานก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 115 kV เตรียมเซ็นสัญญากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในเดือนสิงหาคมนี้ และอยู่ระหว่างติดตามงานใหม่อีกราว 500 ล้านบาท หนุนครึ่งปีหลังโตแกร่ง แม้ครึ่งปีแรกผลงานลดลง มีรายได้อยู่ที่ 760 ล้านบาท กำไร 54 ล้านบาท จากสถานการณ์โควิดกระทบแผนการรับรู้รายได้ที่ล่าช้ากว่ากำหนด รวมทั้ง งานส่วนใหญ่จะเริ่มเดินหน้าในครึ่งปีหลัง

"สยามเทคนิคคอนกรีต" มั่นใจครึ่งปีหลังยอดพุ่ง คว้าโครงการสายส่ง 115 kV หนุน Backlog ทะลุ 900 ลบ.

นายวัฒน์ชัย มงคลศรีสวัสดิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามเทคนิคคอนกรีต จำกัด (มหาชน) หรือ STECH เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังคาดฟื้นตัว และจะเติบโตกว่าครึ่งปีแรก เป็นอย่างมาก เนื่องจาก ปัจจุบันมีงานในมือที่รอส่งมอบ (Backlog) รวมอยู่ที่ 900 ล้านบาท แบ่งเป็น คำสั่งซื้อจากการขายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงและบริการ มูลค่ากว่า 800 ล้านบาท ซึ่งเตรียมทยอยส่งมอบและคาดรับรู้รายได้ทั้งหมดในปีนี้ รวมทั้ง ได้รับงานก่อสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 115 kV จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มูลค่าเกือบ 100 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งได้รับใบสั่งจ้างเรียบร้อยแล้ว เตรียมลงนามสัญญาภายในเดือนสิงหาคม โดยมีระยะเวลาการทำงาน 1 ปี สนับสนุนภาพรวมการรับรู้รายได้แข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดต่อเนื่องจากปี 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาครัฐมีการประมูลงานล่าช้ากว่าแผนงานที่วางไว้ โดยงานส่วนใหญ่จะเริ่มเดินหน้าและส่งมอบในช่วงครึ่งปีหลัง

ปัจจุบัน บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างติดตามงานโครงการใหม่อีกกว่า 500 ล้านบาท สะท้อนภาพรวมงานโครงการขนาดใหญ่เริ่มเดินหน้า โดยเฉพาะเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐ ซึ่งบริษัทฯ ได้ปัจจัยบวกจากโรงงานที่มีอยู่ 9 แห่ง กระจายอยู่เกือบทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย และการก่อสร้างโรงงานแห่งที่ 10 ที่ชลบุรี สาขา 2 จะแล้วเสร็จปลายปีนี้ พร้อมรับคำสั่งซื้อจากโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่ปัจจุบันมีงานก่อสร้างขนาดใหญ่หลายโครงการ ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงสูงกว่าภูมิภาคอื่น

"Backlog ที่มีอยู่ตอนนี้ถือว่าอยู่ในระดับสูง แม้ภาครัฐมีมาตรการคุมเข้มสถานการณ์โควิดโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่เรายังมีงานส่วนใหญ่ที่เดินหน้าตามปกติในภูมิภาคอื่น และเริ่มเห็นสัญญาณบวกในไตรมาส 3 คาดจะเติบโตกว่าไตรมาส 2 ที่ผ่านมาได้ เนื่องจากโรงงานของบริษัทฯ ยังคงสามารถเดินหน้าผลิตสินค้า พร้อมทยอยส่งมอบในช่วงครึ่งปีหลัง รวมทั้ง มาตรการความปลอดภัยขั้นสูงสุดในโรงงาน ควบคู่การติดตามสถานการณ์โควิดและปัจจัยภายนอกอย่างใกล้ชิด สนับสนุน STECH ในปี 2564 คาดจะเติบโตจากปีก่อนได้อย่างแน่นอน" นายวัฒน์ชัย กล่าว

ล่าสุด STECH รายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 2/2564 (เมษายน - มิถุนายน) มีรายได้รวม 366.31 ล้านบาท ลดลง 17.04% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 441.55 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 20.86 ล้านบาท

สำหรับ ผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 มีรายได้รวม 760.09 ล้านบาท ลดลง 10.59% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 850.09 ล้านบาท โดยรายได้จากการขายและบริการลดลงเพียง 4% แต่โครงการก่อสร้างยังไม่ได้เริ่มใน 6 เดือนแรก จะเริ่มตั้งแต่ไตรมาส 3 นี้ ขณะที่ กำไรสุทธิอยู่ที่ 53.76 ล้านบาท และมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่เกือบ 7%

ภาพรวมไตรมาส 2 ปีนี้ ปรับลดลง เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาวต่อเนื่องกว่า 10 วันในเดือนเมษายน เทียบกับปีที่แล้วภาครัฐประกาศเลื่อนวันหยุดในช่วงสงกรานต์ปี 2563 ออกไป รวมถึง ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้มีการเลื่อนและชะลอการลงทุนของโครงการภาคเอกชน และผลกระทบต่อการเข้าพื้นที่ทำงานในโครงการต่างๆ ขณะที่ ภาครัฐมีการประมูลงานที่ล่าช้ากว่าแผน และ ยังไม่มีรายได้จากการก่อสร้างเข้ามา อย่างไรก็ดี ยอดขายที่ชะลอไปนั้น ปัจจุบันบริษัทฯ มียอดขายที่ได้รับการสั่งซื้อแล้วซึ่งคาดจะรับรู้เป็นรายได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังไม่มีรายได้จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เมื่อเทียบกับครึ่งแรกปี 2563 ซึ่งมีรายได้จากส่วนงานนี้ 56.25 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้รับงานโครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 115 kV มูลค่า 97 ล้าน(ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และจะเซ็นสัญญาในเดือนสิงหาคม พร้อมมุ่งเน้นควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ประกอบกับต้นทุนทางการเงินที่ลดลงจากการชำระคืนเงินกู้และอัตราดอกเบี้ย อีกทั้ง บริษัทได้รับเงินที่ได้จากการระดมทุน IPO ในเดือน กรกฎาคม 2564 ซึ่งบริษัทฯ ได้นำเงินกว่า 220 ล้านบาท ไปจ่ายชำระคืนเงินกู้ และส่วนที่เหลือนำไปลงทุนขยายกำลังการผลิต เพื่อรองรับโครงการรัฐบาลทางภาคตะวันออก รวมทั้ง ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนตามที่กล่าวไว้ในช่วง IPO ซึ่ง ผลบวกจากการระดมทุน IPO นี้ จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564