หัวเว่ย ประเทศไทย จับมือดีป้า และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เปิดตัวการแข่งขัน Spark Ignite Startup

24 Jun 2021

บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และพันธมิตรรายอื่น ๆ เปิดตัวการแข่งขัน "Spark Ignite 2021 Thailand Startup" เชิญชวนเหล่าบริษัทสตาร์ทอัพทั่วไทยเข้าร่วมเพื่อโอกาสที่จะเข้าสู่โครงการ "Huawei Spark Accelerator" โครงการที่มุ่งบ่มเพาะ และเร่งการเติบโตของภาคธุรกิจ รวมถึงการสร้างอีโคซิสเต็มทางธุรกิจให้แก่ภาคธุรกิจต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทยและทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC)

หัวเว่ย ประเทศไทย จับมือดีป้า และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เปิดตัวการแข่งขัน Spark Ignite Startup

ในภาพจากซ้ายไปขวา - นายหลี จื่อ หลาน กรรมการผู้บริหารระดับสูง TusPark WHA, นายโรเบน หวัง ประธานกลุ่มธุรกิจคลาวด์และ AI ประเทศไทย บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด, นายปริวรรษ วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), ผู้ช่วยศาสตร์ตราจารย์ ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า), ดร. ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด, ดร. มนต์ชัย เลิศสุทธิวงศ์ Principal Research Engineer of KLabs บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) และ นายเจ ชอง ซีอีโอ บริษัท แสนรู้ จำกัด

โครงการ Huawei Spark คือโครงการที่ช่วยส่งเสริมและผลักดันสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีที่มีธุรกิจอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2563 จัดขึ้นโดยกลุ่มผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมธุรกิจคลาวด์และ AI ของหัวเว่ย โดยโครงการ Huawei Spark ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของบริษัทสตาร์ทอัพต่าง ๆ อาทิ การสนับสนุนทั้งด้านเครดิตคลาวด์ การฝึกอบรมด้านเทคนิค และจัดหาทรัพยากรและการผลักดันการเข้าสู่ตลาด การเข้าร่วมเครือข่ายองค์กรทั่วโลกของหัวเว่ย ผ่าน Spark Fire และการสนับสนุนด้านต่าง ๆ อีกมากมาย โครงการ Spark มุ่งเน้นที่บริษัทซึ่งดำเนินธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยี 5G, กลุ่มธุรกิจองค์กรอัจฉริยะ (EI) / ระบบการเรียนรู้และการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning & Analytics),อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง(IoT), การประมวลผลข้อมูล (Edge Computing) และแอปพลิเคชันประเภท Software as a Service (SaaS) ที่ใช้เทคโนโลยีโซลูชันเป็นหัวใจหลัก หรือใช้เทคโนโลยีโซลูชันเป็นสินค้าและบริการขององค์กร

การแข่งขัน Spark Ignite Startup ถือเป็นทางลัดที่สำคัญสำหรับบริษัทสตาร์ทอัพที่จะได้โอกาสเข้าร่วมโครงการ Huawei Spark Accelerator โดยในปี 2563 การแข่งขันสตาร์ทอัพ Spark Ignite ระดับโลก มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันมากกว่า 500 คน จาก 75 ประเทศทั่วโลก ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทีมที่ชนะเลิศทั้ง 15 ทีม เช่นทีม Scantist และทีม Ucars ต่างประสบความสำเร็จทั้งการสร้างการเติบโตและการขยายตัวของธุรกิจ การระดมทุน และการประเมินมูลค่าของบริษัท หัวเว่ย ประเทศไทยเริ่มโครงการแข่งขันสตาร์ทอัพในประเทศไทยครั้งนี้เพื่อมองหาบริษัทสตาร์ทอัพที่สร้างนวัตกรรมและมีโซลูชันใหม่ ๆ ในประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมการเงินและประกันภัย สาธารณสุข การศึกษา โทรคมนาคม อีคอมเมิร์ซ /อินเทอร์เน็ต สื่อและเกม และแอปพลิเคชันบนมือถือ โดยหัวเว่ยมุ่งส่งเสริม ธุรกิจสตาร์ทอัพเพื่อผลักดันประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัลผ่านอีโคซิสเต็มของเหล่าพาร์ทเนอร์

การแข่งขันครั้งนี้จัดขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมี นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด และ ดร. ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ประธานกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวเปิดการแข่งขัน Spark Ignite Start up

"ดีป้าส่งเสริมและผลักดันดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยมาอย่างต่อเนื่อง และจากการดำเนินงานมาอย่างยาวนาน เราได้เห็นสัญญาณที่ดีว่าประเทศของเรามีสตาร์ทอัพไทยในระดับยูนิคอร์น* แล้ว อย่างไรก็ตาม สินค้าหรือบริการจากดิจิทัล สตาร์ทอัพไทยยังขาดแคลน Deep Tech ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและสร้างความแตกต่าง รวมถึงเพิ่มมูลค่าในเวทีโลก การจัดงาน "Spark Ignite 2021 - Thailand Startup Competition" ครั้งนี้ ทางดีป้ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกับหัวเว่ย และหน่วยงานต่าง ๆ ในการสร้างโอกาสให้ดิจิทัลสตาร์ทอัพของไทย ได้แลกเปลี่ยนแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงที่จะจุดประกายแนวคิดและเปิดประสบการณ์ พร้อมต่อยอดศักยภาพให้เติบโตสู่ระดับสากลได้มากยิ่งขึ้น" ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าว

ภายในงานเปิดตัวการแข่งขัน Spark Ignite 2021 Thailand Startup Competition ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด และผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ในประเทศไทย ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ "ภาครัฐและองค์กรจะร่วมมือกันผลักดันสตาร์ทอัพซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัลของประเทศไทยได้อย่างไร"

ในภาพจากซ้ายไปขวา - ดร. ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด, นายปริวรรศ วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), ดร. มนต์ชัย เลิศสุทธิวงศ์ Principal Research Engineer of KLabs บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG), นายไพศาล เจียรอุทัยธำรงค์ ผู้จัดการด้านการส่งเสริมและสนับสนุน TusPark WHA และ นายอุดมศักดิ์ ดอนคำไพร หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท แสนรู้ จำกัด

นายปริวรรศ วงษ์สำราญ กล่าวในระหว่างการสัมมนาว่า "ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของอีโคซิสเต็มของ สตาร์ทอัพในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาบริษัทสตาร์ทอัพ Deep Tech ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจ ของหัวเว่ยและสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ที่มุ่งส่งเสริมบริษัทสตาร์ทอัพในการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูงที่หลากหลาย เช่น AI Robotic และ IoT เราหวังอย่างเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะช่วยบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของบริษัทสตาร์ทอัพไทย เพื่อขับเคลื่อนไปสู่ตลาดระดับภูมิภาคและช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศไทยในอนาคต ด้วยเช่นกัน"

นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ย้ำถึงพันธกิจของหัวเว่ยในการเติบโตในประเทศไทยและสนับสนุนประเทศไทย ซึ่งหัวเว่ยมุ่งสนับสนุนธุรกิจในประเทศสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงช่วยส่งเสริมอีโคซิสเต็มในประเทศผ่านความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์รายต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน
?
นายอาเบล เติ้ง กล่าวว่า "เราได้รับการสนับสนุนและแรงบันดาลใจเป็นอย่างมากจากความร่วมมือระหว่างหัวเว่ยกับ ดีป้า, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ , KBTG , TusPark WHA , แสนรู้ และพาร์ทเนอร์ที่สำคัญรายต่างๆ ซึ่งทำงานร่วมกัน เพื่อการเติบโตด้านอีโคซิสเต็มของเทคโนโลยีในประเทศไทย ในฐานะพาร์ทเนอร์ซึ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี หัวเว่ยมุ่งผลักดันการขับเคลื่อนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้การสนับสนุนด้านศักยภาพทางดิจิทัลแก่พาร์ทเนอร์ในอีโคซิสเต็มของเรา เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าธุรกิจสตาร์ทอัพจะเติบโตอย่างรวดเร็ว และมั่นคงยิ่งขึ้น ผ่านการสนับสนุนในการแข่งขันครั้งนี้ และจะเกิดการสร้างงานขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจหลังจากวิกฤติโรคระบาด และสำหรับการเข่งขัน Thailand Spark Ignite Start up Competition ในครั้งนี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ร่วมงานกับบริษัทสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ เพื่อเข้าสู่โครงการ Huawei Spark ซึ่งเป็นโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนทางด้านเครดิตคลาวด์ การเข้าสู่ตลาด และการสนับสนุนด้านไอทีจากหัวเว่ย รวมถึงโอกาสในการเป็นพาร์ทเนอร์ด้านเทคโนโลยีคลาวด์กับหัวเว่ยอีกด้วย

การแข่งขันครั้งนี้มีเป้าหมายเป็นหนึ่งในกิจกรรมสตาร์ทอัพอันทรงอิทธิพลที่สุดและใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นองค์ประกอบสำคัญของอีโคซิสเต็มสำหรับสตาร์ทอัพในประเทศไทย และร่วมเฟ้นหาบริษัทสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพสูง 10 รายจากทั่วประเทศ รวมถึงร่วมมือกับผู้ก่อตั้ง บริษัทร่วมทุน องค์กรต่าง ๆ และรัฐบาล ทั้งนี้ บริษัทผู้เข้าแข่งขันสามารถสมัครและส่งผลงานประกวดได้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม ถึง 20 กรกฎาคม 2564 โดยหลังจากผ่านเข้ารอบทั้ง 2 รอบและผ่านการนำเสนอผลงานครั้งสุดท้าย ผู้เข้าแข่งขันจะได้รับเลือกเข้าสู่โครงการ Huawei Spark

ทั้งนี้ บริษัทที่เข้าร่วมการแข่งขันจะได้รับรางวัลดังนี้
รางวัลสำหรับผู้ชนะอันดับ 1
- Huawei Cloud Credits มูลค่า 125,000 เหรียญสหรัฐ
- สิทธิ์การเข้าร่วมโครงการ Huawei Spark "Accelerate" Tier
- สิทธิ์การเข้าร่วมโครงการ Huawei Spark Fire
- สิทธิ์การเข้าร่วมโครงการ Spark Go-China

รางวัลสำหรับผู้ชนะอันดับ 2 และ 3
- Huawei Cloud Credits มูลค่า 80,000 เหรียญสหรัฐ
- สิทธิ์การเข้าร่วมโครงการ Huawei Spark "Accelerate" Tier
- สิทธิ์การเข้าร่วมโครงการ Spark Go-China

รางวัลสำหรับผู้ชนะอันดับ 4 และ 5
- Huawei Cloud Credits มูลค่า 20,000 เหรียญสหรัฐ
- สิทธิ์การเข้าร่วมโครงการ Huawei Spark "Incubate" Tier

รางวัลสำหรับผู้ชนะอันดับ 6 ถึง 10
- Huawei Cloud Credits มูลค่า 5,000 เหรียญสหรัฐ

โอกาสที่จะได้รับในด้านการอบรม:
- การให้คำปรึกษาก่อนการแข่งขันแบบหนึ่งต่อหนึ่งจากที่ปรึกษาของหัวเว่ย สำหรับสตาร์ทอัพที่ได้รับเลือก
20 อันดับแรก
- ได้รับการฝึกอบรมจาก Spark Advisory Council ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูง 10 ท่านจากภาคอุตสาหกรรม

รางวัล Mobile App Track
รางวัลที่ 1 และ 2: การสนับสนุนด้านทรัพยากรสำหรับการทำการตลาด มูลค่า 50,000 ดอลลาห์สหรัฐ
รางวัลที่ 3: การสนับสนุนด้านทรัพยากรและการทำการตลาด มูลค่า 25,000 ดอลลาห์สหรัฐ
รางวัลที่ 4 และ 5: การสนับสนุนด้านทรัพยการและการทำการตลาด มูลค่า 10,000 ดอลลาห์สหรัฐ
ผู้ชนะ 5 อันดับแรกจะได้สิทธิ์เข้าสู่โครงการ AppsUP 2021
สิทธิ์การเข้าถึงสถาบัน structured programming academy เป็นเวลา 5 สัปดาห์
สิทธิ์การเข้าถึงห้องแล็บด้านนวัตกรรมมือถือของหัวเว่ย DIGIX Lab ทั้งพื้นที่การใช้งานและทรัพยากรผ่านออนไลน์ เป็นเวลา 1 ปี

นอกจากนี้ สตาร์ทอัพ 10 อันดับแรกที่ผ่านการคัดเลือก จะได้รับรางวัลจาก TusPark WHA ดังนี้:
อันดับที่ 1 ถึง 3:
- พื้นที่ออฟฟิศส่วนตัว (สำหรับขนาดทีม 2-5 คน) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นเวลา 3 เดือน
- การส่งเสริมสนับสนุนด้านการตลาดและโอกาสในการสร้างชื่อให้แบรนด์ในระดับโลก
- สิทธิ์ในการเป็นสมาชิก Eco-membership เป็นเวลา 2 ปี

อันดับที่ 4 ถึง 10:
- พื้นที่ออฟฟิศแบบเปิด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นเวลา 3 เดือน
- สิทธิ์ในการเป็นสมาชิก Eco-membership เป็นเวลา 2 ปี

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการการแข่งขัน "Spark Ignite 2021 - Thailand Startup Competition" สามารถลงทะเบียนเข้าไปดูได้ที่ huaweisparkthailand และอ่านข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ Huawei Spark ได้ที่ sparkprogram