จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนาม MOU พัฒนากัญชง กัญชา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ ร่วมมือกับ บริษัท ซิดนีย์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด

09 Apr 2021

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ร่วมมือกับ บริษัท ซิดนีย์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ในโครงการพัฒนากัญชง กัญชา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สถิรกร พงศ์พานิช คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ และ นายชัชปัฐวี อัฏฐพรเมธา ประธานกรรมการ บริษัท ซิดนีย์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย)  จำกัด ร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ 2 เมษายน 2564  ณ ห้องประชุม 1010 อาคารสถาบัน 3 วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนาม MOU พัฒนากัญชง กัญชา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ ร่วมมือกับ บริษัท ซิดนีย์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด

บริษัท ซิดนีย์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (Sydney Corporation (Thailand) Co.,Ltd.) ร่วมมือกับ ศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Drug Dependence Research Center (DDRC) College of Public Health Sciences Chulalongkorn University (CPHS) สนับสนุนการวิจัย ยกระดับมาตรฐานการพัฒนาและผลิตสารสกัดกัญชง กัญชา ระดับ Medical Grade

บริษัท ซิดนีย์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ลงนาม MOU กับ 'วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ' ร่วมมือส่งเสริมสนับสนุนยกระดับมาตรฐานการพัฒนาและผลิตสารสกัดจากกัญชง กัญชา เพื่อใช้ทางการแพทย์และสุขภาพ แบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เช่น การคัดเลือกวิจัยสายพันธุ์ การดูแลตามขั้นตอนในการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยวผลผลิตและการสกัดสารสำคัญ ร่วมกันส่งเสริมผลักดันพัฒนางานวิจัย ให้ความรู้ รวมถึงการพัฒนาตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์สารสกัดจากกัญชงและกัญชาให้มีคุณภาพมาตรฐาน ด้วยการนำความรู้จากการศึกษาค้นคว้าวิจัยและการทดลอง ไปใช้ทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์ ภายใต้ความร่วมมือนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชง กัญชาที่ใช้ในทางการแพทย์และสุขภาพ ตลอดจนส่งเสริมสถาบันการศึกษาให้เกิดการพัฒนาด้านวิชาการอย่างต่อเนื่อง

นายชัชปัฐวี อัฏฐพรเมธา ประธานกรรมการ บริษัท ซิดนีย์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ SYDNEY เปิดเผยว่า จากวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ ที่ต้องการยกระดับมาตรฐานกัญชง และกัญชาในประเทศไทย เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการนำไปใช้ในทางการแพทย์ สุขภาพและอาหารนั้น ต้องให้ความสำคัญทั้งกระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์ที่ดี การเพาะปลูก โรงเรือนที่เหมาะสม การวิจัยดินปุ๋ย สารอาหารพืช วิจัยสารสกัด และตรวจวิเคราะห์สารสำคัญ การนำสารสกัดไปใช้เพื่อการผลิตเวชภัณฑ์ ยาและอาหารที่ได้มาตรฐาน บริษัทฯ จึงได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง (Memorandum of Understanding: MOU) กับศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และสนับสนุนเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ที่นำไปใช้ในทางการแพทย์ และสามารถจำหน่ายเชิงพาณิชย์ อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านการศึกษาพืชกัญชง และกัญชาเพิ่มมากขึ้น โดยบริษัทฯพร้อมให้คำแนะนำปรึกษาทุกด้านตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมถึงการตลาด การผลิตสารสกัดและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Health and wellness

โดยความร่วมมือนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและสนับสนุนให้กัญชงและกัญชาของไทยได้มาตรฐานสากล เพื่อพัฒนาต่อยอดสินค้าเชิงพาณิชย์ และจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับการแพทย์ไทย ที่จะเปิดโอกาสให้คนได้เข้าถึงทางเลือกในการรักษาโรค โดยมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ได้มาตรฐาน อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนภาควิชาการ การศึกษาและเพิ่มขีดความสามารถการวิจัย ส่งเสริมการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ศาสตราจารย์ ดร.สถิรกร พงศ์พานิช คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์สาธาณสุขที่ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากองค์กรสำคัญระดับสากล เช่น WHO , UNESCO และ TIGA โดย 'ศูนย์วิจัยยาเสพติด' วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ (Drug Dependence Research Center (DDRC) เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลา 49 ปี โดยองค์การอนามัยโลกได้แต่งตั้งให้เป็น WHO Collaborating Centre for Research and Training in Drug Dependence (WHOCC) แห่งเดียวในประเทศไทย

'ศูนย์วิจัยยาเสพติด' มีวิสัยทัศน์ เป็นองค์กรชั้นนำในการศึกษาวิจัย การสร้างนวัตกรรม และการเชื่อมโยงข้อมูล/องค์ความรู้ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับสากล ด้านปัญหายาเสพติดรวมถึงผลเกี่ยวเนื่อง และผลกระทบด้านสุขภาพที่สำคัญ 'ศูนย์วิจัยยาเสพติด' ได้ขยายการดำเนินงานไป ณ โครงการพัฒนาที่ดินจุฬาฯ - สระบุรี ภายใต้โครงการวิจัยกัญชา : เชิงสังคมและเชิงวิทยาศาสตร์และแนวทางกฎหมายตามยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศ สนับสนุนทุนโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) จึงเป็นที่มาของการวิจัยกัญชาเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การเพาะปลูกแบบชีวภาพ รวมทั้งการสร้างระบบ วิธีการ ติดตามควบคุมกัญชา

สำหรับการวิจัยและพัฒนากัญชาของศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ ในช่วงที่ผ่านมา เริ่มต้นตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์ที่เหมาะกับสภาพอากาศในประเทศไทยเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ มีสารสกัดในสัดส่วนที่เหมาะสมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งจำเป็นต้องมีระบบการควบคุมดูแลที่ดี ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก การเตรียมดินและปุ๋ยชีวภาพ เพาะปลูกในอุณหภูมิและระดับความชื้นที่เหมาะสม การพัฒนาสายพันธุ์และเมล็ดพันธุ์ การสกัดสารที่สำคัญต่างๆ และการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ

ศาสตราจารย์ ดร. จิตรลดา อารีย์สันติชัย รองคณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยาเสพติด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยยาเสพติด แห่งนี้ ในระยะแรกประสบความสำเร็จในการปลูกแบบชีวภาพ ควบคุมปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการปลูกกัญชา การพัฒนาสายพันธุ์กัญชา ที่สามารถเพาะปลูกกลางแจ้ง (Outdoor) ภายใต้สภาพภูมิอากาศร้อนชื้นตลอดจนได้ทดลองเพาะปลูกกัญชาในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการเพาะปลูกในพื้นที่ในร่ม (Indoor) และเพาะปลูกในโรงเรือน (Greenhouse) ตลอดถึงการศึกษาปรับปรุงสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกรูปแบบต่าง ๆ และวิธีการจัดเก็บสารสกัดที่สำคัญต่างๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ มุ่งสู่เมดิคัลเกรด เพื่อประโยชน์สูงสุดทางการแพทย์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนาม MOU พัฒนากัญชง กัญชา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ ร่วมมือกับ บริษัท ซิดนีย์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด