สุดล้ำ! เอ็นไอเอจับมือศาลยุติธรรม ดึงนวัตกรรมอัพดีกรีระบบศาลยุคใหม่ ตั้งเป้าลดภาระ - ค่าใช้จ่ายให้ประชาชน

18 Mar 2021

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และสำนักงานศาลยุติธรรม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมกระบวนการระงับข้อพิพาทของศาลและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อช่วยพัฒนาการให้บริการสาธารณะของภาครัฐให้มีความทันสมัย ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ และตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง โดยอาศัย "นวัตกรรม" เป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการ

สุดล้ำ! เอ็นไอเอจับมือศาลยุติธรรม ดึงนวัตกรรมอัพดีกรีระบบศาลยุคใหม่ ตั้งเป้าลดภาระ - ค่าใช้จ่ายให้ประชาชน

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า "NIA เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำนวัตกรรมมาช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานของสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อช่วยให้กระบวนการทำงานมีความเป็นนวัตกรรม มีภาพลักษณ์ทันสมัย ซึ่งจะช่วยลดความซับซ้อนของกระบวนการพิจารณาคดี และลดภาระของประชาชนเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความ และค่าธรรมเนียมศาลในการเสนอคำฟ้องต่อศาล ด้วยการส่งเสริมและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านระบบยุติธรรม และด้านนวัตกรรมผ่านการจัดโครงการฝึกอบรมและสัมมนาแก่บุคลากรของศาลยุติธรรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป รวมทั้งส่งเสริมการศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการการบริการภาครัฐและการศึกษาวิจัยทิศทางของกฎหมายที่สำคัญในอนาคตอันเกี่ยวกับการขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมแห่งชาติและพัฒนากระบวนการยุติธรรมของประเทศ รวมถึงเปิดโอกาสให้ ผู้ประกอบการ หรือสตาร์ทอัพนำเสนอนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ในกระบวนการยุติธรรมได้

ด้านนายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า ศาลยุติธรรมมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสร้างระบบสนับสนุนการอำนวยความยุติธรรมให้มีความสะดวก รวดเร็ว ทันสมัยและเป็นสากล ซึ่งในปัจจุบัน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้มีการพัฒนานวัตกรรมรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่กระบวนการพัฒนาและใช้นวัตกรรมในภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมอาจจะนำมา ซึ่งข้อพิพาทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ประกอบการและนวัตกรจึงควรมีความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถในการเข้าถึงกระบวนการระงับข้อพิพาทในรูปแบบต่าง ๆ อย่างไรก็ตามการร่วมมือครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมกระบวนการระงับข้อพิพาทในรูปแบบต่าง ๆ ของศาล และช่วยให้การบริหารจัดการคดี และการบริการประชาชนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ถือว่าเป็นการสร้างความเชื่อมั่น ความศรัทธาในการอำนวยความยุติธรรม และเกิดความสงบสุขของสังคมไทยที่ยั่งยืน"