ซมโปะ เปิดตัวประกันภัยอ้อยเจ้าแรกในเมืองไทย ช่วยเหลือชาวไร่รับมือภัยแล้ง นำร่องพื้นที่ จ.ชัยภูมิ

07 Jul 2021

บมจ. ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการด้านการประกันภัย จับมือ Productive Plus เปิดตัวโครงการกรมธรรม์ประกันภัยพืชผลอ้อยจากภัยแล้ง โดยใช้ดัชนีฝนแล้งและตรวจวัดด้วยดาวเทียม นำร่องลุยพื้นที่เกษตรไร่อ้อยจังหวัดชัยภูมิ ตั้งเป้าขยายช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศ

ซมโปะ เปิดตัวประกันภัยอ้อยเจ้าแรกในเมืองไทย ช่วยเหลือชาวไร่รับมือภัยแล้ง นำร่องพื้นที่ จ.ชัยภูมิ

ผศ.ชญณา ศิริภิรมย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกมีความแปรปรวนสูง โดยภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ อาทิ ภัยแล้ง อุทกภัย หรือพายุ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อผลผลิตในภาคการเกษตร และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังรายได้ที่ไม่มั่นคงของเกษตรกร กลายเป็นประเด็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการสร้างภูมิคุ้มกันและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการผลิต ทางซมโปะ ประกันภัย จึงร่วมกับ Productivity Plus หรือบริษัท เพิ่มผลผลิต จำกัด และบริษัท มารูเบนิ (ประเทศไทย) จำกัด ออกแบบกรมธรรม์ประกันภัยพืชผลอ้อยจากภัยแล้ง โดยใช้ดัชนีฝนแล้ง (ตรวจวัดด้วยดาวเทียม) สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยมีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงและบรรเทาความเดือนร้อนจากภัยธรรมชาติ

"ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกอ้อยจำนวน 10,862,610 ไร่ทั่วประเทศ (ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์การปลูกอ้อยปีการผลิต 2563-2564 สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย) ซึ่งอ้อยเป็นพืชผลที่ได้รับความเสี่ยงจากภัยแล้งอย่างมาก ส่งผลให้เกษตรกรไทยที่ปลูกอ้อยมักได้รับความเดือดร้อนจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน Productivity Plus และบริษัท มารูเบนิ ที่มีธุรกิจการเกษตรในเครือ เล็งเห็นถึงปัญหาเหล่านี้ และมีแนวคิดต้องการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กลุ่มลูกค้าเกษตรกรที่ซื้อปุ๋ย จึงร่วมมือกับซมโปะ ประกันภัยพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยการประกันภัยพืชผลอ้อยจากภัยแล้ง โดยใช้ดัชนีฝนแล้ง (ตรวจวัดด้วยดาวเทียม) คิดอัตราค่าเบี้ยประกันภัยตามขนาดของพื้นที่ของเกษตรกร ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย และทำให้ธุรกิจเกษตรในเครือสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน"

สำหรับรูปแบบการรับประกันภัยกรมธรรม์ประกันภัยการประกันภัยพืชผลอ้อยจากภัยแล้ง โดยใช้ดัชนีฝนแล้ง (ตรวจวัดด้วยดาวเทียม) ซมโปะจะใช้ข้อมูลน้ำฝนจากระบบดาวเทียม GSMAP โดยศูนย์ข้อมูลดาวเทียมของ The Remote Sensing Technology Center of Japan (RESTEC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับในประเทศญี่ปุ่น โดยมีเกณฑ์ของการจ่ายค่าชดเชยตามกรมธรรม์ดังนี้

  1. ถ้าปริมาณน้ำฝนสะสมที่ตกจริงสูงกว่าค่าดัชนีน้ำฝนสะสมที่กำหนดไว้ในหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับภัยแล้ง ถือว่าไม่เกิดภัยแล้ง จะไม่มีการจ่ายค่าชดเชยใดๆ
  2. ถ้าปริมาณน้ำฝนสะสมที่ตกจริงเท่ากับหรือต่ำกว่าค่าดัชนีน้ำฝนสะสมที่กำหนดไว้ในหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับภัยแล้ง ให้คำนวณค่าชดเชยโดยใช้อัตราค่าชดเชยในกรณีเกิดภัยแล้ง คูณด้วย จำนวนเงินค่าชดเชยที่ระบุไว้ในหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งเงินจำนวนนี้ถือเป็นค่าชดเชยสำหรับภัยแล้ง แต่จะชดเชยไม่เกินดัชนีฝนแล้งขั้นต่ำ (Exit Point)ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย
  3. การชดเชยนี้จะยึดตามดัชนีน้ำฝนที่วัดโดยRESTEC โดยไม่มีการประเมินความเสียหายจริงของพืชที่เอาประกันภัย

ผศ.ชญณา กล่าวอีกว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซมโปะ ประกันภัย ได้พัฒนากรมธรรม์ประกันภัยที่นำข้อมูลน้ำฝนจากระบบดาวเทียมมาใช้ประโยชน์  ไม่ว่าจะเป็นโครงการประกันภัยสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวตั้งแต่ปี 2553 และประกันภัยสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกลำไยตั้งแต่ปี 2562 ดังนั้น ซมโปะ จึงมีประสบการณ์ และสามารถรวบรวบองค์ความรู้ รวมถึงการใช้ความเชี่ยวชาญระดับโลกจาก AgriSompo ในการรับประกันพืชผลทางการเกษตร และบริหารจัดการความเสี่ยง

"เรามุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้สังคมไทย ผ่านการช่วยเหลือเกษตรกรจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งหรือน้ำท่วม ซมโปะ ประกันภัยจึงนำประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ผนวกกับเทคโนโลยี รวมถึงข้อมูลดัชนีน้ำฝนจากศูนย์เทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลจากญี่ปุ่น (RESTEC) มาปรับใช้และพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยมีพื้นที่เป้าหมายนำร่องในการรับประกันภัยครั้งนี้ คือ ชาวไร่อ้อยจังหวัดชัยภูมิที่ซื้อปุ๋ยจาก Productivity Plus และในอนาคตจะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ อันเป็นการสนับสนุนการพัฒนาภาคการเกษตรซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุดของไทยตามสโลแกน "ดูแลคนไทยด้วยหัวใจญี่ปุ่น"

ซมโปะ เปิดตัวประกันภัยอ้อยเจ้าแรกในเมืองไทย ช่วยเหลือชาวไร่รับมือภัยแล้ง นำร่องพื้นที่ จ.ชัยภูมิ