ก.ล.ต. เตรียมปรับเกณฑ์เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นแก่ภาคธุรกิจ พร้อมเปิดทางให้รับคำสั่งซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนจากที่บ้าน (Work from Home) รองรับความปรกติใหม่

28 Apr 2021

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การรับคำสั่งซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนนอกสถานที่ทำการสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ตามแนวทาง Regulatory Guillotine* เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความยืดหยุ่นในการประกอบธุรกิจ และสอดรับกับสถานการณ์ COVID-19

ก.ล.ต. ได้ดำเนินโครงการ Regulatory Guillotine โดยทบทวนและปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบันที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้มีผู้ประกอบธุรกิจจำเป็นต้องให้พนักงานปฏิบัติงานจากที่บ้าน (Work from Home: WFH) โดยจัดให้มีระบบงานและเทคโนโลยีสารสนเทศ
ที่รองรับ WFH ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจสามารถดำเนินการได้แล้ว

ต่อมาผู้ประกอบธุรกิจมีข้อเสนอว่า เพื่อรองรับความปรกติใหม่ (New Normal) ควรเปิดให้พนักงานสามารถปฏิบัติงานรับคำสั่งซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนในลักษณะ WFH ได้ ก.ล.ต. จึงได้หารือร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) ผู้ประกอบธุรกิจ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเห็นควรปรับปรุงกฎเกณฑ์ของ ก.ล.ต. ให้เป็นหลักการ principle based มากขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถรับคำสั่งซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนในลักษณะ WFH ภายใต้ New Normal ได้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้นในการให้บริการ ในขณะที่ยังมีมาตรการดูแลประโยชน์และข้อมูลของลูกค้าอย่างเพียงพอ โดยผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีระบบงานและการควบคุมที่เพียงพอและเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการรักษาความลับของข้อมูลการซื้อขายของลูกค้าและความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าการดำเนินงานในที่ทำการ

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=717 ผู้เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: [email protected] และ [email protected] จนถึงวันที่ 28 พฤษภาคม 2564

หมายเหตุ : *Regulatory Guillotine คือ การทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน โดยใช้วิธีที่รวดเร็ว โปร่งใส ใช้ต้นทุนต่ำ และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง